ข่าว

ถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ:รางวัลทรงเกียรติยศแห่งวงการลูกหนังสยาม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 พ.ศ. 2511 กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมอย่างสูงสุด กล่าวกันว่าเวลานั้นคือ “ยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลไทย” โดยนอกจากเป็นยุคเฟื่องฟูของวงการลูกหนังแดนสยามแล้ว

 ในปีเดียวกันยังเป็นการถือกำเนิดฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดรายการหนึ่งของเอเชีย ที่เรารู้จักกันในชื่อฟุตบอลถ้วยพระราชทาน "คิงส์คัพ"

 นายจิรัฏฐ์ จันทะเสน เลขาธิการสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทยและกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลสยาม ผู้ซึ่งฝากตัวรับใช้และเก็บรวบรวมเรื่องราวความเป็นมาของวงการลูกหนังแดนสยามไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ได้ย้อนความถึงจุดกำเนิดฟุตบอลถ้วยเก่าแก่ซึ่งเปี่ยมล้นไปด้วยเกียรติยศที่ร้อยเรียงไว้ด้วยเหตุและผลของการก่อกำเนิดถ้วยอันศักดิ์สิทธิ์ใบนี้

 ก่อนจะมีถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ต้องเท้าความไปเมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลที่เรียกว่า "ถ้วยใหญ่" และ "ถ้วยน้อย" ให้แก่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ใน พ.ศ. 2459 เพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรชิงถ้วยพระราชทานประจำปี

 กาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วย ค และถ้วย ง ให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เมื่อ พ.ศ. 2504 ทำให้การแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศเป็นระบบสากลมากขึ้นคือ 4 ดิวิชั่นแบบประเทศอังกฤษ ดังนั้น ถ้วยใหญ่ และ ถ้วยน้อย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ถ้วยพระราชทาน ก” และ “ถ้วยพระราชทาน ข” นับแต่นั้นมา

 จากนั้นปี พ.ศ. 2511 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้สิทธิ์ส่งทีมฟุตบอลทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 ณ ประเทศเม็กซิโก และเป็นครั้งที่สองของทีมชาติไทยที่ได้ผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย ทำให้ช่วงเวลานั้นกีฬาฟุตบอลถือว่าได้รับความนิยมอย่างสูง และเมื่อจบจากโอลิมปิกเกมส์ที่เม็กซิโก สมาคมฟุตบอลภายใต้การนำของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคมฯ จึงมีหนังสือถึงราชเลขาธิการเพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อความได้ทรงทราบใต้เบื้องพระยุคลบาท พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยถมทองคำสำหรับทีมชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานนี้จะไม่เป็นกรรมสิทธิ์แก่ทีมฟุตบอลใดแต่จะต้องมีการจัดแข่งขันเป็นประจำทุกปี

 "ในยุครัชกาลที่ 9 หนังสือพิมพ์สมัยนั้นเรียก ยุครุ่งเรืองของฟุตบอลไทย พอหลังกลับมาจากโอลิมปิก เดือนตุลาคมปี 2511 ปลายปีนั้นมีถ้วยคิงส์คัพเป็นรายการที่สามของทวีปเอเชีย ทุกอย่างมีที่มา มีเหตุและผล ในการที่พระองค์ทรงมอบถ้วยพระราชทาน" นายจิรัฏฐ์ ย้ำให้เห็นถึงความเป็นมาที่ทุกอย่างต่างมีเหตุมีผลรองรับในการมอบถ้วยพระราชทาน

 ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 1 แข่งขันระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม พ.ศ. 2511 โดยอินโดนีเซีย คือ ชาติแรกที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครองจากชัยชนะที่มีต่อ เมียนมา 1-0 ส่วน ทีมชาติไทย ต้องรอถึงการแข่งขันครั้งที่ 9 ปี พ.ศ. 2519 จึงสามารถชนะเลิศรายการนี้ได้สำเร็จ แต่เป็นการครองแชมป์ร่ววมกันกับประเทศมาเลเซียหลังจากเสมอกัน 1-1 จากวันนั้นมาถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 49 ปี ที่ฟุตบอลถ้วยเก่าแก่ยังคงทำการจัดการแข่งขันมาต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดเป็นการแข่งขันครั้งที่ 45 นักเตะทีมชาติไทยคว้ารางวัลชนะเลิศและเป็นการชนะเลิศครั้งที่ 15 ของทีมฟุตบอลทีมชาติไทย

 "ตั้งแต่ปี 2511-2516 โดยประมาณ พระองค์ท่านเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ นักบอลทีมชาติไทยในยุคนั้น อาทิ ชัชชัย พหลแพทย์, นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์, สราวุธ ประทีปากรชัย พวกนี้เสียใจตรงที่ว่าไม่เคยชนะเลิศ แต่ก็รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้เล่นต่อหน้าพระพักตร์"

 "ผมเคยถามนักฟุตบอลทีมชาติที่เคยขึ้นรับเหรียญกับพระองค์ พระองค์ท่านจะทรงตรัส เป็นอย่างไรเหนื่อยไหม ไม่เป็นไรเราทำดีที่สุดแล้ว เป็นการตรัสส่วนตัว เมื่อก่อนรับเหรียญกับมือและคล้องพวงมาลัย จนพระราชกรณียกิจของพระองค์มากขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นผู้แทนพระองค์มามอบแทน" นายจิรัฏฐ์ เล่าถึงบางช่วงบางตอนในยุคเริ่มแรกของฟุตบอลถ้วยคิงส์คัพ

 หากไม่นับฟุตบอลถ้วยรายการ เมอร์เดกา คัพ ของมาเลเซีย ที่เริ่มต้นจัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500, ฟุตบอลฉลองเอกราชเวียดนามใต้ พ.ศ. 2501 ซึ่งทั้งสองรายการได้ยกเลิกจัดการแข่งขันไปแล้ว ณ วันนี้กล่าวได้ว่าไม่มีฟุตบอลรายการใดในทวีปเอเชียจะยิ่งใหญ่และยืนยงเฉกเช่น “ฟุตบอลคิงส์คัพ” อีกแล้ว

 ความตอนหนึ่งในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม” ซึ่งกล่าวถึงพระบรมราโชวาทที่ทรงพระราชทานแก่คณะนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่จะเข้าแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 2 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันอังคารที่ 18 พฤศจิกายน 2512 ความว่า 
   
    "ข้อที่น่าคิดก็มีว่า ในเมืองไทยเรา ทีมฟุตบอลของไทยหรือการฟุตบอลของไทยมีทั้งขึ้นทั้งลง แล้วแต่ความเอาใจใส่ของทางราชการบ้าง แล้วแต่ความเอาใจใส่ของผู้ที่สนใจในกีฬาบ้าง และแล้วแต่ความสามารถของนักกีฬาบ้าง ที่เห็นว่ากีฬาฟุตบอลนี้เป็นกีฬาที่คนไทยจะสามารถปฏิบัติได้ดีก็ด้วยเหตุผลว่า คนไทยเรามีความว่องไวและมีความอดทน มีความสามารถเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็มีบางอย่างที่จะทำให้กีฬาฟุตบอลของไทยเรามีการลงบ้างเหมือนกัน เพราะว่าการกีฬานั้นจะต้องมีการฝึกซ้อมให้ดี ทั้งในทางวิชาการคือเทคนิค และทั้งในทางกาย คือความแข็งแรงสมบูรณ์ การฝึกตนให้มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง ถ้าขาดทั้งสองอย่างนี้ ก็จะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติภาระของตัวให้ได้ชัยชนะได้ ถ้าได้ฝึกฝนด้วยตนเองได้ฝึกดี และเตรียมตัวเตรียมกายของตัวเองให้ดีแล้ว ก็ย่อมสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ดีที่สุด แต่ถ้าไม่ปฏิบัติด้วยความสม่ำเสมอก็ไม่ต้องแปลกใจจะต้องปราชัย"
    “การที่ขอให้โอวาทและขอพรให้มีกำลังใจเป็นสองส่วนอย่างนี้ การให้โอวาทอาจทำให้เสียกำลังใจได้ เพราะจะบอกว่า เวลาแข่งแล้วจะแก้อะไรไม่ได้ แต่ว่าถ้าได้ฝึกฝนมาดีและได้เตรียมตัวมาดี ก็มีหวังที่จะมีผลสำเร็จได้ ส่วนการให้พรนั้น ถ้าให้พรเฉยๆ โดยที่ไม่ได้อาศัยการฝึกฝน กำลังพรแต่ฝ่ายเดียวจะไม่มีผล ที่นักกีฬาไทยในทางฟุตบอลเล่นได้ไม่ค่อยสม่ำเสมอ ก็มีเหตุอยู่อย่างหนึ่งอยู่ที่จิตใจ ก่อนที่จะลงสนามถ้ามีจิตใจฝ่อแล้วก็ไม่สามารถนำเอากำลังใจ กำลังกาย และกำลังความรู้ที่มีอยู่ในตัวมาปฏิบัติได้ ข้อแรกจึงต้องมีกำลังใจที่ดี เวลาลงสนามต้องถือว่าเรามีความตั้งใจแน่วแน่แล้วที่จะปฏิบัติการด้วยความตั้งใจและจะมีชัย”
    “สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ ความตั้งใจที่จะทำตนให้เป็นนักกีฬาที่ดี สำหรับนักกีฬาที่ดี นอกจากต้องมีการแสดงทั้งในทางกายในทางสมอง คือใช้ความคิดและวิทยาการแล้ว ก็ต้องมีจิตใจเป็นนักกีฬา อันนี้จะทำให้มีชัยเหมือนกัน ถ้าแสดงตนเป็นคนที่มีจิตใจเป็นนักกีฬา จะทำให้ใจเย็นขึ้น เกิดเรื่องอะไรก็สามารถแก้ปัญหาได้ คำว่าเกิดเรื่องหมายถึงเกิดเรื่องในวิทยาการฟุตบอล ถ้าเขารุกมาเราป้องกันได้ วิทยาการที่จะรับสถานการณ์อีกอย่างก็คือการแสดงการเล่นที่สุภาพเรียบร้อยที่น่าชมน่าดู ก็จะเป็นทางที่จะทำให้มีชัยชนะอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าผู้ดูนั้นถ้าเห็นว่าเราเล่นด้วยความตั้งใจจริงๆ ไม่ใช่ใจฝ่อ ไม่ใช่พาลพาโล คนดูจะเอาใจช่วย ซึ่งจะให้กำลังใจแก่เรา จะเป็นเล่นในเมืองไทยหรือเล่นในต่างประเทศก็เหมือนกัน ถ้าเราเล่นด้วยฝีมือที่ดี ด้วยกำลังที่ดี และด้วยเกียรติ ด้วยการแสดงว่าเราเป็นนักกีฬาที่มีน้ำใจดี ถึงแม้คนดูจะเป็นต่างประเทศก็จะสนับสนุนเรา กำลังใจของผู้ดูนั้นก็จะทำให้เราสามารถมีกำลังใจมากขึ้นเหมือนกัน เหล่านี้ก็เป็นวิธีที่จะต้องปฏิบัติ จึงขอให้โอวาทในด้านปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ ให้มีกำลัง อย่างที่ว่านี้ ฝึกเตรียมร่างกาย เตรียมใจที่จะลงแข่งขัน และรักษาเกียรติของนักกีฬา โดยเฉพาะเกียรตินักกีฬาของไทย มีความกล้าหาญ มีความสุภาพ แล้วจะทำให้มีพลังที่จะฟันฝ่าอุปสรรคได้”
    “การแข่งขันครั้งนี้ก็เป็นการแข่งขันสำคัญ เพราะว่าประเทศที่เข้าร่วมก็มีฝีมือมาก เขาจะหวังชนะ เราก็ต้องหวังชนะ แต่ก็ต้องนึกถึงว่า การชนะจะต้องทำด้วยความตั้งใจ ต้องใช้ความขะมักเขม้นและใช้ความพยายามอย่างมาก ถ้าใช้ความพยายามมากที่สุดแล้ว ด้วยความตั้งใจแล้ว ด้วยสุดฝีมือแล้ว จะแพ้จะชนะก็แล้วแต่ใครจะได้ฝึกมาดี ใครมีความสามารถ แต่อย่างน้อยถ้าแพ้ ก็แพ้อย่างเราสู้เต็มที่ก็ไม่มีใครว่า ส่วนพรก็มีความสำคัญอย่างหนึ่ง จึงขอให้พร ถ้าเราทำดีเต็มที่แล้ว ด้วยความตั้งใจเต็มที่แล้ว สิ่งที่จะสนับสนุนเราก็จะสนับสนุนเราได้ จะนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม หรือนึกถึงกำลังใจที่ประชาชนจะให้ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตาม สิ่งนั้นจะมาทำให้พรมีพลังมากขึ้น ก็ขอให้ทุกคนได้ประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งสติไว้ที่จะลงสนาม และจะสู้ในเชิงกีฬาอย่างดีที่สุด ขอให้รวบรวมพลังทั้งหลายได้เพื่อที่จะได้ชัยชนะเป็นเกียรติแก่บ้านเมือง เป็นเกียรติแก่การฟุตบอลไทย ขอให้ทุกคนได้สามารถเล่นฟุตบอลให้ดีที่สุดและในที่สุดให้ได้ชัยชนะตามประสงค์”

น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์   บริษัท คมชัดลึก มีเดีย จำกัด 26 ตุลาคม พ.ศ.2560

หมายเหตุ : บทควาทนี้สัมภาษณ์ก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2560

ขอขอบคุณข้อมูล

- สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย และ นายจิรัฏฐ์ จันทะเสน เลขาธิการสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทยและกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์คณะฟุตบอลสยาม

- หนังสือพระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม

ภาพ : กอบภัค พรหมเรขา (Korbphuk Phromrekha)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ