ข่าว

‘ความคุ้มค่า’ ตัวแปรใหญ่ 'ไทยจัดบอลโลก'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ธนรัชต์ คูสมบัติ

เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมามีข่าวที่น่าสนใจคือการที่มีการประชุมคณะกรรมการสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียนครั้งที่ 12 ที่อินโดนีเซีย ได้มีการประกาสความร่วมมือของสมาคมกีฬาฟุตบอลอินโดนีเซีย (พีเอสเอสไอ) กับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย (เอฟเอที) ในการยื่นข้อเสนอขอเป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลกปี 2034”

ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงมากมายตามมาถึงความพร้อมของทั้งสองชาติ โดยกระแสในประเทศไทยส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่ประเด็นศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม สนามกีฬา และยังมีเรื่องของความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ล่าสุดนาง “นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แสดงความคิดเห็นว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นรื่องดี แต่เป็นการลงทุนใหญ่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ควรศึกษาข้อมูลกันอย่างละเอียด รวมไปถึงการบริหารจัดการภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันไปแล้ว ที่ต้องไม่กระทบถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาบางประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพพอสิ้นสุดการแข่งขันกลับฉุดเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลง

 

กรณีศึกษาจากชาติเจ้าภาพ

หากลองยกตัวอย่างกรณีศึกษาในแต่ละทวีปที่เคยจัดการแข่งฟุตบอลโลกมาแล้ว กรณีที่ประสบความสำเร็จจากการจัดการแข่งขันเช่นใน ฟุตบอลโลกปี 1994 ที่สหรัฐ ที่มีการลงทุนไปทั้งหมด 5,600 ล้านดอลลาร์ พบว่า การแข่งขันที่นครลอสแอนเจลิสสร้างกำไรทางเศรษฐกิจรวม 623 ล้านดอลลาร์ ยังมีการจ้างงานที่เกิดขึ้นอีก 1,700 ตำแหน่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ขณะที่ในนครนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก รวมถึงบอสตัน มีรายได้รวมกัน 1,045 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ สหรัฐยังเอาเอากระแสจากฟุตบอลโลก 1994 ไปต่อยอดสร้างฟุตบอลอาชีพ “เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์” เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2539 และดำเนินการแข่งขันมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วน ฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ลงทุนประมาณ 4,700 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าสรุปผลการดำเนินงานออกมาจะขาดทุน แต่ผลกระทบนั้นไม่เยอะมากเนื่องจากโครงสร้างต่าง ๆ ของการแข่งขันทั้งหมดทั้งสองชาติแบ่งกันสร้างคนละครึ่ง

กระนั้นสิ่งที่ได้กลับมานั้นคุ้มค่าตั้งแต่การแสดงถึงศักยภาพด้านกีฬาของทวีปเอเชีย ทำให้นักฟุตบอลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไปเล่นในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงนักฟุตบอลต่างชาติก็เพิ่มจำนวนมาเล่นในลีกของทั้งสองชาติเพราะเห็นศักยภาพจากการจัดการแข่งขัน

แต่กรณีศึกษาที่น่าสนใจมากที่สุดคือ ฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี ที่ใช้การลงทุนประมาณ 5,600 ล้านดอลลาร์ แต่ทำเศรษฐกิจในเยอรมนีในช่วงเวลาดังกล่าวคือ มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 400 ล้านดอลลาร์ ยอดมูลค่าของธุรกิจค้าปลีกทะลุ 3,000 ล้านดอลลาร์ การจ้างงานในประเทศพุ่งสูงขึ้น 5 แสนตำแหน่ง

ที่สำคัญคือฟุตบอลโลก 2006 เป็นเพียงไม่กี่ครั้งที่ชาติเจ้าภาพสามารถทำกำไรได้ โดยทางสมาคมฟุตบอลเยอรมนีได้ประกาศตัวเลขหลังจบการแข่งขันปรากฏว่ามี่กำไรที่ 56.6 ล้านยูโร รวมถึงยังส่งผลต่อกระแสความนิยมต่อฟุตบอลบุนเดสลีกากลายเป็นลีกที่มีค่าเฉลี่ยผู้ชมในสนามสูงสุดในยุโรปเวลานี้

ยังมีกรณีศึกษาของชาติที่ประสบปัญหาหลังจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเช่นกัน ที่ชัดเจนที่สุดคือ ฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล โดยลงทุนประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์ แต่สามารถทำรายได้จากทัวร์นาเมนท์ดังกล่าวที่ 4,800 ล้านดอลลาร์ ขาดทุนมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์

ที่สำคัญคือบราซิลยังเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2016 ต่อยิ่งทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามไปด้วย หลังการจากผ่านการจัดรายการกีฬาใหญ่สองรายการบราซิลเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ก่อนปี 2557 ที่เคยสูงถึงกว่า 6% หดตัวลงเหลือ 4% เศษ นำมาซึ่งปัญหาการว่างงานที่เพิ่มชึ้นและปัญหาด้านสังคมเมื่อคนในประเทศมีรายได้น้อยลง

 

ขั้นตอนคัดเลือกไม่ง่ายต้องละเอียดรอบคอบ

“นายกษิติ กมลนาวิน” คอลัมนิสต์กีฬาและผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลต่างประเทศ ได้ให้ความเห็นถึงกรณีการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของไทยและอินโดนีเซียว่า การเป็นเจ้าภาพงานใหญ่อย่างฟุตบอลโลก นั้นส่งผลดีหลายด้านต่อชาติเจ้าภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬา โครงสร้างพื้นฐานด้านฟุตบอลของประเทศที่ได้รับการพัฒนาขึ้น

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจสังคมเองก็อาจจะได้รับประโยชน์เพราะจะมีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามา ภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัว เงินสนับสนุนจากเอกชนรายใหญ่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น

“แต่ขั้นตอนกระบวนการต่างๆก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะหากเสนอตัวจริง ก็ต้องได้รับการตรวจสอบจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ถึงความพร้อมด้านต่าง ๆ และที่สำคัญยังมีคู่แข่งอีกหลายชาติที่พร้อมเสนอตัวเช่นกัน”

ด้านความคิดเห็นของ “น.ส.วาริธร ศิริสัตยะวงศ์” ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า หากไทยต้องการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกจริงยังมีอีกปัจจัยอีกหลายอย่างที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งเรื่องสนามแข่งขัน ระบบการคมนาคม โรงแรม และห้องพัก ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการลงทุนที่มหาศาลมาก

“การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพรายการกีฬาขนาดใหญ่ ต้องมีความรอบคอบถึงความคุ้มค่าในการลงทุน โดยเฉพาะผลในระยะยาวต่อประเทศชาติในทุกมิติ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะเชิงกีฬาอย่างเดียว”

มีการวิพากษ์วิจารณ์ออกมามากมายถึงข่าวการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของไทย ถึงขนาดมองเป็นเรื่อง “เพ้อฝัน” แต่กระนั้นการลองเสนอชื่อไปก็อาจไม่ใช่เรื่องเสียหายเปรียบเสมือนการโยนหินถามทาง เพราะในอนาคตอะไรมันก็เกิดขึ้นได้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ