คอลัมนิสต์

 ส่องเนื้อหาอภิปรายซักฟอก รบ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซักฟอก รบ.ฝ่ายค้านรุมซัดทุกเม็ดปมนายกฯถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ประยุทธ์ แจงสภาฯนาน 25 นาที มีแต่เรื่องที่มางบฯตามนโยบายรัฐบาลที่แถลง แต่ไม่ยอมแจงปมถวายสัตย์

         ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านใช้สิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งมี 2 ประเด็นที่จะซักถามและเสนอแนะ คือ 1.การกล่าวนำถวายสัตย์ปฏิญานตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ครบถ้วน และ 2.การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ซึ่งไม่ชี้แจงรายละเอียดของงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการตามนโยบายไม่ละเอียดครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 กำหนด

       

 

 

   

     ผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ คำปฏิญาณนายกฯขาดถ้อยคำสำคัญ      

     นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน ระบุว่า คำปฏิญาณของนายกฯขาดถ้อยคำสำคัญ คือ "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”  อีกทั้งยังกล่าวถ้อยคำเพิ่มเติมขึ้นมาอีก คือคำว่า “ตลอดไป”  คือ จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน“ตลอดไป” ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

      การถวายสัตย์ปฏิญาณ คือ การให้คำสาบานต่อองค์พระประมุขก่อนเข้ารับหน้าที่ มีหลายพิธีกรรมในสังคมไทยที่กระทำเช่นนี้ และหลายๆ ประเทศก็มี เช่น การสาบานตนก่อนเข้าเป็นประธานาธิบดี ฉะนั้น การถวายสัตย์ต่อหน้าสถาบันหลักของประเทศจึงเป็นสาระสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่

      สมพงษ์ ยังอ้างถึง วิษณุ เครืองาม เคยเขียน “เรื่องเล่าจากเนติบริกร” เล่ม 3 “หลังม่านการเมือง” ที่เขียนไว้ชัดว่าการถวายสัตย์ ต้องเปล่งวาจาตามที่กฎหมายกำหนด จะพูดน้อยหรือยาวกว่านี้ไม่ไ่ด้

      ผู้นำฝ่ายค้านยัง ตั้งประเด็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์หลายครั้งแล้ว จึงน่าสงสัยว่าการเปล่งถ้อยคำไม่ครบถ้วนในครั้งนี้ มีเจตนาไม่ใช้เอกสารของสำนักนา่ยกฯจัดให้ หรือเจตนาไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะชี้แจงว่าอย่างไร

       ผู้นำฝ่ายค้าน ยังอภิปรายถึงคำแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ แม้จะคัดค้านไปแล้วก็เพิกเฉย ยกตัวอย่างหลายนโยบายที่เขียนแล้ว ไม่มีการระบุที่มาของงบประมาณ และไม่ได้บอกว่าจะนำรายได้มาจากไหน

        สมพงษ์ สรุปว่า นายกฯไม่มีวุฒิภาวะ ไม่ฟังคำท้วงติงของผู้หวังดีทุกฝ่าย ไม่ยอมรับว่าตนเองทำสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ก่อความเสียหายเป็นลูกโซ่ ทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่น จงใจทำผิดรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสำคัญของบ้านเมือง การยอมรับนับถือจึงไม่มี ประเทศที่ผู้นำและคณะรัฐมนตรีไม่ได้รับการยอมรับนับถือ มีมลทินเช่นนี้ จะนำพาประเทศไปได้อย่างไร

       อนุดิษฐ์  ขอให้นายกฯใช้ความกล้าหาญ ลุกขึ้นเปล่งเสียงชัดๆ “ผมขอลาออก”

    . น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายต่อว่า  การถวายสัตย์เป็นขนบธรรมเนียมที่ถูกต้องและเป็นสากล การถวายสัตย์ปฏิญาณ บัญญัติในครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    การถวายสัตย์ คือ การให้คำมั่นสัญญาก่อนเข้ารับตำแหน่งต่อองค์พระประมุขและพี่น้องประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย กิจการใดๆ ของรัฐบาลใดๆ ที่กระทำหลังถวายสัตย์ไม่สมบูรณ์ ก็จะไม่สมบูรณ์ตามไปด้วย

    น.อ.อนุดิษฐ์ อภิปรายยกตัวอย่าง บารัค โอบามา ก็เคยกล่าวสาบานตนไม่ครบ ก็ต้องพูดใหม่มาแล้วและยกตัวอย่างการถวายสัตย์ สาบาน ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ก่อนบวชเป็นพระ  การเป็นพยานในศาล ทั้งหมดมีรูปแบบตามหลักศาสนาและกฎหมายต้องปฏิบัติตาม

   น.อ.อนุดิษฐ์ ตั้งคำถามว่า การตัดถ้อยคำประโยคสุดท้าย ไม่ถวายสัตย์ให้ครบ แปลได้ไหมว่านายกฯไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ดำเนินนโยบายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ก็ได้ หรือไม่จัดให้มีการเรียนฟรี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ได้

      น.อ.อนุดิษฐ์ สรุปว่า เมื่อการถวายสัตย์ฯไม่สมบูรณ์ ครม.ก็จะเข้ารับหน้าที่ไม่ได้ และการกระทำของรัฐบาลหลังจากนั้นมาก็ไม่สมบูรณ์ ข้อเสนอแนะคือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออก ถือเป็นประเพณีการแสดงความรับผิดชอบที่นานาอารยประเทศทำกัน ขอให้ใช้ความกล้าหาญ ลุกขึ้นเปล่งเสียงชัดๆ “ผมขอลาออก” แค่นี้แสงสว่างก็จะเกิดกับประเทศชาติของเราทันที ทำให้คนไทยสักครั้ง

      ‘ปิยบุตร’ ชี้ นายกฯไม่แยแสรัฐธรรมนูญ

        นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ่้นอภิปรายว่า ความสำคัญ 3 ประการ ของการกล่าวปฏิญาณตามถ้อยคำที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ว่า 1.เป็นเงื่อนไขของการเข้ารับตำแหน่งก่อนทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นเส้นแบ่งเวลาการทำงานระหว่างรัฐบาลชุดเก่ากับรัฐบาลชุดใหม่ 2. เป็นการยืนยันของความเป็นหลักกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และ 3.การให้คำสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์และประชาชน ซึ่งมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับปี 2492 เรื่อยมาจนถึงฉบับปัจจุบัน ที่มีถ้อยคำลักษณะเดียวกันนี้

        “นายกฯ กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ถ้อยคำที่หายไปคือ ”ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ“ หมายความว่า นายกฯ จะเข้ารับหน้าที่โดยไม่รักษาไว้และไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กำหนดไว้หรือไม่ เป็นสิ่งที่คนเคลือบแคลงสงสัย อีกทั้ง ได้ตรวจสอบการถวายสัตย์ฯ 5 ครั้ง พบว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวนำปฎิญาณถวายสัตย์ครบถ้วนทั้งหมด แต่ในครั้งวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายกฯ กลับอ่านไม่ครบถ้วน ผมนิยามว่า เป็นอาการของโรคไม่แยแสรัฐธรรมนูญ เพราะนายกฯ ไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ และยังเป็นโรคที่ไม่รับผิดชอบ ขาดความเป็นผู้นำจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ ที่บอกว่าพูดจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว จึงตั้งคำถามว่าท่านจะรับผิดชอบแบบไหนในทางการเมือง”นายปิยบุตร กล่าว

     นายปิยบุตร อภิปรายต่อว่า ขอเตือนสตินายกฯว่า ควรจะยุติพฤติกรรมไม่เคารพ และไม่แยแสรัฐธรรมนูญได้แล้ว ไม่อย่างนั้นวันดีคืนดีท่านก็จะกลายเป็นอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์เสียเอง แล้วบอกว่าอะไรคือข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญ ขณะที่คนอื่นต้องปฏิบัติตาม แต่พวกท่านยกเว้นได้ ทั้งนี้ แม้นายกฯเคยออกมายอมรับ และระบุว่าจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว แต่จนขณะนี้ท่านก็ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบอะไรเลย และตอนนี้ในโลกโซเชียลได้ตั้งฉายาให้ท่านแล้วว่า“ เป็นบิดาแห่งการยกเว้น”

       จากนั้น นายปิยบุตร ได้เข้าสู่การสอบถามข้อเท็จจริง 4 ข้อถึง พล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ  1. นายกรัฐมนตรีได้อ่านคำถวายสัตย์ปฏิญาณจากกระดาษแข็งนั้น เตรียมมาเองใช่หรือไม่ เพราะเหตุใดจึงไม่อ่านจากที่เจ้าหน้าที่เตรียมให้ 2. หากมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลาออก ต้องนำรัฐมนตรีคนใหม่เข้าเฝ้าฯ นายกรัฐมนตรีจะกล่าวนำด้วยข้อความอย่างไร ถ้อยคำตามมาตรา 161 หรือตามที่เคยกล่าวไปเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา 3. ถามความเห็น นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ หากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน มีความเห็นอย่างไร ทำได้หรือไม่ และ 4. ถามนายวิษณุ ในฐานะที่เข้าร่วมการถวายสัตย์ปฏิญาณหลายครั้ง เคยเห็นนายกรัฐมนตรีคนใดทำแบบ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ มีความเห็นว่าทำได้หรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ

         นายปิยบุตร กล่าวในช่วงท้ายว่า นายกรัฐมนตรีนำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ โดยไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ นั้น ขอเรียกร้องให้นายวิษณุ กลับมาเป็นคนเดิม ยุติการให้ความเห็นความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากเรือแป๊ะ ออกมาอยู่ในความยุติธรรม

      “ผมไม่ต้องการทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ คนเก่า และ พล.อ.ประยุทธ์ คนใหม่แล้ว ผมไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการถวายสัตย์การปฏิญาณไม่ครบถ้วน ผมขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง” นายปิยบุตรกล่าว

     เสรีพิศุทธ์ จี้ นายกฯลาออก

   ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทย์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้อภิปรายว่า การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ ของพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวนำเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ถือว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และอาจเข้าข่ายละเมิด ลบหลู่สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนด้วย ทั้งนี้การใช้เอกสารที่กล่าวคำถวายสัตย์ที่เตรียมมาเองนั้น ถือว่า ใช้เอกสารปลอม และตนเชื่อว่าจะเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์ปลอมด้วย โดยหลังกล่าวคำถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน นักข่าวพยายามสอบถามนายกฯ มาตลอด แต่ท่านไม่ตอบ บอกแค่ว่า จะรับผิดชอบเอง พร้อมบอกห้ามถามต่ออีก แต่ที่ผ่านมานายกฯไม่ได้ทำอย่างที่บอก จึงอยากให้ใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ ใน 36 คนของ ครม. ที่มีสำนึกต่อชาติ ออกมารับผิดชอบทางการเมือง ผมยืนยันว่า เรื่องนี้ของฝ่ายค้าน ไม่ใช่เรื่องการเมือง

     พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อภิปรายต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองเมื่อปี 2557 ดังนั้นกรณีที่ไม่ยอมกล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ที่ว่า จะรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ แสดงว่า จิตใต้สำนึกนายกฯไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ไม่สนใจ และไม่ยึดมั่นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนขอสงสัยว่า นายกฯอาจคิดทำปฏิวัติรัฐประหารอีก ถึงไม่กล่าวคำดังกล่าว อย่างไรก็ตามเมื่อนายกฯกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ย่อมแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้

      “ผมขอฝากแนะนำพล.อ.ประยุทธ์ ฐานะเป็นรุ่นพี่ ที่ขอแนะนำนายกฯรุ่นน้อง แม้ท่านจะตัดผมออกไป แต่ผมไม่ได้ตัด คือให้เอาอย่างป๋าเปรม ที่เคยพูดว่าผมพอแล้วครับ ลาออกเถอะครับ” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวในการอภิปราย

         นายกฯ แจง 25 นาที ที่มางบประมาณตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ แต่ไม่มีเรื่องปมถวายสัตย์

     พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกฯ ลุกขึ้นชี้แจงถึงที่มาของงบประมาณที่นำมาบริหารประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยยืนยันว่า การบริหารงบประมาณรัฐบาลเคารพ พร้อมทั้งดำเนินการตามนโยบายเงินการคลังอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงผลดีผลเสียในการดำเนินการ มีการดูแลประชาชนทุกภาคส่วนทั้งประเทศ ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองก่องบผูกพันจนเป็นภาระของงบประมาณ และคำนึงถึงผลดีผลเสียในการดำเนินการมีการดูแลประชาชนทุกภาคส่วนทั้งประเทศไม่ใช่ดูแลเฉพาะพื้นที่พรรคของตัวเองเท่านั้น ส่วนประเด็นที่มาของรายได้นั้น รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีนโยบายหลัก 12 ด้าน และมีนโยยายเร่งด่วนอีก 12 ด้าน โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังรีดภาษีประชาชนโดยจัดเก็บภาษีอย่างเท่าเทียม ยุติธรรม ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายวินัยการเงินการคลัง รวมถึง พรบ.งบประมาณ พ.ศ.2561

        นายกฯกล่าวต่อว่า นโยบายหาเสียง แม้จะหาเสียงกันมาอย่างไรก็ตาม ตรงนั้นถือเป็นความต้องการของประชาชน และเป็นความตั้งใจของพรรคการเมือง แต่เมื่อเป็นรัฐบาลก็ต้องดูในรายละเอียดตรงนี้ให้ดีที่สุดว่าทำได้หรือไม่อย่างไร ได้รวบรวมนโยบายของทุกพรรคการเมืองซึ่งมีความหลากหลายคล้ายคลึงกัน จัดกลุ่มอยู่ในนโยบาย 12 ด้าน ซึ่งรับนโยบายของทุกพรรคไม่เฉพาะแค่ของรัฐบาล แต่ถ้าตั้งวงเงินทั้ง 12 ด้าน จะใช้เงินมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลต้องบริหารงบประมาณที่มีอยู่เช่นปีนี้ตั้งไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการใช้จ่ายแต่ละด้านอยู่แต่หากนำนโยบายทั้ง 12 ด้านมาบวกเพิ่มเราต้องหาเงินให้ได้ 5-6 ล้านล้านบาท จึงต้องซอยย่อยนโยบายออกมาแล้วทั้งหมดจะตอบตอนที่ทำงบประมาณปี 2563 ก็จะดูว่าจะนำเงินจากไหนมาใช้ตรงไหน ดังนั้นการเดินหน้าตามนโยบายต้องไปทีละขั้น เพราะต้องดูแลคนทุกภาคส่วนทั้งประเทศไม่ใช่ดูแลแต่เฉพาะพื้นที่พรรคของท่าน รัฐบาลนี้ไม่ได้มองอย่างนั้นเลย

         พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า    เรื่องที่ฝ่ายค้านระบุว่ารัฐบาลนี้ก่อนหนี้สาธารณะเยอะ จำเป็นต้องชี้แจงในเรื่องนี้ เพราะฝ่ายค้านหยิบยกมาพูดในบางประเด็นเท่านั้น ต้องพูดในภาพรวม เมื่อสมัยรัฐบาลปี 2556-2557 พบว่ารัฐบาลช่วงนั้นเมื่อเทียบกับรัฐบาลเมื่อปี 2558-2562 แล้ว รัฐบาลชุดดังกล่าวกู้เงินเฉลี่ย 4.8 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลนี้กู้เพียง 4.4 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ากู้น้อยกว่า ทั้งนี้ยืนยันว่าเศรษฐกิจวันนี้ไม่เหมือนปี 2540 วันนี้อยากให้ทุกคนเชื่อมั่นเศรษฐกิจของประเทศบ้าง ถ้าไม่เชื่อมั่นก็มาว่ารัฐบาล เอาตัวเลขมาจากไหน

      “ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ ตามที่มีการบอกว่าเป็นการร่างมาเพื่อผมนั้น ยืนยันอีกครั้งว่าผมไม่ได้เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.เป็นคนร่าง ผมไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับท่านเลย จำไว้ผมจะไม่ยุ่งกับเขา เมื่อสักครู่ท่านพูดคำว่า ผมไปใช้กลไกเหนือทั้ง 3 อำนาจ ผมพูดถึงกรณีมาตรา 44 ท่านอย่าเอาเฉพาะประเด็นมาพูดตรงนี้ผมพูดถึง 44 ตรงนั้นเพื่อจะปลดล็อคอะไรต่าง ๆ มันถึงได้ไงเพราะกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นท่านเอามาตี พันกันอย่างนี้ไม่ได้ ผมรับไม่ได้. อย่างไรก็ตามถึงแม้ 5 ปีที่ผ่านมาจะเป็นรัฐบาลก่อนหน้าการเลือกตั้งก็ตาม แต่ผมเคารพในหลักการของรัฐธรรมนูญทุกตัว จำเป็นต้องฟังผมบ้าง ผมไม่เคยที่จะไปล่วงละเมิด ไม่มีที่จะทำอะไรเสียหาย ”นายกฯกล่าว

     “โรม” จี้ นายกฯลาออก

ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลุกขึ้นอภิปรายว่า พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงแต่เรื่องงบประมาณ แต่ไม่อธิบายว่าการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนนั้นมีเนื้อหาสาระอย่างไร ซึ่งการที่นายกฯ ไม่อธิบายให้สังคมเข้าใจ ไม่ว่าจะเรื่องกระดาษที่หยิบออกมาอ่านในวันถวายสัตย์ฯนั้น ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่ใช้เอกสาร สิ่งนี้สำคัญ แต่นายกฯ ไม่อธิบาย เรื่องการถวายสัตย์ต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ ไม่ได้พูดว่าจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น หมายความว่าตัวรัฐธรรมนูญ นายกฯ ไม่ได้ถวายสัตย์ฯ ว่าจะรักษาไว้ บทบัญญัติเหล่านี้มีหลายเรื่องทั้งอำนาจอธิปไตยเป็นของชาวไทย สิทธิเสรีภาพของชาวไทยต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของประชาชน จึงขอฝากให้ช่วยไปบอกนายกฯ ให้ไปลาออก

    ‘วิษณุ’แจงแทนนายกฯปมถวายสัตย์

    ต่อมาวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงปมถวายสัตย์ ว่า เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่ยืนยันต่อองค์ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนแบบนี้มาหลายฉบับ กรรมาธิการที่ร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าเป็นการยืนยันให้เกิดความไว้วางใจในตัวผู้กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น นั่นคือ พระมหากษัตริย์ จึงเรียนว่า รัฐบาลอาจจะผิด ส่วนตัวก็อาจจะผิด แต่เราเข้าใจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างนั้น ในคำวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในหน้าที่ 2 บรรทัดที่ 3 ก็ระบุว่า เป็นเรื่องระหว่างคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์

    นายวิษณุชี้ต่อแจงว่า ต้องแยกการปฏิญาณตน และถวายสัตย์ปฏิญาณ เช่น ส.ส. ก่อนเข้าสภาต้องปฏิญาณตน แต่ ครม. ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณสำคัญคือมีผู้รับคำถวายสัตย์ฯ ทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ก็ไม่ได้ ต้องเอ่ยคำว่า ข้าพระพุทธเจ้า... ดังนั้นไม่มีอะไรเป็นเรื่องลับ เมื่อมีการถวายสัตย์ฯ จบลงด้วยการพระราชดำรัสตอบทุกครั้งไป ซึ่งในวันที่ 16 ก.ค. เมื่อสิ้นสุดถ้อยคำถวายสัตย์ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชดำรัสตอบ กรณีนี้ในพระราชดำรัสนั้นในท่อนแรกที่ว่า “ขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจแก่ท่าน ให้ท่านมีความมั่นใจและมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ” ไม่ต้องตีความ นี่คือพระบรมราชานุญาต และปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ไม่งั้น คสช. ก็ยังอยู่ รัฐบาลเก่ายังอยู่ รัฐบาลใหม่โมฆะ แต่ไม่ใช่แบบนั้นหลังจากนั้น มีการแถลงนโยบาย ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เหมือนทุกรัฐบาล

    นายวิษณุ กล่าวว่า ท่านอย่าฝันร้าย เพราะเหตุไม่เกิด ไม่มีปัญหาใดๆ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งคือไม่รับคำร้องทั้งหมด พร้อมคำอธิบายประกอบ เป็นความเห็นเอกฉันท์ทั้งศาล 1.เรื่องทางการเมือง 2.จบการถวายสัตย์ฯแล้วมีพระราชกระแสรับสั่ง ลงลายพระหัตถ์ ดังนั้น การถวายสัตย์ฯของครม.ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

     ส่วนเรื่องการร้องมาตรฐานทางจริยธรรม ขอชี้ช่องว่าถ้าคิดว่ามีประเด็นดังกล่าวให้ใช้รัฐรรมนูญไปร้องที่ ป.ป.ช. ไม่ใช่ผู้ไต่สวนอิสระ แล้วป.ป.ช. จะไปร้องต่อศาลฎีกา ก็เป็นไปตามขั้นตอน จึงไม่มีอะไรต้องวิตก ทุกอย่างดำเนินการตามปกติ รัฐบาลมีหน้าที่เดียว คือก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานไปด้วยกำลังใจมุ่งมั่นปฏิบัติตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ตามพระบรมราโชวาท และพรที่ได้รับพระราชทาน.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ