คอลัมนิสต์

อย่าตื่นตระหนกปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2562

 

 

          เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งกับกรณีที่เพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง” ได้โพสต์ภาพ “ปลาทู” ที่เก็บตัวอย่างมาจากท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู พร้อมข้อความถึงผลการศึกษาเพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติก และพบว่าปลาทูขนาดน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 66.53 กรัม ความยาวมาตรฐานเฉลี่ย 17.46 เซนติเมตร มีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78 ชิ้นต่อตัว ที่มีลักษณะเป็นเส้นใย เป็นชิ้น เป็นแท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งมีสารพัดสี โดยลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือชิ้นสีดำ ร้อยละ 33.96 ซึ่งส่งผลให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญเพราะเกี่ยวข้องไปถึงวงจรผู้บริโภคและอาจรวมถึงอุตสาหกรรมทางทะเลของไทย

 


          จากที่ผู้ร่วมทำวิจัยในศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล จังหวัดตรัง ระบุว่า จุดเริ่มต้นทำวิจัยมาจากการสำรวจและจดบันทึกเก็บข้อมูลสถิติขยะทางทะเลจนมาเจอปัญหาในระบบห่วงโซ่อาหารและมีปลาเศรษฐกิจทั่วไปที่ทุกคนก็นำมาบริโภคได้เพราะมีราคาไม่สูงมาก ดังนั้นจึงเริ่มเก็บตัวอย่างปลาทูเฉพาะน่านน้ำในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเป็นที่มาของผลวิจัยดังกล่าว ส่วนไมโครพลาสติกตามหลักวิชาการมีขนาดประมาณ 1-5 มิลลิเมตร และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ เพราะมีขนาดเล็กมาก โดยเกิดมาจากการแตกหักของพลาสติกชิ้นใหญ่ด้วยปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น ความเค็ม กระแสน้ำ และเตรียมวิจัยในสัตว์ทะเลชนิดอื่น รวมไปถึงวิจัยว่าในเนื้อเยื่อของปลาจะมีไมโครพลาสติกหรือไม่ พร้อมขอให้ผู้บริโภคอย่าเพิ่งแตกตื่นแต่ต้องตระหนักในเรื่องวิกฤติขยะทางทะเล

 


          มุมมองจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องนี้โดยเห็นว่าไมโครพลาสติกในท้องปลาก็มาจากถุงพลาสติกใต้ทะเล เมื่อถุงกร่อนแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกและลอยขึ้นไปอยู่ในน้ำ โดยปลาบางชนิดกินแพลงตอนในน้ำก็กินไมโครพลาสติกเข้าไปด้วย จากนั้นก็ไปอยู่ในท้องปลา ซึ่งบางส่วนสลายตัวกลายเป็นนาโนพลาสติก อาจเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อปลาได้ ดังนั้นผู้บริโภคกินสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไปอาจเป็นสาเหตุเสี่ยงต่อหลายโรคตามที่องค์การอนามัยโลกเคยเตือนไว้ การเก็บขยะทะเลจึงเป็นส่วนช่วยลดไมโครพลาสติกโดยตรง และการงดใช้ถุงพลาสติกจะช่วยลดต้นตอไมโครพลาสติกไปได้อีกมาก ซึ่งสิ่งที่ ดร.ธรณ์โพสต์นั้นได้ขยับไปถึงการปนเปื้อน “นาโนพลาสติก”

 


          เมื่อปีที่แล้วมีความเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่เร่งให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาขยะในท้องทะเลหลังพบไมโครพลาสติกในลำไส้มนุษย์จากการเก็บอุจจาระไปตรวจ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องนี้ถูกคาดการณ์มาแล้วและมาสอดคล้องกับงานวิจัยที่จังหวัดตรัง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อ่อนไหวต่อผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องมีการทำงานวิจัยต่อไปให้เกิดผลที่ชัดเจน ขณะเดียวกันภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องหามาตรการป้องกันปัญหาและควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และในภาพรวมต้องรณรงค์ให้เกิดรูปธรรมในเรื่องการลดใช้พลาสติกและขยะทางทะเลเพื่อช่วยปกป้องชีวิตต่างๆ ในท้องทะเล และป้องกันเรื่องปนเปื้อนห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ด้วย ซึ่งในอนาคคเชื่อว่าไมโคร-นาโนพลาสติกในห่วงโซ่อาหารจะกลายเป็นปัญหาสำคัญ

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ