ข่าว

"วีเออาร์" กับ "ฟุตบอลไทย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟุตบอลไทย ก้าวเข้าสู่การใช้ระบบ "วีเออาร์" อย่างเต็มรูปแบบในฤดูกาล 2019

เทคโนโลยี VAR หรือ Video Assistant Referee ได้รับการยอมรับจากกรรมการบริหารของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และได้รับการตอบรับทั่วโลกทันที หลังถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2018 เพราะได้สร้างความเที่ยงธรรม ชัดเจน สามารถตอบข้อสงสัยในจังหวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างเกมการแข่งขันฟุตบอลในจังหวะสำคัญได้

ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่มีการนำเทคโนโลยี VAR เข้ามาทดลองใช้ในการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพภายในประเทศอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการนำร่องใช้ในฤดูกาล 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระบบมอนิเตอร์จากห้องปฏิบัติการ VAR ที่ยกไปติดตั้งที่สนามแข่งขันในแต่ละครั้งที่จะทำการใช้ โดยเป็นหนึ่งในรูปแบบการทำงาน ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้ VAR คือ แบบที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซีย ทุกสนามจะมีศูนย์กลางมอนิเตอร์อยู่ที่กรุงมอสโก แห่งเดียว

ฤดูกาล 2019 สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ บริษัท ไทยลีก จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาและยกระดับเกมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพของประเทศไทยให้มีคุณภาพ มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม และยังเป็นการป้องปรามขบวนการล็อกผลสกอร์ ที่หาผลประโยชน์กับวงการฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน และยังคงเป็นภัยร้ายอยู่ในปัจจุบันนี้

การเข้าสู่ระบบ VAR อย่างถูกต้อง และเต็มรูปแบบของฟุตบอลไทย นั้น  เดินหน้าตามขั้นตอนของหลักการสากลมาอย่างต่อเนื่องในฤดูกาล 2018 ทั้ง การให้ความรู้ต่อบุคลากรผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน ที่ทำหน้าที่ ซึ่งจำเป็นต้องมีประสบการณ์จริงและผ่านการฝึกอบรมจนเกิดความชำนาญในการใช้เทคโนโลยี Video Assistant Referee หรือ VAR และการพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ในสถานการณ์จริง ตามหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ในการเรียกใช้ VAR ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ

ฟุตบอลไทย กำลังจะก้าวเข้าสู่การใช้ระบบ VAR อย่างเต็มรูปแบบในฤดูกาล 2019  ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนตามเงื่อนไขการใช้ VAR หลัก 5 ข้อ ตามมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ที่เริ่มบังคับใช้ระเบียบใหม่หลังจบศึกฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ที่ประเทศรัสเซีย 

เริ่มต้นจากการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย และร่างข้อตกลง ระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และ IFAB (ไอแฟบ องค์กรผู้ออกกติกาฟุตบอล law of the game) เพื่อทำความเข้าใจถึงสาระสำคัญของการใช้ VAR และเตรียมทำข้อตกลง ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 

นาย พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ ได้เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (IFAB) เพื่อนำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับการใช้ระบบวีดิทัศน์ช่วยตัดสิน (VAR) ในฟุตบอลลีกอาชีพ ณ สำนักงานใหญ่ของ IFAB ในกรุงซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงเตรียมพร้อมในขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่ 2  คือ ประเทศสมาชิกที่ต้องการใช้ VAR จะต้องมีความพร้อมในการเตรียมหรือจัดหาผู้ให้บริการเทคโนโลยี Video Assistant Referee ทั้งระบบวิทยุ และ การส่งสัญญาณภาพ และระบบของผู้ให้บริการนั้นๆ ต้องได้รับการรับรองจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ซึ่งประเทศไทยได้ใช้ระบบวิทยุประเภท Trunked radio ของเวคโคโร และสัญญาณภาพการตัดต่อของ EVS ซึ่งทั้งระบบได้รับการรับรองจากองค์กรฟุตบอลอย่าง FIFA และ IFAB แล้ว

ขั้นตอนที่ 3  คือ การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร จะต้องมีการอบรมผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสินอย่างต่อเนื่อง ให้เข้ากับระบบที่เลือกใช้งาน และต้องมีการคัดกรองผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน ที่พร้อมจะทำหน้าที่ในห้อง VAR เพราะผู้ตัดสินบางคนอาจเหมาะและถนัดเฉพาะการทำหน้าที่ในสนามฟุตบอลมากกว่าทำงานกับระบบวิดิทัศน์ ซึ่งฝ่ายพัฒนาผู้ตัดสินได้ดำเนินการทดสอบ และคัดสรรมาตลอดในปี 2018 จนถึงปัจจุบัน โดยผู้ตัดสินทั้งหมดต้องได้ร่วมกันทำการทดสอบระบบให้ได้จำนวนชั่วโมงการฝึกที่เพียงพอ เพื่อให้คุ้นเคยกับสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถขอเรียกใช้ VAR อย่างมีความมั่นใจ

เช่น เดียวกับการทดสอบระบบ Video Assistant Referee  ที่ประเทศไทยกำลังทดลองใช้ คือ ระบบเดียวกับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซีย โดยที่มีศูนย์ปฏิบัติการรับสัญญาณภาพจากทุกสนามส่งเข้ามายังส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ซึ่งการทดสอบที่ผ่านมาพบว่า บางสนามยังขาดความเสถียรของสัญญาณภาพเล็กๆ น้อยๆ และมุมกล้องที่จะใช้ในการตัดสิน รวมถึงความชัดเจนของเส้นสนามของสโมสรที่ยังต้องมีการปรับปรุง จึงจำเป็นต้องทยอยทดลองอย่างเต็มรูปแบบ ให้ครบทุกสนามเพื่อหาข้อบกพร่อง เพื่อดำเนินการแก้ไขให้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน

ขั้นตอนที่ 4 คือ การทดสอบระบบ Video Assistant Referee ซึ่งจะเป็นการทดสอบร่วมกันทั้ง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ FIFA และ IFAB ในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ 

ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อทุกอย่างเกิดความเสถียรและมีการทดลองร่วมกันระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ FIFA และ IFAB ซึ่งหาก FIFA และ IFAB เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม ก็จะได้รับการอนุมัติให้ใช้ และมีการลงนามข้อตกลงการทำงานร่วมกันต่อไป

สำหรับ เทคโนโลยี VAR จะใช้ตัดสินสถานการณ์ 4 รูปแบบ อันประกอบไปด้วย

1. เป็นประตู/ไม่เป็นประตู (ลูกข้ามเส้นหรือไม่ข้ามเส้น, มีการฟาวล์ก่อน, ล้ำหน้า, ลูกบอลออกจากสนามก่อนเข้าประตู)

2. จุดโทษ/ไม่จุดโทษ (ตำแหน่งของการฟาวล์, ฝ่ายรุกทำฟาวล์ก่อน, ลูกบอลออกนอกสนามก่อนการฟาวล์, การที่ผู้รักษาประตูหรือผู้ยิงประตู ทำผิดกติกาขณะเตะจุดโทษ)

3. ใบแดงโดยตรง (เจตนาป้องกันประตูผิดกติกาอย่างตั้งใจ, การทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง)

4. ระบุตัวผู้เล่นผิดพลาด (เมื่อผู้ตัดสินคาดโทษหรือไล่ออกผู้เล่นผิดคน)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ