ข่าว

'วันช้างไทย 2566' กับวิกฤต ช้างไทย ที่รอวันเยียวยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

13 มีนาคม 'วันช้างไทย' วันช้างไทย 2566 กับวิกฤต ช้างไทย ที่รอวันเยียวยา จากรัฐบาล เมื่อปริมาณช้างหายไปเท่ากับหนึ่งช่วงอายุขัย

จากภาพสุดสะเทือนใจ ของ “ช้างไพลิน” วัย 71 ปี ที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand: WFF) เผยแพร่ออกมา ที่บ่งบอกความผิดปกติของรูปร่าง โดยกระดูกสันหลัง ได้เสื่อมสภาพลงไปแบบตามกาลเวลา แต่ทว่า มันผิดรูป ผิดปกติไปมากๆ และเสียหายถาวร นั่นก็เป็นเพราะ ในอดีต ช้างไพลิน เป็นช้างที่ถูกมนุษย์นำตัวมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แบกนักท่องเที่ยวขึ้นหลังเดินป่า มานาน 25 ปี บางรอบอาจมีนักท่องเที่ยวมากถึง 6 คน นอกจากนี้ ยังต้องแบกควาญช้างและสัปคับ (ที่นั่งบนหลังช้าง) ตลอดเวลา

 

และทุกวันที่ 13 มีนาคม ถูกกำหนดให้เป็น “วันช้างไทย” ด้วยเพราะเล็งเห็นว่า หากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น จะช่วยให้ประชาชนคนไทย หันมาสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลืออนุรักษ์ช้างมากขึ้น นอกเหนือไปจากเกียรติที่ช้างเคยได้รับในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือกในธงชาติ หรือช้างเผือกที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ หรือสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศไทยมีวันช้างไทยเกิดขึ้น นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญอีกครั้ง

ช้างไพลิน

วันช้างไทย 2566 กับวิกฤต ช้างไทย

 

นายธีรภัทร ตรังปราการ ประธานสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ให้ข้อมูลว่า จำนวนช้างบ้านในประเทศไทย มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี พ.ศ. 2500 มีช้างภายในประเทศราว 12,500 เชือก แต่ในปัจจุบันปี พ.ศ. 2565 ช้างในประเทศไทยเหลือเพียง 3,800 เชือก จำนวนช้างลดลงกว่า 70% ในช่วง 65 ปี หรือปริมาณช้างหายไปเท่ากับหนึ่งช่วงอายุขัย จะเห็นว่าช้างไทยกำลังเข้าสู่วิกฤต

 

ในจำนวนช้างกว่า 3,800 เชือก แบ่งเป็นช้างภายใต้ความดูแลของชาวบ้าน ควาญช้าง และเอกชน (ปางช้าง) ประมาณ 3,200 เชือก ขณะที่ช้างในความดูแลของภาครัฐมีประมาณ 100 เชือกเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นช้างในองค์การส่วนสัตว์ บางส่วนเป็นช้างขององค์กรหรือมูลนิธิ ขณะที่ช้างอีก 200-300 เชือก เป็นช้างที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีและมีการการันตีรายได้ให้ควาญช้าง

ช้างไทย

ส่วน สถานการณ์ช้างป่า ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในไทย ปัจจุบันมีประมาณ 3,168-3,440 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม พบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200-300 ตัว

 

โดยกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่ามาก ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นต้น

ช้างไทย

แต่ในทางกลับกัน พื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งที่เป็นถิ่นอาศัยของช้างป่ากลับ “เริ่มขาดแคลนพืชอาหาร แหล่งน้ำ พื้นที่เป็นภูเขา มีความลาดชันสูง ทำให้สภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่ามีขนาดลดลงจากเดิม” เนื่องจากผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อาศัยของช้างป่าดังกล่าว ไม่เชื่อมโยงกัน ถูกแบ่งแยก ตัดขาดออกจากกัน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน

 

“ถ้าเราตั้งใจให้ช้างคงอยู่คู่ประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับความสามารถในการเลี้ยงดูช้างของภาคเอกชน เป็นที่มาว่าไม่ว่าจะเลี้ยงช้างกี่เชือก แต่ละคนต้องเอาตัวรอดเลี้ยงดูให้ได้ แต่ละที่ไม่ใช่คู่แข่ง เราต่างหากเป็นจิ๊กซอว์คนละชิ้นที่มาปะติดปะต่อร่วมกันจนได้ภาพความสำเร็จ หมายความว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่องค์กรใดองค์กรหนึ่งบอกว่าฉันอนุรักษ์ช้างคนเดียว ไม่มีทางสำเร็จ” 

 

ที่มา : thaielephantalliance

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ