ข่าว

'สภานายจ้าง' ห่วงช่วงเปลี่ยน 'รัฐบาลใหม่' แรงงานข้ามชาติหลุดจากระบบเพิ่ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย' ห่วง ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แนวทางการต่อใบอนุญาตแรงงานข้ามชาติยังไม่ชัดเจน หวั่น'แรงงานข้ามชาติ' หลุดออกนอกระบบ กว่า 1.9 ล้านราย ขอ 'รัฐบาลใหม่' บูรณาการทุกมิติ ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ห่วงใยกรณีแรงงานข้ามชาติต่อวีซ่าไม่ทัน เป็นเหตุให้ยังแอบหลบซ่อนทำงานอยู่ รวมถึงอาจเกิดปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับประเทศต้นทางและ ลักลอบกลับเข้าประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้แนวทางการต่อใบอนุญาตแรงงานข้ามชาติยังไม่ชัดเจน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่สร้างความชัดเจนและบูรณาการในทุกมิติและข้ามกระทรวง เพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

 

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนเมษายน 2566 พบว่า มีแรงงานข้ามชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม อยู่ในช่วงดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี 7 กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่จำนวน 1,912,031 คน เป็นกัมพูชา 274,287 คน ลาว 92,301 เมียนมา 1,543,355 และเวียดนาม 2,088 คน หน่วยแรงงานจำนวนดังกล่าวต้องดำเนินการลงตราวีซ่าภายในวันที่ 15 พ.ค. 66 แต่ล่าสุดรัฐบาลยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาใหม่ เพื่อรองรับกลุ่มแรงงานที่ดำเนินการไม่ทันกำหนด ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการดำเนินการต่อหนังสือเดินทางหรือเอกสารแสดงตนชั่วคราว (CI) ที่ไม่สามารถรองรับผู้ขอใช้บริการจำนวนมากได้

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล

ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลจากประเทศต้นทางอย่างเมียนมาได้เข้ามาตั้งศูนย์ออก CI ในบ้านเราเพื่ออำนวยความสะดวกก็ตาม แต่พบว่าขั้นตอนที่หลากหลายหลังจากที่ไม่มีการเปิดศูนย์บริหารจัดการแรงงานข้ามชาติแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service Centers) เหมือนก่อนยุคโควิด เอกสารเดินทางแรงงานข้ามชาติที่ทยอยหมดอายุ และการต่อใบอนุญาต มีค่าใช้จ่ายที่สูง หรือเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามกระบวนการ MOU ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติที่หลุดออกจากระบบยังคงทำงานอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก

 

ซึ่งกฎหมายกำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศมาแล้ว 4 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางก่อน และค่อยกลับเข้ามาทำงานตามระบบ MOU ซึ่งจากประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงและกรอบระยะเวลาในการนำเข้าแรงงานตาม MOU รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองและความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สภาองค์กรนายจ้างฯ มองว่า เป็นปัจจัยที่ให้แรงงานข้ามชาติกลับเข้าทำงานในประเทศไทยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งที่อยู่ในระบบและออกนอกระบบไปแล้วนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องบริหารจัดการ รวมไปถึงการประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการในการจูงใจให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพของนายจ้างที่จะเสนอค่าจ้างและสวัสดิการแรงงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อพิจารณาถึงความเปราะบางของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่กล่าวมาแล้วนั้น แนวโน้มการใช้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองในช่องทางไม่ปกติอาจเพิ่มสูงขึ้น โดยแรงงานอาจไม่มีทางเลือกเกี่ยวกับงานที่ทำมากนัก และอาจเป็นการเปิดช่องว่างให้มีการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นทางการมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและภาระในการดูแลแรงงาน

สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังต่อนายจ้างทั้งภายในประเทศหรือระหว่างประเทศมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเพิ่มค่าจ้างให้ลูกจ้าง หรือการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสรรหาแรงงานข้ามชาติ ตามหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน งานที่มีคุณค่า และการสรรหาแรงงานอย่างมีจริยธรรม ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการประกอบธุรกิจในสภาพเศรษฐกิจโลกขณะนี้ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมตามศักยภาพธุรกิจและทันท่วงที

 

"การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลชุดใหม่ของไทย จำเป็นต้องมีการบูรณาการในทุกมิติและข้ามกระทรวง เพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยรัฐจำเป็นต้องมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกมากกว่าเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข นโยบายของรัฐจำเป็นต้องคำนึงถึงมิติความมั่นคงของมนุษย์เทียบเท่ากับความมั่นคงของรัฐ ไปพร้อมกับการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน และดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่มีความสมดุล เข้าใจ ให้เกียรติ และเคารพซึ่งกันและกันในสังคม" นายเอกสิทธิ์กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ