คอลัมนิสต์

แล้วยังไงต่อ..ศาล รธน.ไม่รับวินิจฉัยปมถวายสัตย์ฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องปมถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญของนายกฯและครม. ยังจะคงเป็นปัญหาต่อไป แม้ว่าศาล รธน.จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้วก็ตาม

      เกินความคาดหมายพอสมควรกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับวินิจฉัยกรณีมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยปมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญระบุไว้  เพราะว่าก่อนหน้านี้หลายคนคาดหมายว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยออกมาในทางใดหนึ่ง อาทิ วินิจฉัยว่าการถวายสัตย์ของนายกฯและคณะรัฐมนตรีสมบูรณ์แล้วเพราะเหตุใด หรือหากไม่สมบูรณ์ ทางคณะรัฐมนตรีจะต้องทำอย่างไรต่อไป  ซึ่งจะมีข้อดีในแง่ที่ว่าจะเป็นบรรทัดฐานหรือแนวปฏิบัติหรือหลักยึดได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญ มีสถานะเป็น“ศาล” ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีด้วย  ซึ่งดีกว่าการปล่อยให้นายกฯหรือคณะรัฐมนตรี ตัดสินใจเอาเองว่าจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรในกรณีที่เกิดปัญหานี้ขึ้น

 

     แต่อย่างไรก็ตามเมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็น“การกระทำทางการเมือง”(Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหาร ในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์ อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Goverment) 

    ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่  และหลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน

  และต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562  นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี ได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ณ ห้องรับรอง ชั้น 5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

  " การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าว จึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ" 

   คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยโดยเหตุผลข้างต้น  ทุกคนต้องให้ความเคารพและน้อมรับ

  แต่ขณะนี้เริ่มมีปัญหาตามมาจากการแปลความไม่ตรงกัน จากคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

  “ปิยบุตร แสงกนกกุล ” เลขาธิการและมือกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ บอกว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ด้วยถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 โดยให้เหตุผลว่า การถวายสัตย์ฯเป็น “การกระทำทางการเมือง” หรือ “การกระทำทางรัฐบาล” จึงไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบองค์กรใด

   เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ยิ่งทำให้สภาผู้แทนราษฎรมีความชอบธรรมอย่างยิ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลในทางการเมือง โดยผ่านกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 หรือการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 รวมทั้งการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

     การอภิปรายในญัตติตามมาตรา 152 ในวันที่ 18 กันยายนนี้ จึงเป็นหนทางที่ยังพอเหลืออยู่ในการตรวจสอบทางการเมืองและหาทางออกร่วมกันต่อกรณีนายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ

    การอภิปรายในญัตติมาตรา 152 ไม่เพียงแต่เป็นช่องทางในการช่วยกันขจัดปัญหาข้อสงสัยว่าคณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่โดยสมบูรณ์หรือไม่ แต่ยังเป็นไปเพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอีกด้วย นี่คือภารกิจของ “ผู้แทน” ของประชาชนซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด

    สรุปง่ายๆก็คืออาจารย์ปิยบุตร แปลความว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องปมถวายสัตย์ฯ เป็นการเปิดทางให้สภาซักฟอกเรื่องนี้ เป็นอำนาจเต็มของสภา

     เช่นเดียวกับ “ สุทิน คลังแสง ” ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ยืนยันว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นำครม.กล่าวถวายสัตย์ปฏิญญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายค้านก็จะเดินหน้าต่อในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ในวันที่ 18 ก.ย.นี้

    ขณะที่ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า  จากมติที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง โดยระบุว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่มีอำนาจตรวจสอบการถวายสัตย์โดยการเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไปและติดแท็ก #รัฐสภาต้องยุติอภิปรายปมถวายสัตย์

      ส่วน ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ  ก็ออกมาเตือนว่า หากฝ่ายค้านยังเดินหน้าอภิปรายในประเด็นถวายสัตย์ ถือว่าเสี่ยงที่จะกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอาจมีฝ่ายตรวจสอบยื่นเรื่องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ เพราะว่าตามมติของศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ต่อประเด็นการถวายสัตย์นั้น มีเนื้อหาชี้ชัดเจนว่าเรื่องดังกล่าวคือ เขตพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นองค์กรตามรัฐธรรมนูญรวมถึงสภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจตรวจสอบได้

      อย่างไรก็ตาม เรื่องปมนายกฯนำคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนนี้ คงจะเดินหน้าเข้าที่ประชุมสภาวันที่ 18 ก.ย.นี้ ต่อไป อย่างแน่นอนเมื่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร  บอกว่าทุกอย่างยังเป็นไปตามกำหนดวาระปกติของสภาฯ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นไม่รับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับการทำงานของสภาฯ การอภิปรายแบบไม่ลงมตินี้ เป็นเรื่องการตรวจสอบทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่เขียนกำหนดไว้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิอภิปราย ซักถาม เสนอแนะ และให้คำแนะนำ ซึ่งการอภิปรายก็จะเป็นไปตามกรอบข้อบังคับการประชุมสภาฯ

      แต่ถามว่าเรื่องนี้จะจบลง หลังอภิปรายทั่วไปหรือไม่ ฟันธงล่วงหน้าเลยว่าไม่จบ ในทางการเมือง ยากที่นายกฯหรือรัฐบาล จะทำตามที่ฝ่ายค้านเสนอแนะในการอภิปราย อีกทั้งที่ผ่านมานายกฯ ก็ไม่ได้ทำตามที่ฝ่ายค้านแนะนำ แถมเรื่องนี้อาจจะบานปลายโดยฝ่ายค้านอาจนำไปยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อ นอกจากนี้อาจมีการขยายต่อไปถึงการอ้างว่า คำสั่ง มติ ครม.ที่ออกมา รวมทั้งการแต่งตั้งบุคคลต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้เป็นโมฆะมิชอบไปด้วย  

     ส่วนรัฐบาลก็คงจะบริหารประเทศไปเรื่อยๆ โดยหวังว่า ยิ่งทอดระยะเวลาออกไปนานเท่าไหร่ เรื่องนี้กระแสจะตีกลับมาเล่นงานฝ่ายค้านมากขึ้นเรื่อยๆว่ามัวแต่ "เล่นการเมือง"ไม่ยอมจบ

    นอกจากนี้ฝ่ายค้าน ก็จะถูกตอบโต้กลับไปหลายดอกเช่นกันฐานที่ไม่ยอมยุติเรื่องนี้ ทั้งด้านคดีอาญาและข้อหากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญและอาจนำไปสู่การถูกถอดถอน  

     ปมถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน จึงยังมีเรื่องที่ต้องติดตามชมกันต่อไป 

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ