ข่าว

'ทูตอิสราเอล' ร่วมอาลัย 7 'แรงงานไทย' ก่อนส่งกลับภูมิลำเนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ทูตอิสราเอล" พร้อมด้วย ตัวแทนรัฐบาล ร่วมรับศพ และไว้อาลัย 7 "แรงงานไทย" ที่เสียชีวิตจากเหตุสู้รบในอิสราเอล ก่อนเคลื่อนกลับภูมิลำเนา

26 ต.ค.2566  เมื่อเวลา 09.50น. เครื่องบินสายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ LY083 นำร่างแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุสู้รบกันในอิสราเอล จำนวน 7 คน เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว โดยนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  , ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนจากรัฐบาล ร่วมพิธีรับศพ พร้อมด้วยนางออร์น่า ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย  ร่วมพิธีรับศพและร่วมยืนไว้อาลัยผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 1 นาที  จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนร่างของแรงงานไทยทั้ง 7คน ขึ้นรถตู้ 7 คัน เพื่อลำเลียงส่งกลับไปยังภูมิลำเนา 

 

 

ทูตอิสราเอล ร่วมรับศพ และไว้อาลัย 7 แรงงานไทยที่เสียชีวิต จากเหตุสู้รบ

 

 

โดยนายอารี ระบุว่า แรงงานไทย ทั้ง 7 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอล มี 5 รายที่มีประกันสังคมในไทย อีก 2รายไม่มีประกันสังคม ทั้งนี้ทุกรายจะได้รับสิทธิประโยชน์การเยียวยาเท่ากันทั้งหมด ต่างกันแค่สิทธิประกันสังคมที่เพิ่มเข้ามา

 

ขณะนี้รัฐบาลยังคงเร่งนำแรงงานไทยกลับประเทศให้เร็วที่สุด เนื่องจากยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะยุติลงเมื่อใด โดยทุกคนที่เดินกลับมา ยืนยันว่ากระทรวงแรงงานจะดูแลสิทธิประโยชน์ให้ทั้งหมด

 

ส่วนขั้นตอนการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลจากอิสราเอล ที่เหลือยังต้องใช้เวลาพอสมควรและวันนี้ตนจะได้พบกับเอกอัครราชทูนอิสราเอล ซึ่งจะมีการสอบถามความชัดเจนในอีกหลายเรื่อง รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ทางกาารอิสราเอลจะให้กับแรงงานไทยด้วย

 

 

ทูตอิสราเอล ร่วมรับศพ และไว้อาลัย 7 แรงงานไทยที่เสียชีวิต จากเหตุสู้รบ

 

 

นายอารี กล่าวอีกว่า ในพื้นที่มีปัญหาหลายอย่างจึงมีแนวคิดว่าหากต่อไปจะมีแรงงานไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะในอิสราเอลจะต้องมีการหาที่หลบภัยให้ หรืออาจมีการซ้อมหลบภัยเพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อไร ซึ่งหากมีการป้องกันไว้ก่อนก็จะปลอดภัยและสูญเสียน้อยกว่าเดิมได้

 

ส่วนกรณีที่นายจ้างจากอิสราเอล เสนอค่าจ้างให้กับแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการจูงใจให้อยู่ต่อนั้น เป็นสิทธิ์ของนายจ้าง และขึ้นอยู่กับคนงานของเรา และจากการที่ตนเองไปรอรับแรงงานไทยพบว่า 70% บอกว่ายังมีภาระหนี้สิน แต่เนื่องจากช่วงแรกยังมีความกลัวต่อเหตุการณ์จึงต้องเดินทางกลับมาตั้งหลักก่อน แต่อาจจะเดินทางกลับไปทำงานอีก โดยหากต้องการเดินทางกลับไปอีกครั้งกระทรวงแรงงานก็จะหาอาชีพให้ตามที่ความถนัด

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีแนวคิดว่า จะให้ ธกส. และธนาคารออมสิน ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและระยะยาวให้กับแรงงานเพื่อช่วยเรื่องหนี้สินที่กู้ยืมไปทำงานในอิสราเอล เพื่อจูงใจให้แรงงานกลับประเทศนั้น มองว่า เป็นเหตุผลหนึ่งของนายกรัฐมนตรีที่จะจูงใจแรงงานกลับมาได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแรงงานว่าจะรับเงื่อนไขนี้หรือไม่ ซึ่งก็มองว่าเป็นแรงจูงใจที่ดีในการหาทางออกให้แรงงาน

 

 

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 


สำหรับประเด็นที่มีบางเงื่อนไขของกระทรวงแรงงานที่หากรับเงินเยียวยาไปแล้ว อาจจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้ไปทำงานที่อิสราเอลต่อนั้น นายอารี ยืนยันว่า ไม่มีเงื่อนไขนี้ อาจจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยการจะให้แรงงานกลับไปทำงานที่อิสราเอลจะมีการหารือแนวทางที่ชัดเจนในการช่วยเหลืออีกครั้ง

 

ส่วนการติดตามค่าแรงจากนายจ้างที่อิสราเอล สำหรับแรงงานที่กลับมาประเทศไทยแต่ยังไม่ได้รับค่าจ้างด้วยว่า ขณะนี้ได้ส่งทูตแรงงาน และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ส่งไปช่วยประสานงานในเรื่องนี้ และจะประสานกับลูกจ้างด้วยว่ายังตกหล่น ขั้นตอนใดบ้าง

 

สำหรับรายชื่อแรงงานที่เสียชีวิต ที่นำกลับไทย 7 ราย ประกอบด้วย 

1. นายธีรพงษ์ กลางสุวรรณ  ชาว จ.อุดรธานี เดินทางไปทำงาน เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563

2. นายพิรุฬห์ ทานนท์พิมพ์  ชาว จ.อุดรธานี ไปทำงานเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564

3. นายศักดิ์สิทธิ์ โคตมี ชาว จ.อุดรธานี ไปทำงานในปี 2561

4. นายศักดา สุรคาย ชาว จ.หนองคาย ไปทำงานเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2565

5. นายอภิชาติ กุสะรัมย์  ชาว จ.ขอนแก่น ไปทำงานเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565

6. นายศรีทัศน์ กาเหว่า  ชาว จ.กำแพงเพชร ไปทำงานเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2565

7. นายนิติกร แซ่ว่าง  ชาว จ.เชียงราย ไปทำงานเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ