ข่าว

"ในหลวง"องค์อุปถัมภ์กีฬาไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร องค์อุปถัมภ์กีฬาไทย

กำเนิดวันกีฬาแห่งชาติ

                        ด้วยพระอัจฉริยภาพทางการกีฬาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบ ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2510 คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2529 มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ 16 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันกีฬาแห่งชาติ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการกีฬา โดยให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจัดให้มีงานเฉลิมฉลอง “วันกีฬาแห่งชาติ” ขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศเป็นประจำทุกปี
                        โดยกิจกรรมหลักที่กำหนดให้มีใน “วันกีฬาแห่งชาติ” ประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการกีฬา งานประกาศเกียรติคุณนักกีฬาและบุคลากรกีฬาดีเด่น การสาธิตและแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ ฯลฯ ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์นอกจากจะเป็นการน้อมรำลึกและเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการกีฬาแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นและเร่งเร้าประชาชนทุกเพศทุกวัยเห็นความสำคัญและคุณค่าของการออกกำลังกายและเล่นกีฬา เพื่อดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทต่อไป ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย และจังหวัดต่างๆ  จัดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

พระราชทานไฟพระฤกษ์
                        ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จะมีพิธีจุดไฟที่ใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันจากแสงอาทิตย์ ณ เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ เมืองที่เป็นต้นกำเนิดของกีฬาโอลิมปิก นับเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา
                        สำหรับประเทศไทยในการแข่งขันกีฬานานาชาติ หรือกีฬาใหญ่ๆ ได้แก่ กีฬาแหลมทอง (หรือซีเกมส์ในเวลาต่อมา), เอเชี่ยนเกมส์ กีฬาแห่งชาติ และกีฬาเยาวชนแห่งชาติ คณะกรรมการจัดการแข่งขันดำเนินการตามแบบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยขอพระราชทานไฟพระฤกษ์เพื่อใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันทุกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระแว่นสุริยกานต์กรอบทองลงยารวมแสงอาทิตย์จุดไฟพระฤกษ์ แล้วพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดการแข่งขันครั้งนั้นๆ นำไปประกอบในพิธีเปิดเพื่อเป็นสิริมงคลต่อการแข่งขัน  และยังบ่งบอกถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความรุ่งโรจน์ ความสำเร็จและความสามัคคี ซึ่งได้สร้างขวัญและกำลังใจแก่นักกีฬา เจ้าหน้าที่ และคณะกรรมการจัดการแข่งขันให้ประสบผลสำเร็จในภารกิจอันสำคัญของการแข่งขันนั้นๆ ภายหลังเมื่อทรงมีพระราชภารกิจมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้แทนพระองค์พระราชทานแทน

ในพระบรมราชูปถัมภ์
                        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับการแข่งขันกีฬาที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยประเทศไทยได้รับเกียรติจากสหพันธ์กีฬาแหลมทอง (ซีเกมส์) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ครั้ง คือ กีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 1 พุทธศักราช 2502 ครั้งที่ 4 พุทธศักราช 2510 ครั้งที่ 8 พุทธศักราช 2518 กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13 พุทธศักราช 2528 กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 พุทธศักราช 2538 
รวมถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ซึ่งเป็นการแข่งขันในระดับทวีปเอเชีย 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 5 พุทธศักราช 2509 ครั้งที่ 6 พุทธศักราช 2513 ครั้งที่ 8 พุทธศักราช 2521 ครั้งที่ 13 พุทธศักราช 2541 
                        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาสมัครเล่นอีก 13 สมาคม ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดังนี้
                        สมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 16 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493, สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 8 สิงหาคม พุทธศักราช 2500, สมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 30 สิงหาคม พุทธศักราช 2500, สมาคมกีฬายิงปืนประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 2502, สมาคมกีฬา ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 15 เมษายน พุทธศักราช 2503, สมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2506, สมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2508, สมาคมยูโดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 11 สิงหาคม พุทธศักราช 2512, สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2530, สมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 27 ธันวาคม พุทธศักราช 2538, สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 6 กันยายน พุทธศักราช 2544, สมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2547, สมาคมกีฬาทางอากาศและการบิน ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 8 ตุลาคม พุทธศักราช 2549

โปรดเกล้าฯ ให้นักกีฬาเข้าเฝ้าฯ 
                        เพื่อความเป็นสิริมงคล ขวัญและกำลังใจแก่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ คือ ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอรับพระราชทานพรก่อนออกเดินทางเป็นประจำมิได้ขาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชทานพรให้คณะนักกีฬาประสบผลสำเร็จในการแข่งขัน
                        ที่ทรงย้ำตลอดคือ การเป็นผู้แทนที่ดีของประเทศไทย เพื่อให้ประเทศต่างๆ ชื่นชมทั้งในช่วงการแข่งขันและนอกการแข่งขันระหว่างที่อยู่ในประเทศนั้นๆ ภายหลังเมื่อมีพระราชภารกิจมากขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้แทนพระองค์พระราชทานพรแก่คณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่แทน

พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
                        เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจ และสิริมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่นักกีฬาทีมชาติที่สร้างชื่อเสียงเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศชาติในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ อาทิ กีฬาซีเกมส์ กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ และกีฬาโอลิมปิกตลอดจนผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อวงการกีฬา เป็นประจำทุกปี โดยพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกฎไทย ชั้น ตริตาภรณ์, จัตุรถาภรณ์, เบญจมาภรณ์, เหรียญทอง และ เหรียญเงิน ตั้งแต่พุทธศักราช 2521-2537 จำนวน 674 คน 
                        ต่อมาเมื่อพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ต่อผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อราชการแล้ว นักกีฬาและผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการกีฬา ก็เปลี่ยนมารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้แทน ระหว่างพุทธศักราช 2538-2548 มีนักกีฬาและผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการกีฬาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นตติยดิเรกคุณาภรณ์, จตุตถดิเรกคุณาภรณ์, เบญจมดิเรกคุณาภรณ์ เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์ และ เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 1,714 คน นับเป็นเกียรติแก่นักกีฬา ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการกีฬาและครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้

พระราชทานทุนนักกีฬา
                        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทุนแก่นักกีฬาจากกองทุนโดยเสด็จพระราชกุศล อาทิ ทุนมวยไทยในมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขันมวย โดยเสด็จพระราชกุศล ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินรายได้จากการแข่งขัน พระราชทานทุนแก่นักกีฬาที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ดังที่ ศ.เจริญ วรรธนะสิน นักแบดมินตันรองแชมป์โลกชายเดี่ยว ออล อิงแลนด์ 2 สมัยได้รับพระราชทานทุนส่วนพระองค์ไปศึกษาในประเทศอังกฤษ เป็นต้น


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ