ข่าว

เรื่องราวและบทบาท “นายกฯ” กับวงการฟุตบอลอังกฤษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ธนรัชต์ คูสมบัติ www.facebook.com/Tanaruch.Kusombut/

เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศอังกฤษที่มีการลงคะแนนกันไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเลือกตั้งก่อนกำหนดการถึง 3 ปีเพราะมาจากการขอยุบสภา ผลปรากฎว่าพรรคอนุรักษ์นิยมที่นำโดย “เทเรซา เมย์” ยังคงได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดจำนวน 318 ที่นั่ง แต่ไม่ได้ครองเสียงข้างมากจึงต้องตั้งรัฐบาลผสมต่อไป

ที่ผ่านมาสื่อกีฬาของอังกฤษมักจะคอยจับตาดูบทบาทของผู้นำประเทศต่อกีฬาอันดับหนึ่งอย่าง “ฟุตบอล” ว่าเป็นอย่างไรบ้าง วันนี้จึงขอรวบรวมบทบาทของนายกรัฐมนตรีอังกฤษกับวงการฟุตบอลที่น่าสนใจมาให้ชมกัน

 

เดวิด แคเมอรอน  2010-2016

แม้จะเคยเปิดเผยว่าความสนใจด้านกีฬาของตัวเองคือคริกเก็ตและเทนนิส แต่ตอนอายุ 13 ปี เด็กชายคาเมรอน ได้เข้าไปชมการแข่งขันฟุตบอลครั้งแรกในชีวิต ณ สนาม วิลล่า ปาร์ค และสถาปนาตัวเองเป็นแฟนบอลของ “แอสตัน วิลล่า”

ช่วงฟุตบอลโลกปี 2010 ขณะที่ไปประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่  หรือ  G20 ที่โตรอนโต เขาและบารัค โอบามา อดีตประธานาธิปดีสหรัฐฯ เดิมพันด้วยการเลี้ยงเบียร์ หลังจากทั้งสองชาติต้องพบกันในรอบแบ่งกลุ่มและผลเสมอกันไป 1-1

อีกทั้งนายคาเมรอน เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศชั้นนำด้านฟุตบอล ที่ออกมาแสดงตัวชัดเจนในการสนับสนุนเทคโนโลยีวิดีโอรีเพลย์หลังจากมีเหตุการณ์ลูกยิงของแฟรงค์ แลมพาร์ด ที่ข้ามเส้นแต่ไม่ได้ประตู ในฟุตบอลโลกปี 2010 เกมอังกฤษพบกับเยอรมนี โดยทีมสิงโตคำรามแพ้ไป 4-1 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย

 

กอร์ดอน บราวน์ 2007-2010

บราวน์ เป็นแฟนตัวยง “เรธ โรเวอร์ส” ทีมในลีกสกอตแลนด์  ในวัยเยาว์ถึงกับยอมลงทุนเป็นเด็กขายหนังสือโปรแกรมการแข่งขันของทีมเพื่อที่จะได้เข้าไปชมการแข่งขันฟรี

โดยเกมที่อยู่ในความทรงจำของบราวน์มากที่สุดคือเกมสกอตติช ลีกคัพ รองชิงชนะเลิศปี 1994 ที่เรธ โรเวอร์ส เอาชนะ การดวลจุดโทษต่อ กลาสโกว์ เซลติก ไป 6-5 คว้าแชมป์ไปครอง

การที่บราวน์ มีความผูกพันกับฟุตบอลสกอตแลนด์นั้น ทำให้เจ้าตัวอยากจะเห็นการรวมทีมฟุตบอลของประเทศบ้านเกิดอังกฤษ กับชาติต่างๆในสหราชอาณาจักร ดังนั้นเขาจึงต้นโผสำคัญที่เข้าไปยื่นเรื่องคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ในการส่งทีมฟุตบอลสหราชอาณาจักร ในโอลิมปิก เกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน และประสบความสำเร็จในที่สุด

 

โทนี่ แบลร์ 1997-2007

นายกรัฐมนตรีผู้ครองตำแหน่งนานถึง 10 ปีประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นแฟน “นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด” โดยติดตามทีมสาลิกาดงมาตั้งแต่ช่วงยุค 60

ด้วยความคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังทำให้นายแบลร์ ก่อตั้งมูลนิธิกีฬาโทนี่ แบลร์ เพื่อสนับสนุนเด็กที่อยากเล่นฟุตบอลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ รวมไปถึงการสรรหาผู้ฝึกสอนให้กับทีมฟุตบอลหญิงอีกด้วย

ที่น่าสนใจกว่านั้น นิคกี้ บุตรชายของเขายังหันไปเอาดีในการเป็นเอเย่นต์ให้นักฟุตบอล และถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อย

 

มากาเร็ต แทชเชอร์ 1979-1990

เจ้าของฉายา “หญิงเหล็ก” หนึ่งในผู้นำผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงอังฤษมากที่สุด แต่วงการฟุตบอลอังกฤษภายใต้ผู้นำหญิงคนนี้ต้องเผชิญกับปัญหามากมายมีเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นถึง 3 ครั้ง

ตั้งแต่ไฟไหม้อัฒจันทร์สนามวัลเลย์ พาเลส ของทีมแบรดฟอร์ด ซิตี้ ปี 1985 มีคนตาย 56 ศพ ต่อมาคือโศกนาฎกรรมที่สนามเฮย์เซล ปี1985 ยูโรเปี้ยน คัพ รอบชิงชนะเลิศ ระหว่าง ลิเวอร์พูลกับยูเวนตุส เกิดจลาจลในสนาม ทำให้คนดูตายหมู่ 39 ศพ จากกรณีนี้นางแทชเชอร์ กดดันให้สมาคมฟุตบอล ทำการถอนทีมสโมสรอังกฤษจากการแข่งขัน เป็นเหตุให้ยูฟ่ามีมมติลงโทษห้ามทีมสโมสรอังกฤษเข้าแข่งขันฟุตบอลยุโรปทุกรายการ 5 ปี อีกเหตุการณ์คือโศกนาฎกรรมที่สนามฮิลส์โบโรห์ ปี 1989 ฟุตบอลเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศ ระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ มีเกิดจลาจลในสนาม ทำให้ คนตาย 96 ศพ

โดยนางแทชเชอร์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสอบสวนกรณีนี้ มีผลสรุปเชิงกล่าวหาว่าแฟนบอลลิเวอร์พูลที่ตายหมู่ไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุในการก่อความรุนแรง ก่อนที่ในปี 2012 จะมีการสอบสวนใหม่และทางรัฐบาลอังกฤษจึงออกมาแก้ไขข้อกล่าวหานี้


เทเรซา เมย์ 2016 - ปัจจุบัน

นายกรัฐมันตรีหญิงคนปัจจุบันที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด บทบาทของเธอที่ส่งผลต่อวงการฟุตบอลคงหนีไม่พ้นนโยบายกออกจากอียูของสหราชอาณาจักรหรือ Brexit  ที่ส่งความวิตกต่อคนลูกหนังทั่วแดนผู้ดีตั้งแต่จำนวนผู้เล่นต่างชาติที่ค้าแข้งในลีกที่มีอยู่จำนวนมหาศาลทั้งระดับสตาร์และดาวรุ่ง ปัญหาด้านการเงินของสโมสรเพราะอาจทำให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงส่งผลต่อสภาพคล่อง อีกทั้งในแง่การดึงดูดนักลงทุนในวงการฟุตบอล เพราะการที่ผู้เล่นต่างชาติน้อยลงทีมมีปัญหาทางการเงิน ก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ และความเสี่ยงต่อการลงทุนในธุรกิจฟุตบอลอย่างไรก็ตามภายหลังการเลือกตั้งที่ได้เป็นรัฐบาลผสมทำให้มีการคาดการณ์ว่านโยบาย Brexit อาจถูกชะลอเอาไว้

 

อังกฤษภายใต้ผู้นำประเทศคนเดิม การดำเนินนโยบายต่างๆอาจจะไม่ร้อนแรงรวดเร็วเหมือนแค่ก่อนเพราะเงื่อนไขการเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งหากการะบวนการ Brexit  ต้องล่าช้าออกไป ก็อาจจะไม่ได้เห็นบทบาทต่อวงการฟุตบอลที่น่าสนใจอะไรมากนักในสมัยของเทเรซา เมย์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ