ข่าว

“พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟุตบอลไทยยุค“ในหลวง รัชกาลที่ 9”ถือเป็น“ยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลเมืองไทย”ดังเช่นรัชสมัย“สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”รัชกาลที่ 6 ถือเป็น “ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม” 

                       สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถือเป็นหนึ่งในสมาคมกีฬาที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” 
                       กล่าวกันว่าฟุตบอลไทยยุค “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ถือเป็น “ยุครุ่งเรืองของวงการฟุตบอลเมืองไทย” ดังเช่นรัชสมัย “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่นักประวัติศาสตร์การกีฬาถือเป็น “ยุคทองของฟุตบอลเมืองสยาม” 
                       ภายหลังจาก “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” โปรดเกล้าฯพระราชทาน “ถ้วยใหญ่” และ “ถ้วยน้อย” ให้การแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศ กาลต่อมา “ในหลวง” โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วย ค และถ้วย ง ให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อพ.ศ.2504 ทำให้การแข่งขันฟุตบอลภายในประเทศเป็นระบบสากลมากขึ้นคือ 4 ดิวิชั่นแบบประเทศอังกฤษ  ดังนั้น “ถ้วยใหญ่” และ “ถ้วยน้อย” จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ถ้วยพระราชทาน ก” และ “ถ้วยพระราชทาน ข” นับแต่นั้นมา
พ.ศ.2511 นักเตะทีมชาติไทยผ่านเข้าไปแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิก ครั้งที่ 19 ที่นครเม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก กีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมอย่างสูง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การนำของ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยมนาค นายกสมาคม จึงมีมติเอกฉันท์ให้ดำเนินการจัดแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติองค์อุปถัมภ์และอุดมการณ์ของสมาคมฟุตบอล 
                       หลังจากสมาคมฟุตบอลมีหนังสือถึงราชเลขาธิการเพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปลายปี 2511 เมื่อความได้ทรงทราบใต้เบื้องพระยุคลบาท พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยถมทองคำสำหรับทีมชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานนี้จะไม่เป็นกรรมสิทธิ์แก่ทีมฟุตบอลใดแต่จะต้องมีการจัดแข่งขันเป็นประจำทุกปี 
                       ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน “คิงส์คัพ” ครั้งที่ 1 แข่งขันระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-2 ธันวาคม พ.ศ.2511 จากวันนั้นมาถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 48 ปี ถือเป็นฟุตบอลรายการเก่าที่สุดของทวีปเอเชียในปัจจุบันที่ยังคงมีการจัดการแข่งขันอยู่เป็นประจำ ซึ่งครั้งล่าสุดเป็นการแข่งขันครั้งที่ 44 นักเตะทีมชาติไทยคว้ารางวัลชนะเลิศในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งสมาคมกีฬาฟุตบอล ด้วย
                       นอกจากนี้ “ในหลวง” ยังเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลและโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลฟุตบอลหน้าพระที่นั่งในหลายรายการ เช่น การแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ การแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานระหว่างจังหวัดในเขตกีฬาที่ 7 (ภาคกลาง) การแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานภูพานราชนิเวศน์ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) การแข่งขันฟุตบอลชิงโล่พระราชทาน (ภาคใต้) การแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานภูพิงคราชนิเวศน์ (ภาคเหนือ) รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติในถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ และการแข่งขันฟุตบอลรายการสำคัญของทวีปเอเชีย ที่จัดแข่งขันขึ้นในประเทศไทย จึงถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการกีฬาฟุตบอลของเมืองไทยเป็นอเนกประการ
                       ความตอนหนึ่งในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม” อ้างคำกล่าวของ พล.อ.ประเทียบ เทศวิศาล อดีตสภากรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ที่กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามผลการแข่งขันฟุตบอลของทีมชาติไทยอยู่เสมอด้วยวิทยุคลื่นสั้น ทรงมีพระบรมราโชวาทเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการบริหาร ฝึกซ้อมและวิธีการเล่นของนักฟุตบอลอย่างน้ำใจนักกีฬา ทรงมีความเข้าพระราชหฤทัยศาสตร์และศิลป์ของกีฬาฟุตบอลอย่างลึกซึ้ง แม้แต่การเสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับแรม ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จะทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาภาค 7 (จ.นครปฐม จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์) และฟุตบอลคู่ชิงชนะเลิศประมาณปี 2499 เป็นการแข่งขันระหว่างทีม จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับทีม จ.นครปฐม ปรากฏว่ามีฝนตกลงมาอย่างหนัก พระองค์ก็ยังทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลจนจบ โดยพระราชทานถ้วยชนะเลิศและพวงมาลัยแก่นักกีฬาตามประเพณีแทบทุกครั้ง ยังความปลาบปลื้มแก่นักฟุตบอลเหล่านั้นอย่างไม่ลืมเลือนตราบจนทุกวันนี้
                       เหตุการณ์สำคัญอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทยเกิดขึ้นหลังจากทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้เป็นครั้งแรก คือ ครั้งที่ 16 พ.ศ.2499 ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ครั้งนั้นทีมชาติไทยทำผลงานแพ้ ทีมสหราชอาณาจักร (อังกฤษ, สกอตแลนด์, เวลล์ และไอร์แลนด์เหนือ) อดีตเจ้าของเหรียญทองฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก 3 สมัย 0-9 นอกจากเป็นการตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายแล้วยังเป็นสถิติการเสียประตูมากที่สุดของทีมชาติไทย
เวลาต่อมาสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงส่ง นายสำรวย ไชยยงค์ (ปัจจุบัน พล.ต.สำเริง ไชยยงค์) และ นายฉัตร หรั่งฉายา เดินทางไปเรียนหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลระยะสั้น โดยความช่วยเหลือของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งประเทศเยอรมนี เมื่อราวปี 2505 แต่หลังจากนั้น “ในหลวง” ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์แก่ นายสำรวย ไชยยงค์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยชุดโอลิมปิกเมลเบิร์น ให้เดินทางกลับไปศึกษาวิชาการพลศึกษาชั้นสูง ณ สปอร์ตซูเล เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนีตะวันตก (SPORTHOCHULE KOLN W.GERMANY) โดยเน้นเกี่ยวกับวิทยาการกีฬาฟุตบอล การจัดการ การฝึกซ้อมและแบบแผนการเล่นสมัยใหม่ เพื่อการพัฒนานักฟุตบอลของไทยให้มีทักษะพื้นฐานเพิ่มมากขึ้นจนสำเร็จหลักสูตรผู้ฝึกสอนฟุตบอลอาชีพชั้นสูง (FUSSBAL LEHRER) เมื่อประมาณปี 2506 
                       หลังกลับมาถึงประเทศไทย นายสำรวย ไชยยงค์ นักฟุตบอลทุนในหลวง ซึ่งมี มร.เดทมาร์ กราเมอร์ อดีตโค้ชทีมชาติไทยชาวเยอรมันเป็นครูผู้ฝึกสอนศาสตร์ของกีฬาฟุตบอล จึงนำความรู้ที่เรียนมาด้วยทุนพระราชทานดังกล่าวถ่ายทอดให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจการเล่นฟุตบอลทั่วไป ก่อนจะเข้ารับหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนฟุตบอล สโมสรธนาคารกรุงเทพ ชุดชนะเลิศถ้วยน้อย (ถ้วย ข) 1 สมัย และชนะเลิศถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก) อีก 2 สมัยติดต่อกัน โดยระหว่างนั้นยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ฝึกสอนนักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติไทยท่ามกลางความสนใจของวงการฟุตบอล
                       ต่อจากนั้น นายสำรวย  ได้รวบรวมเยาวชนเพื่อนำมาฝึกสอนการเล่นฟุตบอลขั้นพื้นฐาน ณ บริเวณสนามอัฒจันทร์ไม้ ติดกับศาลต้นโพธิ์ด้านข้างสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ก่อนจะย้ายสนามไปฝึกซ้อมกันที่บริเวณสวนพุดตาน ถนนราชวิถี ใกล้กับโรงเรียนจิตรลดา ซึ่งสร้างความสนใจให้แก่ข้าราชบริพารสำนักพระราชวังและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์แล้ว ในขณะนั้น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ” ทรงกำลังศึกษาอยู่และเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียนจิตรลดา จึงทำให้วงการฟุตบอลเมืองไทยตั้งฉายา “สโมสรราชวิถี” ที่มีสีเหลืองเป็นสีประจำทีมว่า “สโมสรชาววัง” และทุกครั้งก่อนแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานหรือฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง “ในหลวง” นักฟุตบอลสโมสรราชวิถีจะนั่งก้มกราบลงบนพื้นขอบสนามเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ยังคงเป็นภาพประทับใจของแฟนฟุตบอลชาวไทยตลอดมา
                       ทีมสโมสรราชวิถีเป็นทีมที่มีการเล่นแบบโททัลฟุตบอล คือผู้เล่นทุกคนสามารถสลับตำแหน่งกันเล่นได้ตลอด 90  นาที สโมสรราชวิถีประสบความสำเร็จชนะเลิศรายการสำคัญ เช่น ฟุตบอลเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย รวม 6 สมัย และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานถ้วยใหญ่ (ถ้วย ก) รวม 4 สมัย และฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ 1 สมัย
                       อนึ่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อขณะทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงฝึกซ้อมฟุตบอลจนมีความเชี่ยวชาญ ทำให้พระองค์ได้รับพระสมญาว่า “เจ้าฟ้าดาราลูกหนัง” โดยทรงเริ่มเล่นตำแหน่งกองหน้าและเปลี่ยนมาเป็นกองหลัง หรือ “เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ” ให้โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ ประเทศอังกฤษ โรงเรียนนายร้อยดันทรูน ประเทศออสเตรเลีย และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
                       การสร้างนักฟุตบอลระดับเยาวชนแบบมีระบบและต่อเนื่อง โดยมีผลมาจากการพัฒนาตามหลักวิทยาการของกีฬาฟุตบอล ด้วยเพราะพระบารมีที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในคราวนั้น ทีมชาติไทยได้ผ่านรอบคัดเลือกปรีโอลิมปิก เข้าไปแข่งขันฟุตบอลโอลิมปิก ครั้งที่ 19 พ.ศ.2511 ที่ประเทศเม็กซิโก เป็นสมัยที่สองในรอบ 12 ปี นักฟุตบอลสโมสรราชวิถีที่ได้รับการอบรมและฝึกสอนจาก พล.ต.สำเริง ไชยยงค์ ส่วนใหญ่กว่าร้อยคนจะก้าวขึ้นไปเล่นในนามทีมชาติไทย และนักฟุตบอลเหล่านั้นยังคงสำนึกอยู่เสมอในฐานะเด็กฝึกหัดของผู้ฝึกสอนฟุตบอลทุนพระราชทานในหลวง
                       “ในหลวง” ทรงติดตามผลงานของนักฟุตบอลไทยอยู่เนืองนิตย์ตลอดมา ดั่งหลายเหตุการณ์ที่ปรากฏและเป็นสิ่งที่พสกนิกรคนไทยและคนฟุตบอลไทยปลาบปลื้ม เช่นการแข่งขันฟุตบอลกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 รอบชิงชนะเลิศ วันที่ 16 ธันวาคม 2537 ณ สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ทีมชาติไทยพบทีมชาติเวียดนาม ก่อนลงสนามทีมชาติไทยต้องใส่ชุดสีน้ำเงินเป็นนัดแรกของการแข่งขันจนเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่สุดท้ายแล้วทีมชาติไทยชนะ 4-0 แต่สิ่งที่นำมาสู่ความปลื้มปีติของนักฟุตบอลและวงการฟุตบอลไทย คือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า
                       “...สีเสื้อนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ ถึงใส่สีน้ำเงินก็ชนะได้ ถ้าหากไทยเก่งพอ มีความสามารถและมีความพร้อมกว่าคู่ต่อสู้...”
                       เหตุการณ์ล่าสุดที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มแก่ชาวไทยคือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014” นัดชิงชนะเลิศ นัดที่ 2 ที่สนามกีฬาแห่งชาติ “บูกิต จาลีล” ประเทศมาเลเซีย ทีมชาติไทยตกอยู่สถานการณ์เป็นรองตามหลังอยู่ 0-3 แต่ภายหลังกลับมายิง 2 ประตูแพ้ 2-3 รวมสกอร์ 2 นัดทีมชาติไทยชนะ 4-3 คว้าแชมป์มาครอง โดยภายหลังจบเกม นายเกษม จริยวัฒน์วงศ์ ผู้จัดการทีมชาติไทยเปิดเผยว่า  
                       “ผมได้รับข้อความจากราชเลขาฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โทรศัพท์เข้ามาหาตั้งแต่ครึ่งแรก แต่ไม่ได้รับ ทำให้ราชเลขาฯ ได้ส่งเบอร์ของท่านให้ติดต่อกลับไป ซึ่งในระหว่างที่ติดต่อกลับ มือไม้สั่นไปหมดจน นพ.ชนินทร์ ล่ำซำ แพทย์ประจำทีม ต้องเข้ามาช่วยหาเบอร์ เพราะมีเบอร์ติดต่อเข้ามาเยอะมาก ก่อนที่ผมจะติดต่อกลับไป พร้อมกับได้รับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากราชเลขาฯ ว่า “ขอให้กำลังใจกับผู้เล่นทุกคน ขออวยพรให้มีชัยชนะ อย่าย่อท้อแม้ว่าจะตามอยู่ 0-3 ซึ่งในหลวงได้ทอดพระเนตรเกมนี้อยู่”  หลังจากวางสายโทรศัพท์ไม่นาน ทีมชาติไทยกลับมายิงได้ 2 ประตูทันที ทำให้คิดถึงพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยทีมฟุตบอลทีมชาติไทยในเกมนี้” 
“ในหลวง” คือศูนย์รวมใจของไทยทั้งชาติและเป็นกำลังใจที่เกินจะหาคำใดมาบรรยายได้ นั่นคือเหตุผลที่นักกีฬาและนักฟุตบอลไทยได้เชิญพระบรมฉายาลักษณ์ของ “ในหลวง” ขึ้นเทิดทูนตั้งแต่ก่อนแข่งขันและหลังการแข่งขันดั่งภาพที่ปรากฏต่อชาวโลกในทุกทัวร์นาเมนต์ของการแข่งขัน
                       วงการฟุตบอลไทยมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันกล่าวมิได้ของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ผู้ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม” ที่จะสถิตอยู่ในใจของพสกนิกรชาวไทยไปตลอดกาล 


                       * ข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพจากหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักกีฬา พระราชาแห่งฟุตบอลสยาม” (พิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐) โดยสมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์ในพระบรมราชานุญาต *

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ