ข่าว

“กฎ 23 ปี” กับความหวังของ “เกาหลีใต้”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ธนรัชต์ คูสมบัติ facebook.com/Tanaruch.Kusombut

ฟุตบอลโลกเยาวชน 2017 อายุไม่เกิน 20 ปี ที่ประเทศเกาหลีใต้ เริ่มต้นชิงชัยกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา

การแข่งขันครั้งนี้ทีมเจ้าภาพอย่าง “เกาหลีใต้” ตั้งความหวังไว้ไม่น้อยที่จะทำผลงานให้ออกมายอดเยี่ยมประทับใจแฟนบอลมากที่สุด โดยในรอบแบ่งกลุ่มเริ่มต้นเกมแรกได้ดีด้วยการเอาชนะกินีไป 3-0 ตามด้วยการชนะอาร์เจนตินา 2-1 เหลือนัดสุดท้ายคือการเจอกับอังกฤษ โอกาสเข้ารอบน็อคเอาท์ถือว่ามีสูงทีเดียว

เหตุของการตั้งความหวังไว้ค่อนข้างมากในคราวนี้ ก็เพราะต้องการทดสอบประสิทธิผล หลังจากที่สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ ได้มีการปรับเปลี่ยนเพิ่ม “กฎ 23 ปี” คือการกำหนดโควต้าผู้เล่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในการแข่งขันฟุตบอล “เคลีก” ซึ่งเป็นลีกสูงสุดภายนประเทศ

 

ความสำเร็จจากเอเชี่ยนเกมส์และโอลิมปิกเกมส์

ที่มาของ “กฎ 23 ปี” มาจากสาเหตุที่วงการฟุตบอลลีกของเกาหลีใต้ ยังเป็นลีกที่มีกำลังด้านการเงินที่น้อยอยู่มากเมื่อเทียบกับลีกยักษ์ใหญ่ในเอเชีย  ไม่ว่าจะเป็นเจลีก ของญี่ปุ่น ไชนีส ซูเปอร์ลีก ของจีน หรือแม้กระทั่งลีกในตะวันออกกลาง จึงจำเป็นต้องสร้างนักเตะให้มีคุณภาพออกมา แทนที่การปล่อยให้สโมสรทุ่มซื้อผู้เล่นต่างชาติซึ่งอาจจะเกิดภาวะปัญหาทางการเงินตามมา

โดยเริ่มบังคับใช้กฎนี้มาตั้งแต่ปี 2013 จากนั้นเริ่มมีความชัดเจนขึ้นในปี 2015  โดยให้แต่ละทีมจะมีนักเตะ U23 อยู่ 2 คน โดย 1 ใน 2 จะเป็น 11 ตัวจริง

ผลิตผลที่เริ่มออกดอกออกผลที่ชัดเจน ก็คือนักฟุตบอลดาวรุ่งที่ฟอร์มร้อนแรงขึ้นมากับต้นสังกัดในแต่ละปีเช่น คิมซังแด, ลีแจซุง  ในปี 2014,ซอนจุนโฮ,กวางชางฮุน ในปี 2015 และ คิมซุงจุน ในปี 2016

สว่นผลงานในในระดับชาตินั้นก็เริ่มเป็นรูปธรรมไล่ตั้งแต่การคว้าเหรียญทองฟุตบอลเอเชี่ยนเกมส์ 2014 ที่อินชอน และการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโอลิมปิกเกมส์ ที่บราซิล ปี 2016

 

ความพร้อมและปัญหา

สำหรับในเคลีก คลาสสิค ในปี 2017 นี้ “กฎ 23 ปี” ระบุว่าต้องเป็นนักเตะที่ไม่เกิดก่อน 01/01/1994 ขณะที่ลีกรองอย่างเคลีกชัลเลนจ์เข้มงวดกว่าด้วยการใช้ “กฎ 22 ปี” แต่มีข้อยกเว้นอยู่สองทีมคือ ซังจู ซังมู และ อันซานมูกังวา โดยทีมที่เล่นกับสองทีมนี้ไม่ต้องใช้กฎดังกล่าวเนื่องจากเป็นทีมของทางการกับทีมทหารของเกาหลีใต้

แน่นอนว่าภายใต้กฎที่ว่านี้ ทีมที่ได้เปรียบคือทีมทีมีการวางแผนระบบเยาวชนมาเป็นระบบก่อนแล้ว ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือ “เจจู ยูไนเต็ด” ที่มีตัวชูโรงอย่าง อันฮุงบุม และ ลีชางมิน สองแข้งในชุดโอลิมปิก 2016  ทั้งสองคนได้พิสูจน์ผลงานในฟุตบอลเอเอฟซีแชมเปี้ยนสลีก ปีนี้ โดยพาทีมเข้าสุ่รอบ 16 ทีสุดท้ายได้สำเร็จ อีกทั้งล่าสุดโชฮันวาน กุนซือของทีมก็ได้ดัน คิมฮุนวุก และ ลีอึนบุม เข้ามาสู่ทีมด้วยโควต้านี้

ขณะที่สองทีมที่มีบริษัทธุรกิจเหล็กรายใหญ่อย่างปอสโก้ เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่อย่าง โปฮัง สตีลเลอร์ส” กับ “ชุนนัม ดราก้อนส์ ได้ลงทุนระยะยาวสร้างระบบเยาวชนไว้พักใหญ่แล้ว ทั้งการสร้างนักฟุตบอลขึ้นมาเองหรือการส่งแมวมองไปดึงนักเตะตั้งแต่เป็นผู้เล่นโนเนม

โดยโปฮัง มี ลีกวางย็อค ที่เล่นอาชีพมา 4 ปีแล้วแต่อายุเพียง 22 ปี นอกจากนี้ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะแจ้งเกิดทั้ง ลีซังกี,จางชอลยอง และ ลีซึงโม

ขณะที่ชุนนัม เพิ่งค้วาตัว ฮันชานฮี มาจากกวางยาง ไอออน แอนด์ สตีล ซึ่งตอนนี้เริ่มผนึกกำลังได้ดีกับดาวรุ่งที่มีอยู่ในทีมอยู่แล้วอย่าง ลียุนฮู  เป็นสองกำลังสำคัญที่จะช่วยให้ทีมอยู่รอดในลีกสูงสุด

แต่กระนั้นทีมที่มีปัญหามากที่สุดกับกฎ 23 ปี กลับเป็นทีมแชมป์เคลีกอย่าง “เอฟซี โซล” โดยตั้งแต่ช่วงต้นฤดูกาล ฮวางซุนฮอง กุนซือของทีมต้องเผชิญกับเรื่องของความสม่ำเสมอในการเล่นของลูกทีมแม้ว่าจะมีตัวเลือกให้ใช้มากก็ตาม ขณะที่บรรดาความหวังอนาคตของทีมที่ในรุ่น U20 อย่าง คิมฮันกิล, ฮวางกีวุก และ ยูนจองกิว อาจจะมีศักยภาพแต่ก็ยังไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควรเพราะตำแหน่งดันไปทับกับตัวหลักตัวเก๋าของทีม เมื่อต้องสลับเอาดาวรุ่งมากหน้าหลายตาลงสนาม ทำให้ทีมขาดความสมดุลและไม่สามารถหา 11 ตัวจริงที่ลงตัวเหมาะสม ส่งผลใหผลงานของทีมจากมื่องหลวงตอนนี้ดิ่งลงไปอยู่อันดับเต็ดของตารางแล้ว

ขณะที่สองทีมที่มีแข้งดาวรุ่งมากที่สุดในทีมอย่าง “อุลซาน ฮุนได” และ “แดกู” ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก สำหรับอุลซานผลงานในลีกยังถือว่าใช้ได้ แต่ผลงานในเกมระดับทวีปอย่างเอเอฟซีแชมเปี้ยนสลีกกลับตกรอบแบ่งกลุ่มชนิดหมดราคาอดีตแชมป์ปี 2012 ส่วนแดกู ก็กำลังเจอวิกฤตอย่างหนักเมื่ออยู่ในรองบ๊วยของตารางเคลีกเวลานี้

 

ความสำเร็จจากเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์และรอบแปดทีมโอลิมปิก ทำให้สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้เริ่มมีความหวัง

แต่เริ่มมีสัญญาณร้ายออกมาจากผลงานในแชมเปี้ยนสลีกของสโมสรเกาหลีใต้

ที่มีเพียงทีมเดียวผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย จากที่เคยเป็นชาติที่มีค่าเฉลี่ยรายการนี้ดีที่สุด

ดังนั้นผลงานในฟุตบอลโลกอายุไม่เกิน 20 ปี อาจจะเป็นตัวแปรสำคัญ ว่าสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้จะยังเข้มกับ “กฎ 23 ปี” นี้ต่อไป หรือจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ