ข่าว

โหมโรง "คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ 2017"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภายหลังจากฟุตบอลลีกใหญ่ยุโรปรูดม่านปิดฉากลงไม่นาน ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลระดับโลกรายการสำคัญก็เตรียมจะเปิดฉากขึ้นซึ่งนั่นก็คือ “ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ 2017”

       ซึ่งในปีนี้ รัสเซีย รับหน้าเสื่อจัดการแข่งขันในฐานะเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 โดยทางเจ้าภาพจัดการแข่งขันใน 4 เมืองใหญ่ ประกอบด้วย มอสโก, เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก, คาซาน และ โซชิ ซึ่งทั้ง 4 เมืองนี้ยังใช้เป็นสถานที่แข่งขันฟุตบอลโลก 2018 อีกด้วย โดยใช้ระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่แมตช์เปิดสนามระหว่าง รัสเซีย กับ นิวซีแลนด์ ในคืนนี้ (17 มิ.ย.) จนถึงนัดชิงชนะเลิศที่จะมีขึ้น ณ สนามเครสตอฟสกี สเตเดียม ในเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ในวันที่ 2 ก.ค.

รายการอุ่นเครื่องก่อนบอลโลก
      ทัวร์นาเมนต์นี้เริ่มจัดครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1992 ที่ซาอุดิอาระเบีย เป็นการนำแชมป์ในบางทวีปมาแข่งขันกัน (ไม่มีทีมจากยุโรปและโอเชียเนียเข้าร่วม) โดยสมัยนั้นใช้ชื่อว่า “คิงส์ ฟาฮัด คัพ” และเป็น อาร์เจนตินา ที่เป็นทีมแรกที่คว้าแชมป์ไปครองหลังจากเอาชนะเจ้าภาพ 3-1 ก่อนที่ในปี 1997 จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ฟีฟ่า คอนเฟดเดอเรชันส์ คัพ” ซึ่งช่วงแรกแข่งกันทุก 2 ปี แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งรวมถึงทีมที่ได้สิทธิ์ลงแข่งขันด้วย จนกระทั่งในปี 2005 ฟีฟ่าจึงปรับให้ทัวร์นาเม้นท์นี้แข่งกันทุกๆ 4 ปี พร้อมกับเปลี่ยนมาเป็นการนำแชมป์จากทั้ง 6 ทวีป รวมถึงแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด และเจ้าภาพเวิลด์ คัพ ครั้งต่อไป มาลงแข่งขันกัน โดยแม้จะไม่ได้ถูกยกให้เป็นรายการสำคัญเทียบเท่ากับฟุตบอลโลกหรือศึกชิงแชมป์ในทวีปต่างๆ แต่ฟุตบอลรายการนี้ถือเป็นการอุ่นเครื่องและเตรียมความพร้อมอย่างเต็มรูปแบบสำหรับชาติเจ้าภาพก่อนที่ศึกฟุตบอลโลกจะเปิดฉากขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า
       ซึ่งตลอด 9 ครั้งที่ผ่านมา บราซิล เป็นชาติที่คว้าแชมป์ไปครองมากที่สุด 9 สมัย รองลงมาเป็น ฝรั่งเศส 2 สมัย ตามด้วย อาเร์จนตินา, เม็กซิโก และ เดนมาร์ค ทีมละ 1 สมัย

เต็ง 1 ของรายการ
      จาก 8 ชาติที่ร่วมชิงชัยในศึก “ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ 2017” ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่ม เอ ประกอบด้วย รัสเซีย (เจ้าภาพ), นิวซีแลนด์ (แชมป์โอเชียเนีย), โปรตุเกส (แชมป์ยุโรป) และ เม็กซิโก (แชมป์คอนคาเคฟ) ขณะที่ใน กลุ่มบี ประกอบด้วย เยอรมนี (แชมป์ฟุตบอลโลก 2014), ชิลี (แชมป์อเมริกาใต้), แคเมอรูน (แชมป์แอฟริกา) และ ออสเตรเลีย (แชมป์เอเชีย) ซึ่งเต็ง 1 ของรายการถูกยกให้ทัพ“ฝอยทอง”ของแฟร์นานโด ซานโตส กุนซือ วัย 62 ปี เป็นตัวเต็งที่จะสอยแชมป์รายการนี้
      โปรตุเกส ชุดนี้ยังนำทัพมาโดยซูเปอร์สตาร์ตัวเก่งอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด ที่เพิ่งจะนำ เรอัล มาดริด คว้าแชมป์ ลา ลีกา สเปน และ แชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ขาดแค่ เอแดร์ กองหน้าผู้ยิงประตูชัยในรอบชิงชนะเลิศยูโร 2016 และ เรนาโต ซานเชส กองกลางดาวรุ่งบาเยิร์น มิวนิค ที่หลุดโผจากทีมชุดนี้ โดย โรนัลโด ยังแสดงให้เห็นว่ายังรักษาฟอร์มอันยอดเยี่ยมต่อเนื่องมาจากสโมสร หลังทำสองประตูให้ “ฝอยทอง” บุกถล่ม ลัตเวีย 3-0 ในเกมฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก เมื่อวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ที่ผ่านมา 
     นอกจากอาวุธหนักอย่าง ซีอาร์7 แล้ว พวกเขายังมี อันเดร ซิลวา กองหน้าดาวรุ่งที่เอซี มิลาน เพิ่งทุ่มเงิน 33 ล้านปอนด์ (ราว 1,100 ล้านบาท) คว้าตัวจาก เอฟซี ปอร์โต เป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระในเกมรุกให้กับ โรนัลโด ขณะที่แดนกลางทุกคนต่างจับตามอง แบร์นาร์โด ซิลวา มิดฟิลด์ป้ายแดงของแมนเชสเตอร์ ซิตี เป็นพิเศษ ว่าจะเค้นฟอร์มได้เหมือนสมัยปั้นเกมกับโมนาโกได้หรือไม่ หลังจากบาดเจ็บจนพลาดโชว์ฝีเท้าในศึกยูโร 2016 ที่ผ่านมา

อินทรีเหล็กเลือดใหม่
      ขยับมาดูเต็ง 2 อย่าง “อินทรีเหล็ก”เยอรมนี ทีมแชมป์โลก ซึ่งกุนซือ โยอัคคิม เลิฟ เน้นเรียกแข้งหน้าใหม่เข้ามาติดทีมพร้อมกับหั่นชื่อแกนหลักหลายรายเพื่อเปิดโอกาสให้พัก โดยมีผู้เล่นแค่ 6 คน จากชุด ยูโร 2016 และ 3 คน จากชุดแชมป์โลก ปี 2014
       กุนซือวัย 57 ปี ตัดสินใจเรียกแข้งอายุน้อยที่โชว์ฟอร์มยอดเยี่ยมในซีซั่นนี้ เข้ามาติดทัพหลายราย อาทิ เคเรม เดเมียร์บาย , ดีเอโก เดมเม , เบนจามิน เฮนริคส์ , มาร์วิน แพล็ตเทนฮาร์ดท์ และ ติโม แวร์เนอร์ ขณะที่แกนหลักทั้ง เยโรม บัวเต็ง , มัทส์ ฮุมเมิลส์ , ซามี เคดิรา และ เมซุต โอซิล ไม่ถูกเรียกติดทีม เช่นเดียวกับ มานูเอล นอยเออร์ นายทวารมือ 1 และ ยูเลียน ไวเกิล กองกลาง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ที่อยู่ในช่วงพักรักษาอาการเจ็บ
     แต่บรรดาเลือดใหม่ของทัพ “อินทรีเหล็ก” ก็น่าจับตามองไม่แพ้นักเตะรุ่นพี่ โดยล่าสุดโชว์ฟอร์มเยี่ยมด้วยการถล่ม ซาน มาริโน ไปถึง 7-0 ในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกเมื่อสัปดาห์ก่อน

ความพร้อมของเจ้าภาพ
     นอกจากบรรดาทีมตัวเต็งซึ่งแฟนบอลให้ความสนใจแล้ว อีกสิ่งที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ คือ ความพร้อมในการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพรัสเซีย ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันในด้านการจัดการต่างๆ ทั้งเรื่องของความปลอดภัยตลอดจนสนามแข่งขันที่เสร็จล่าช้ากว่ากำหนด โดยสนามเซนิต อารีนา หรืออีกชื่อคือ เครสตอฟสกี สเตเดียม ในเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งจุผู้ชมได้ประมาณ 68,000 ที่นั่ง และถือเป็น 1 ใน 12 สนามที่จะใช้จัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เพิ่งสร้างเสร็จก่อนหน้าศึกคอนเฟเดอเรชันส์ คัพ จะเปิดฉากขึ้นแบบสดๆร้อนๆ 
     ขณะเดียวกันทัวร์นาเมนต์นี้ยังเป็นอีกบททดสอบสำคัญของการนำเทคโนโลยีวิดีโอรีเพลย์ภาพช้า (วีเออาร์) ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบระบบมาอย่างต่อเนื่อง แม้เสียงส่วนใหญ่จะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่การนำมาใช้ในรายการนี้จะเป็นเครื่องยืนยันความพร้อมได้ดีก่อนนำมาใช้จริงในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปีหน้า
     ผลงานดีสุดของรัสเซียในเวทีนานาชาติ คือการเข้ารอบรองชนะเลิศฟุตบอลยูโร 2008 แต่หลังจากนั้นผลงานก็มีแต่ทรงกับทรุด ตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2010 ก่อนตกรอบแรก 3 รายการติด ทั้งยูโร 2012, ฟุตบอลโลก 2014 และยูโร 2016
     หลังจากความล้มเหลวครั้งล่าสุดทีมหมีขาวก็ถึงเวลาผลัดใบอีกครั้งกับเฮดโค้ชคนใหม่ สตานิสลาฟ เชอร์เชซอฟ อดีตนักเตะทีมชาติที่ผ่านประสบการณ์คุมทีมระดับสโมสรอย่างโชกโชน ทำให้ คอนเฟดเดอเรชันส์ คัพ ครั้งนี้ รัสเซีย ตั้งเป้าทำผลงานให้ดีที่สุด และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อเป้าหมายใหญ่ปีหน้าบนผืนแผ่นดินแม่

      สุดท้ายนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งทุกคนต่างลุ้นว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องการชิงชัยในตำแหน่งแชมป์รายการนี้สักเท่าใด เมื่อเทียบกับภาพรวมตลอดจนความพร้อมในด้านต่างๆที่ รัสเซีย ชาติเจ้าภาพจะแสดงให้เห็น ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ก่อนที่ศึกใหญ่อย่างฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจะเปิดฉากขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ