ข่าว

นายเรือเจ๊าจุฬาฯ1-1 ร่วมแชมป์กติกา119

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายเรือ หัก จุฬาฯ ไม่ลง เสมอ 1-1 ครองถ้วยร่วมฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร “ประเพณีกติกาฟุตบอล 119” ครั้งที่ 7


 การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร “ประเพณีกติกาฟุตบอล 119” ครั้งที่ 7 ที่สนามฟุตบอลพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มี พล.อ.อ.รังสันต์ ดิษฐบรรจง ผู้แทนพระองค์เป็นประธาน โดยการแข่งขันฟุตบอลประเพณี คู่ระหว่าง โรงเรียนนายเรือ พบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏว่าเสมอกันไป 1-1 โดยนายเรือได้ประตูนำก่อนจาก นนร.อนนท์ สุขจิตร์ นาทีที่ 50 ก่อนทีมจากสามย่านตีเสมอในอีก 8 นาทีถัดมา จาก ศราวุฒิ มาสุข ทำให้ครองแชมป์ร่วมกัน
 นอกจากนี้ พล.อ.อ.รังสันต์ ดิษฐบรรจง ผู้แทนพระองค์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังมอบโล่เกียรติภูมิทีมชาติไทยแก่ทีมฟุตบอลชาติไทย ชุดแชมป์เยาวชนเอเชีย ครั้งที่ 11 เมื่อปี พ.ศ.2512 ได้แก่  สราวุธ ประทีปากรชัย, เชาว์ อ่อนเอี่ยม, สุชิน กสิวัตร, ชัชชัย พหลแพทย์, พัลลภ มะกล่ำทอง, ศุภกิจ มีลาภกิจ, แก้ว โตอดิเทพ, เอกชัย สนธิขันธ์, คมนัย วงศ์กมลาไสย, นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์, อารมณ์ จันทร์กระจ่าง, จรุงศักดิ์ รักชาติไทย, ภานุวัฒน์ ร่วมฤดีกุล, เกรียงศักดิ์ วิมลเศรษฐ์, สหัส พรสวรรค์, ปรีชา กิจบุญ, ณรงค์ เหมะโสกณะ และ สุทธา สุดสะอาด มี สุชาติ มุฑุกัณฑ์ เป็นผู้ฝึกสอน
 ขณะเดียวกันยังมีการมอบรางวัลผู้ทำความดีเพื่อสังคม ด้านการส่งเสริมกีฬาฟุตบอล “รางวัล พล.ต.สำเริง ไชยยงค์” ประจำปี 2553 ได้แก่ อ.รังสรรย์ ไพฑูรย์ หรือ “ครูตู่” ของเยาวชนจังหวัดกำแพงเพชร ที่สร้างทีมลูกหนังเยาวชนหญิงจนเป็นแชมป์ประเทศไทย แต่ต้องควักเนื้อส่วนตัวจนเป็นหนี้
 ดร.จุฑา ติงศภัทิย์ นายกสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอลในปีนี้ ถือเป็นปีมหามงคลยิ่ง เพราะตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานตราพระมหามงกุฎเหนือลูกฟุตบอล ให้เป็นตราประจำคณะฟุตบอลแห่งสยาม (ทีมฟุตบอลชาติไทยปัจจุบัน) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2458
 “การแข่งขันประเพณีกติกาฟุตบอล 119 นี้ ทางสมาคมมุ่งหวังให้ประชาชน และเยาวชนคนรุ่นหลัง ได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และยังถือเป็นการนำกติกาการแข่งขันฟุตบอลฉบับแรก ที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองหลวงในอดีตมาแข่งขันให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ซึ่งทางสมาคมจะดำเนินกิจกรรมเช่นนี้ทุกปี ควบคู่ไปกับการจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลแห่งสยาม ที่พระตำหนักทับแก้ว ภายในพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม”

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ