ข่าว

สำรวจทีมจอมปั้นแข้งท้องถิ่นในพรีเมียร์ลีก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ธนรัชต์ คูสมบัติ facebook.com/tanaruchatar.kusombut

ท่ามกลางนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ต่างชาติที่หลังไหลเข้ามาค้าแข้งในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ซึ่งแต่ละทีมไม่ว่าจะเป็นทีมเล็กหรือใหญ่ต้องมีประดับทีมอยู่ไม่มากก็น้อย

แต่ถึงกระนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้บรรดาแต่ละทีมซื้อแต่ผู้เล่นต่างชาติเข้ามาร่วมทีม จนอาจเป็นเหตุให้เป็นการปิดกั้นโอกาสแจ้งเกิดของนักเตะดาวรุ่งในลีก พรีเมียร์ลีกจึงได้ออกกฎ “ผู้เล่นท้องถิ่น”(Home grown player)  มาตั้งแต่ฤดูกาล 2011-2012 ซึ่งเป็นกฎที่ว่าด้วยการกำหนดและบังคับ บรรดาแต่ละสโมสรในพรีเมียร์ลีก จะสามารถส่งผู้เล่นที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ได้ไม่เกิน 25 คน โดยที่จะต้องมีจำนวนนักเตะต่างชาติ ไม่เกิน 17 คน นั่นก็หมายความว่าสโมสรไหนที่ต้องการจะส่งผู้เล่นที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไปมากกว่า 17 คน ผู้เล่นเหล่านั้นจะต้องเป็นนักเตะ Home grown

โดยจะต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นนักฟุตบอลที่เคยผ่านการฝึกซ้อมหรือลงแข่งขันฟุตบอลกับสโมสรในอังกฤษหรือเวลส์เป็นเวลา 3 ปี ( อยู่กับสโมสรนั้นๆ ตั้งแต่อายุไม่ถึง 18 ปีเต็ม เป็นเวลา 3 ปี )

ฉะนั้นอะคาเดมีฟุตบอลจึงเป็นส่วนสำคัญมากๆ ในการผลิตนักฟุตบอลดาวรุ่งเพื่อตอบรับกฎดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีนักเตะที่เติบโตจากอะคาเดมีนั้น หลายคนได้โอกาสขึ้นมารับใช้ทีมชุดใหญ่ให้กับทีม แต่ก็มีอีกหลายคนก็ต้องออกไปแสวงหาโอกาสกับทีมอื่น

 

“แมนฯยูไนเต็ด” ครองแชมป์นักเตะท้องถิ่น

มีการรวบรวมจากฝ่ายจัดการแข่งขันของพรีเมียร์ลีกเมื่อ ฤดูกาล 2016-2017 ที่ผ่านมาปรากฎว่า “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” เป็นทีมที่มีนักเตะในอะคาเดมี กระจายตัวไปเล่นมากที่สุดในลีกถึง 29 คนที่อยู่ในทีมชุดใหญ่ของแต่ละสโมสร จากข้อมูล นักเตะจากอเคเดมี่แมนฯยูไนเต็ดลงเล่นรวมกัน 395 นัด และหากนับเป็นจำนวนนาทีจะได้ 27,179 นาที

แม้ว่าปัจจุบันทีมปีศาจแดงอาจไม่มีนักเตะจากอะคาเดมีที่เป็นระดับซูเปอร์สตาร์อะไร แต่ก็ถือว่าเป็นทีมที่มีดาวรุ่งมาประดับลีกไม่ขาดสาย โดยฤดูกาลที่ผ่านมามีนักเตะที่เป็นผลผลิตของทีมขึ้นมาเล่นให้ทีมชุดใหญ่หลักๆ 4 คน มาร์คัส แรชฟอร์ด,เจสซี่ ลินการ์ด,พอล ป๊อกบา(ป็อกบา เติบโตจากอะคาเดมีแมนฯยูไนเต็ด ก่อนย้ายไปยูเวนตุส) และติโมที โฟซู-เมนซาห์

สำหรับนักเตะจากผลผลิตที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง และไปเล่นให้กับทีมอื่นๆ เช่น แดนนี่ เวลเบ็ค (อาร์เซนอล) แดนนี่ ดริ้งค์วอเตอร์ และ แดนนี่  ซิมป์สัน (เลสเตอร์),ไรอัน ชอว์ครอส (สโต๊ค) ดาร์เรน เฟลทเชอร์  (เวสต์บรอมวิช) และอีกหลายคนในทีมซันเดอร์แลนด์

อันดับสองคือ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์” มีจำนวนทั้งสิ้น 16 คน  คิดเป็นจำนวนนาทีที่ได้ลงเล่นในสนามรวม 13,997 นาที ทีมไก่เดือยทองเป็นหนึ่งในทีมที่ขึ้นชื่อเรื่องการปั้นดาวรุ่งและมีนักเตะท้องถิ่นมากที่สุดในพรีเมียร์ลีกอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้เล่นสัญชาติอังกฤษ

เฉพาะฤดูกาลที่ผ่านมานักเตะจากผลผลิตจากอะคาเดมีของทีมก็มี แฮร์รี่ เคน,แดนนี่ โรส และแฮร์รี่ วิงคส์ ส่วนผู้เล่นจากอะคาเดมีที่กระจายไปเล่นให้กับทีมอื่นๆก็มีเช่น ไรอัน เมสัน(ฮัลล์),ทอม คาร์โล(สวอนซี),แอนดรอส ทาวน์เซนด์ (คริสตัล พาเลซ) และเจค ลิเวอร์มอร์ (เวสต์บรอมวิช)

ส่วนอันดับสามเป็นของ เซาธ์แฮมตัน” จำนวน 16 คนเท่ากับสเปอร์ แต่มีจำนวนการลงเล่นในสนามน้อยกว่าอยู่ที่ 12,790 นาที เนื่องจากไม่ได้เป็นทีมใหญ่และมีเงินถุงเงินถัง การสร้างอะคาเดมีให้มีคุณภาพจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการสร้างทีมให้แข็งแกร่งอีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ที่ดีจากการขายผู้เล่นต่อให้ทีมยักษ์ใหญ่อีกด้วย

ในอดีตในอดีตแฟนฟุตบอลทั่วโลกได้เห็นนักเตะชื่อดังอย่าง “อลัน เชียเรอร์” และ “แมทธิว เลอ ทิสซิเอร์” ทั้งสองคนล้วนแล้วแต่ขึ้นมาจากอะคาเดมีของทีมนักบุญ

ปัจจุบันในทีมชุดใหญ่ของเซาธ์แฮมตันมีผู้เล่นที่ขึ้นมาจากทีมเยาวชนอย่าง เจมส์ วอร์ด-พราวส์,แมท ทาร์เก็ต,แจ๊ค สตีเฟ่น และ แซม แมคควีนส์ แต่ที่น่าสนใจคือบรรดาผู้เล่นจากอะคาเดมี่ที่ถูกปล่อยไปเล่นให้กับทีมอื่นเต็มไปด้วยผู้เล่นชื่อดังทั้งสิ้น ตังแต่ธีโอ วัลคอตต์,อเล็กซ์ อ็อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน และ คาลัม แชมเบอร์ส(อาร์เซนอล) ลุค ชอว์(แมนฯยูไนเต็ด) และอดัม ลัลลาน่า (ลิเวอร์พูล)

 

“อาร์เซนอล” ต้นแบบการดึงดาวรุ่งทั่วโลก

นับตั้งแต่อาร์เซนเวนเกอร์เข้ามาคุม “อาร์เซนอล” เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยอดทีมจากลอนดอนได้สะสมดาวรุ่งฝีเท้าฉกาจไว้ล้นอะคาเดมีไม่ว่าจะเป็นนักเตะในประเทศและจากทั่วโลก ฤดูกาลที่แล้วมีนักเตะจากอะคาเดมีทีมปืนใหญ่ 15 คน คิดเป็นระยะเวลาการล่งเล่นรวม 10,663 นาที  เป็นอันดับที่สี่ของพรีเมียร์ลีก

โดยแจ็ค วิลเชียร์,คีแรน กิ๊บส์,วอยเชียค เชสนีและเฮคเตอร์ เบลเลริน คือผู้เล่นจากทีมเยาวชนของทีมที่ได้ลงสนามในทีมชุดใหญ่อยู่เป็นประจำขณะที่ดาวดังรายอื่นที่ออกไปค้าแข้งกับทีมอื่นมี เชสก์ ฟาเบรกัส(เชลซี) หรือ เซบาสเตียน ลาร์สสัน(ซันเดอร์แลนด์) เป็นต้น

ส่วนอันดับอื่นๆรองลงมามี แมนฯซิตี้ จำนวน 13 คน เวสต์แฮม จำนวน 12 คน และลิเวอร์พูล 11 คนแม้ว่าแมนฯยูไนเต็ด อาจจะเป็นทีมที่มีจำนวนผู้เล่นจากทีมเยาวชนโลดแล่นมากที่สุดในลีกแต่ก็ไม่ถึงระดับสตาร์ ในประเด็นนี้อาจต้องยกเครดิตให้กับอาร์เซนอลที่เวนเกอร์ ไปขุดหาผู้เล่นดาวรุ่งมาจากทั่วโลก

ส่วนแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่าง “เชลซี” จะใช้วิธีการเอาเด็กที่พ้นอะเคเดมีของทีมอื่นและมีแววจะดังมาเข้าทีมแล้วปล่อยให้ทีมอื่นในยุโรปไปช่วยขุนใช้งานอีกทีเสร็จแล้วค่อยขายออก

ขณะที่แมนฯซิตี้ก็มีนักเตะเยาวชนดีขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่ปรับปรุงอะคาเดมีเมื่อปี 2011  ซึ่งมีข่าวว่าช่วงหลังก็ไปกว้านนักเตะอายุ 14-16 ที่น่าจับตามาหลายคน
ในอนาคตผู้เล่นจากอะคาเดมีจะยิ่งมีความสำคัญอยู่ที่ว่าแต่ละทีมจะมีโมเดลสำหรับจัดการเรื่องนี้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ