ข่าว

เตรียมใช้ "บัตรประชาชน" ซื้อ "ช่อดอกกัญชา" คาด เริ่มใช้ ม.ค.66

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมแพทย์แผนไทยฯ เตรียมใช้ "บัตรประชาชน" ในการซื้อ "ช่อดอกกัญชา" เป็นฐานตรวจสอบข้อมูลในระบบแบบเรียลไทม์ คาด เริ่มใช้ ม.ค.2566

(15 ธ.ค. 2565) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ประกาศให้ "ช่อดอกกัญชา" เป็นสมุนไพรควบคุม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดขั้นตอนการใช้โปรแกรม การส่งต่อข้อมูลการขายช่อดอกกัญชาแห้งในร้านค้าที่ได้รับอนุญาตแล้ว โดยกำหนดให้เจ้าของร้าน ต้องแจ้งปริมาณกัญชาที่ครอบครอง แหล่งข้อมูลสถานที่ที่ซื้อและขายไป

      

ส่วนคนซื้อต้องมีอายุเกิน 20 ปี ต้องเสียบบัตรประชาชน เพื่อเป็นฐานข้อมูลเชื่อมโยงกับระบบของกรม ให้สามารถตรวจสอบข้อมูลในระบบได้แบบเรียลไทม์ สร้างความมั่นใจให้คณะกรรมการควบคุมสารเสพติดนานาชาติ (INCB) ที่มีความห่วงกังวลเรื่องการควบคุมการขายช่อดอกกัญชา

 

 

"เมื่อมีระบบนี้ ก็สามารถรายงานให้ INCB ได้อย่างชัดเจน และสร้างความมั่นใจให้หน่วยงานระหว่างประเทศ เรื่องการควบคุมจำหน่ายช่อดอกกัญชาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่า จะนำระบบดังกล่าวมาใช้กับร้านค้าที่ได้รับอนุญาตให้ขายในเดือน ม.ค. 2566 ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับการอนุญาตเป็นร้านขายแล้ว 5,000 แห่ง เฉพาะ กทม. มีราว ๆ 2,000 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในย่านการท่องเที่ยวหนาแน่น เช่น ทองหล่อ ถนนข้าวสาร เป็นต้น" นพ.ธงชัยกล่าว 

 

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะยังไม่มี พ.ร.บ.กัญชากัญชง แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ใช้ประกาศตามอำนาจของแต่ละกรมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ ซึ่งมีความหลากหลาย แต่ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ถ้าจะให้ดีต้องมี พ.ร.บ.เฉพาะออกมาควบคุม ในข้อที่ยังเป็นกังวล อาทิ  การควบคุมการสูบกัญชาในที่สาธารณะ ที่บังคับใช้ยาก ต้องให้มีผู้ร้องเรียนก่อน ถึงดำเนินการได้ แต่ถ้ามี พ.ร.บ.ออกมา ก็จะสามารถควบคุมได้อย่างชัดเจนขึ้น เพราะเขียนว่าห้ามสูบในที่สาธาณรณะ

 

ขณะที่ประกาศกรมการแพทย์แผนไทยฯ เรื่องการคุมช่อดอกกัญชา ยังมีช่องโหว่บางเรื่อง เช่น  สามารถบังคับใช้กับผู้ที่ขออนาตเท่านั้น

 

สำหรับสาระสำคัญของประกาศช่อดอกกัญชากัญชงเป็นสมุนไพรควบคุม

 

  1. ห้ามใช้ช่อดอกไปศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่ายหรือแปรรูปก่อนได้รับอนุญาต ซึ่งจำหน่ายหมายรวมถึง ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ผู้ที่ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. ห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุ ต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา
  3. ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานประกอบการ เว้นแต่เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อการรักษาผู้ป่วยของตน
  4. ห้ามจำหน่ายเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์
  5. ห้ามโฆษณาในทุกช่องทางเพื่อการค้า
  6. ห้ามสูบในสถานที่ต้องห้าม ได้แก่ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก ส่วนสถานศึกษานั้นมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดไว้อยู่แล้ว 
  7. ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ห้ามนำช่อดอกมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ