ข่าว

'เคบายา' ชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ ครม.เสนอขึ้นทะเบียน ยูเนสโก เป็น มรดกโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ครม.เห็นชอบเสนอ ชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ 'เคบายา' ขึ้นทะเบียน ยูเนสโก ร่วมกับ 4 ประเทศอาเซียน เป็น มรดกโลก ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ครม.เห็นชอบเสนอชุดเสื้อเคบายา (Kebaya) ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ร่วมกับ ประเทศมาเลเซีย, บรูไน, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ

 

\'เคบายา\' ชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ ครม.เสนอขึ้นทะเบียน ยูเนสโก เป็น มรดกโลก

 

ทั้งนี้ ในรายงานเอกสารที่ทำส่งต่อยูเนสโก มีชื่อว่า เคบายา : ความรู้ ทักษะ ประเพณีและการปฏิบัติ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลในภาพรวมเสื้อเคบายาของทุกประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยได้ระบุถึงการสืบทอด โดยถ่ายทอดทักษะในการทำเสื้อเคบายาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการนำไปใช้ในงานประเพณีพิธีกรรมและงานเทศกาล การจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ งานวิจัย และนำเสนอความรู้ในสื่อสิ่งพิมพ์สื่อดิจิทัล รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในการสงวนรักษาของชุมชน ซึ่งมีรายละเอียด อาทิ

 

เคบายา เป็นชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ “ไทย - เพอรานากัน” หรือ “ บาบ๋า – ย่าหยา” สามารถพบได้ในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล สตรีพื้นเมืองจะนำมาสวมใส่ทั้งงานทางการ งานสังสรรค์ และงานเทศกาลต่างๆ โดยเชื่อมโยงไปถึงชุมชนและกลุ่มต่างๆ เช่น ช่างฝีมือ นักออกแบบ สมาคมธุรกิจ นักสะสม และกลุ่มศิลปะการแสดง ที่ผ่านมา เคบายา ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2555 โดยมีความสอดคล้องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ

 

สำหรับคุณสมบัติของเคบายา ชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ที่ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก อาทิ เคบายาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยมักจะมีการสวมใส่ในโอกาสสำคัญต่างๆ รวมถึงการสวมใส่สำหรับแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การเต้นรำแบบดั้ง เดิมและร่วมสมัย นอกจากนี้ การทำเสื้อเคบายาต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะด้าน เช่น การออกแบบ การเลือกและการตัดผ้าและส่วนประกอบ การตัดเย็บ การปักแบบต่างๆ ส่วนมาตรการสงวนรักษาของไทย อาทิ

 

  1. การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
  2. ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อเคบายาอย่างต่อเนื่อง
  3. สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อเคบายาให้อยู่ในสังคมร่วมสมัย
  4. สนับสนุนเงินทุนและการสนับสนุนเชิงเทคนิคให้กับชุมชน ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและใช้งานเสื้อเคบายา เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการรักษาวัฒนธรรมเคบายาจากรุ่นสู่รุ่น

 

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกร่วม “เคบายา” ครั้งนี้ จะเป็น Soft Power อย่างหนึ่งของไทย นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลกที่เป็นตัวอย่างในความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ทั้งนี้ การเสนอรายการมรดกร่วม “เคบายา” กับ 4 ประเทศ ถือเป็นครั้งแรกของไทย

 

เสื้อเคบายา แบ่งเป็น 3 แบบ 3 ยุค แต่ละยุคจะมีรูปแบบที่สัมพันธ์กับกระแสแฟชั่น และเทคโนโลยีในแต่ละช่วงเวลา

 

  1. เคบายาลินดา โดดเด่นด้วยการใช้ผ้าลูกไม้ นิยมในช่วงประมาณ พ.ศ. 2463 - 2473 ใช้ผ้าป่านรูเบียชนิดหนาหลากสีในการตัดเย็บ สาบเสื้อ และริมสะโพกจะมีลายดอกทำจากผ้าลูกไม้ยุโรป ตัวเสื้อไม่มีกระดุม จะใช้เครื่องประดับในการกลัดติดแทน
  2. เคบายาบีกู โดดเด่นด้วยการใช้เทคโนโลยี การฉลุลายนิยมในช่วงประมาณ พ.ศ. 2473 – 2483 เสื้อจะมีการฉลุลายเล็กๆ ริมขอบสาบเสื้อด้านหน้า รอบสะโพกจะมีการตัดเย็บคล้ายการคัตเวิร์ค เคบายาบีกูเป็นรุ่นที่ได้รับการพัฒนามาจาก เคบายาลินดา เนื่องจากความเจริญทางด้านเทคโนโลยี เริ่มมีการผลิตจักรเย็บผ้าที่สามารถฉลุลายผ้าได้ ทำให้รูปแบบของเสื้อเปลี่ยนไป
  3. เคบายาซูเลม โดดเด่นด้วยสีสันและลายฉลุที่ซับซ้อน นิยมในช่วงประมาณ พ.ศ. 2483 – 2500 ลักษณะคล้ายเคบายาบีกู แต่มีการฉลุลายที่ประณีตงดงามมากยิ่งขึ้น และเน้นสีสันสวยงาม เริ่มปรากฏการใช้แพร่หลายในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังความนิยมเริ่มลดลง และกลับมาเริ่มฟื้นฟูอีกครั้งในช่วงที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านวัฒนธรรมมากขึ้น ทำให้วัฒนธรรมแบบบาบ๋าในภูเก็ตเริ่มเป็นที่รู้จักอีกครั้ง

 

เสื้อเคบายาไม้ได้เป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่มวัฒนธรรมเพอรานากันเท่านั้น แต่ยังถือเป็นแฟชั่นล้ำสมัยของบรรดาสาวๆ ในคาบสมุทรมลายู ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปีนัง สิงคโปร์ ภูเก็ตรวมถึงทางตอนใต้ของไทย และฮอตฮิตข้ามเวลามาถึงยุคแห่งการท่องเที่ยวในปัจจุบัน

 

ภาพ : Queen Sirikit Museum of Textiles / ผ้าไทย-เอเชียโบราณ By Hatyai Performing Arts

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ