ข่าว

ย้อนปม 'อุเทนถวาย' มหากาพย์ 10 ปี คืนพื้นที่ 'จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนปมร้อน มหากาพย์ 10 ปี 'อุเทนถวาย' หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ 'จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย'

1 พ.ย. 2566 ยกระดับ การชุมนุมคัดค้านการย้าย “อุเทนถวาย” ออกจากพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคำประกาศของ บรรดาศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องคืนความยุติธรรมให้อุเทนถวาย หลังรวมตัวกันคัดค้านการย้ายอุเทนถวาย ออกจากพื้นที่ พร้อมตั้งคำถามว่า สถานที่แห่งนี้ ควรเพื่อการศึกษา หรือเพื่อการค้าพาณิชย์..ปมปัญหาพื้นที่อุเทนถวาย กินเวลายาวนานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย ก่อตั้งขึ้น 90 ปี

      ค้านย้ายอุเทนถวาย

เปิดตำนาน “อุเทนถวาย”

 

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เดิมชื่อว่า “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย”  ตั้งอยู่บนถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นโดย “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี” เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2477 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

 

 

ต่อมาในปี 2518 จึงได้โอนมาเป็นวิทยาเขต ในสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี 2533 เป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย” ปัจจุบัน เป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์

       อุเทนถวาย

ย้อนปมปัญหาย้าย “อุเทนถวาย”

 

 

พื้นที่ของ “อุเทนถวาย” เป็นการเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา เป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ปี 2478-2546 แต่ในปี 2518 เริ่มมีการขอเจรจาคืนพื้นที่ เพื่อจัดทำ ศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืนในปี 2545 โดยกรมธนารักษ์ ได้มีการจัดหาพื้นที่ใหม่ให้อุเทนถวายจำนวน 35 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่กรมการบินพลเรือน และเป็นที่ราชพัสดุ บริเวณ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดย ครม.จัดสรรงบเพื่อก่อสร้างและขนย้าย 200 ล้านบาท

 

 

- ปี 2547 “อุเทนถวาย” ทำข้อตกลงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะขนย้าย และส่งมอบให้แก่จุฬาฯ ภายในวันที่ 30 ก.ย.  2548 หากจำเป็นผ่อนผันได้ไม่เกิน 1 ปี

 

- ปี 2548 มีการทำบันทึกข้อตกลงว่า “อุเทนถวาย” จะย้ายไปก่อสร้างที่ใหม่ บริเวณบางพลี จ.สมุทรปราการ พร้อมทั้งจะย้ายบุคลากรและนักศึกษา ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พ.ย. 2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหา และเป็นไปอย่างล่าช้า

 

- ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาด การยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ซึ่งระหว่างนั้น สโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง

 

- ปี 2552 กยพ. มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวาย ขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ ส่วนผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาด ตามมติของ กยพ. และทางจุฬาฯ ก็ไม่ได้ทวงเงินค่าเสียหายจากอุเทนถวายแต่อย่างใด

 

- ปี 2565 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ “อุเทนถวาย” ย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังจากมีคำสั่ง

 

- ปี 2566 สมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย คณะพิทักษ์ศิษย์เพื่อการศึกษาโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย (คพศ.) และนักศึกษาปัจจุบัน กว่า 500 คน รวมตัวยื่นหนังสือคัดค้าน การย้ายวิทยาเขตอุเทนถวาย ถึง รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ รักษาการอธิการบดี มทร.ตะวันออก และปฏิบัติหน้าที่นายกสภา มทร.ตะวันออก พร้อมทั้งร่วมแสดงเจตจำนงค์ไม่เห็นด้วย และไม่ขอย้ายวิทยาเขตอุเทนถวายออกจากพื้นที่

     อุเทนถวายค้านย้ายออกจากพื้นที่จุฬาฯ

 

งานร้อนรัฐมนตรีใหม่ สางปมย้ายอุเทนถวาย

 

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั่งหัวโต๊ะถกแก้ปัญหาทันที โดยยืนยันว่า จะดูแลให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบต่อบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงจะดูแลในมิติทางสังคม โดยเฉพาะอัตลักษณ์ของอุเทนถวาย ที่มีมายาวนานกว่า 93 ปี

 

 

โดยมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติของ กยพ. และคำสั่งศาล รวมถึงจัดทำแผนในการขยับขยายและจัดหาพื้นที่ใหม่ โดยจะเชิญศิษย์เก่าอุเทนถวาย เข้าร่วมเป็นคณะทำงานชุดนี้ด้วย

ค้านย้ายอุเทนถวาย

 

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน ที่ยังคงยืนยัน ไม่ให้มีการย้าย อุเทนถวาย ออกจากพื้นที่เดิม หน่วยงานรัฐ จะยุติมหากาพย์นี้ได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ