Lifestyle

คลายปม"มิดะ- ลานสาวกอด"ชนเผ่าอาข่าผู้ถูกสังคมพิพากษา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภูเขาอันล่าชัน เส้นทางที่คดเคี้ยว สองฝั่งตลอดเส้นทาง รายรอบด้วยสุมทุมพุ่มไม้เขียวขจี นี่คือหนทางนำไปสู่หมู่บ้านชาวอาข่า ที่ล้อมรอบด้วยป่าไม้อุดมสมบูรณ์ หมู่บ้านแสนเจริญ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

 ชาวบ้านอาข่าดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย สงบสุข แต่ภายใต้ความร่มเย็น ณ ที่แห่งนี้ แอบซุกซ่อนความขมขื่นจากคำพิพากษาของสังคมว่า เป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมผิดแปลกไปจากสังคมไทยทั่วไป ด้วยบทเพลง "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" ของ จรัล มโนเพ็ชร บทเพลงที่ถ่ายทอดเรื่องราวของมิดะ หญิงสาวผู้สอนกามโลกีย์ให้เด็กหนุ่มในหมู่บ้าน และ "ลานสาวกอด" คือสถานที่ที่สามารถกอดสาวได้ตามใจชอบ กลายเป็นปมที่ฝังรากลึกที่ยากจะเข้าใจถึงความรู้สึกของชาวอาข่า

 สมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม บอกว่า กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่ง นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดให้มีเวทีสานเสวนา "คลายปมมิดะและลานสาวกอด : มายาคติอาข่าในสังคมไทย" ขึ้น ณ ลานวัฒนธรรมบ้านแสนเจริญ ต.วาวี อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาข่า "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" ผ่านสื่อสาธารณะ ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ได้เชิญ ผู้นำชาวอาข่า คือ อาจู จูเปาะ ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย นักวิชาการที่มีความรู้ในเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันเสวนา

 "ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงไปถึงความเข้าใจในพหุวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" ผ่านสื่อสาธารณะ ซึ่งจะทำให้เกิดความยอมรับในสิทธิความเป็นมนุษย์ และสิทธิทางวัฒนธรรมของชาวอาข่า อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมต่อไป" ปลัด วธ. กล่าว

  ด้าน อาจู จูเปาะ วัยกว่า 50 ปี ประธานชมรมอาข่าในประเทศไทย(ผู้นำจิตวิญญาณของชาวอาข่า) บอกว่า บทเพลง "มิดะ" เนื้อร้องได้ผลิตภาพลักษณ์ตามสื่อต่างๆ ทั้งบทเพลง หนังสือ การ์ตูน ภาพยนตร์ เกิดเป็นวาทกรรม "มิดะ" "กะลาล่าเซอ" และ "ลานสาวกอด" ขึ้นโดยไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทำให้ภาพลักษณ์ของ "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" กลายเป็นภาพตัวแทนทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวอาข่าที่ไม่ถูกต้อง และมีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยที่มีต่อชาวอาข่าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องเพศ คนไทยที่ชื่นชอบบทเพลงนี้จะมีจินตภาพตามเนื้อหาเพลง ทำให้ชุมชนอาข่าในสายตาสังคมไทยเป็นชุมชนที่อบอวลไปด้วยเรื่องเพศ บางคนเมื่อนึกถึงหมู่บ้านอาข่า ก็ปรารถนาจะไปเยือน "ลานสาวกอด" และสนใจเสาะหาว่าหญิงอาข่าคนใด คือ "มิดะ" บางคนคิดว่าชุมชนอาข่าเป็นชุมชนที่เสรีทางเพศ ถ้าชายหนุ่มอยากกอดหญิงสาวก็หาได้ง่ายที่ "ลานสาวกอด" หรือถ้าไม่ชำนาญการทางเพศ ก็มี "มิดะ" ช่วยฝึกสอนให้

 "มิดะ" ถูกสร้างให้หมายถึง ตำแหน่งผู้หญิงอาข่าที่ทำหน้าที่สอนหนุ่มรุ่นใหม่ในหมู่ชุมชนให้รู้จักวิธีปฏิบัติทางเพศต่อสตรี แต่ความจริงในทางปฏิบัติ "มิดะ" ในภาษาอาข่าออกเสียงว่า "หมี่-ดะ" หมายถึง หญิงสาวบริสุทธิ์ที่ยังไม่เคยผ่านการแต่งงานมาก่อน และในสังคมของชาวอาข่าไม่เคยมีหญิงหรือชายวัยกลางคนที่มีหน้าที่สอนเรื่องเพศให้แก่หนุ่มสาวเช่นนี้ ส่วน "ลานสาวกอด" คือลานกิจกรรมที่ชาวอาข่าใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ อีกทั้งใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมยามว่างร่วมกัน เสมือนเป็นลานปัญญาประจำหมู่บ้าน เพื่อเกิดความรักสามัคคีกันของคนในหมู่บ้าน  

 "เราไม่ได้คิดว่าเราจะไปตามทำลายสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เราขอเพียง ณ ปัจจุบัน สื่อต่างๆ ไม่นำเนื้อความที่เข้าใจผิดทั้งหมดเกี่ยวกับ "มิดะ" และ "ลานสาวกอด" ไปผลิตซ้ำตีแผ่ต่อสาธารณะให้เกิดความเข้าใจผิดต่อไป พวกเราก็พอแล้ว" อาจู กล่าวปนเสียงสั่นเครือ

 พรเพ็ญ แซ่ดู่ สาวโสดวัย 27 ปี หนึ่งในหมี่ดะในหมู่บ้านแสนเจริญ บอกว่า การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นความเจ็บปวดที่ไม่อาจหาสิ่งใดมาเยียวยาได้ เพราะสิ่งที่สังคมหยิบยื่นให้ชาวอาข่า เป็นสิ่งที่ทุกคนในโลกไม่ปรารถนาให้คนอื่นมาดูถูกว่าเราเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมผิดแปลกจากสังคมอื่น ถูกสังคมมองว่า เราเป็นสัญลักษณ์ของกามโลกีย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบในหลายด้านในการดำรงอยู่ในสังคมแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินชีวิตของชาวอาข่า ความสัมพันธ์ของชาวอาข่ากับสังคมภายนอก และที่สำคัญด้านจิตใจของชาวอาข่า ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นชนเผ่าที่ถือเอาเรื่องเพศเป็นวิถีการดำเนินชีวิต

 "เรื่องราวที่เกิดขึ้นบนสื่อทั้งหมด เหมือนเป็นการตีกรอบให้แก่ผู้หญิงอาข่า เมื่อออกไปทำงานก็ต้องโดนสังคมดูถูกว่าต้องมาขายบริการทางเพศเท่านั้น ไม่สามารถทำอาชีพอื่นได้ จนทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะเปิดเผยว่าตนเองเป็นชาวอาข่า เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม"  หมี่ดะพรเพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย

  0 ขวัญเรียม  แก้วสุวรรณ 0 รายงาน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ