คอลัมนิสต์

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คงไม่เพียงร่างไร้ลม ที่สิ้นสูญในแผ่นดินที่เป็นหัวใจ แต่วิญญาณแห่งขุนเขาของบิลลี่ ยังกรุ่นกลิ่นความหวังไปทั่วแผ่นดินปกาเกอะญอ

 

แม้ว่า ปู่คออี้” รากเหง้าและจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ได้ลาโลกไปแล้วด้วยวัย 107 ปี ช่วงปีที่ผ่านมาด้วยความชราภาพ หากรากแห่งความเป็น “คน” ที่ส่งต่อมายังคนรุ่นหลัง ก็คือยอดดอกใบที่กำลังชู่ช่อ

 

นี่หมายความว่า แม้ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ กลายเป็นหนึ่งยอดใบที่โดน “เด็ดทิ้ง” แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อย่าลืมว่าพืชพรรณหลายชนิด ยิ่งเด็ดยอด ยิ่งแตกกิ่ง รอแค่เวลาเท่านั้น

 

เราได้แต่หวังว่า พลังแห่งผืนป่าในใจบิลลี่ ยังคงวนเวียน สูบฉีดอยู่ในเส้นเลือดของพี่น้องร่วมแดนดินของเขาทุกๆ คน!

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

ผืนป่าที่เป็นบ้านเกิด เรือนตาย 

 

 

วันนี้คำถามว่า “ฆ่าบิลลี่ทำไม” ที่กำลังดังกึกก้องไปทั่วประเทศ แม้เรามองตาก็รู้คำตอบ แต่ก็ยังสงสัยอยู่ดีว่า ทำไมภาพของกะเหรี่ยงที่ถูกฉายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มักถูกมองว่าเป็นตัวการผู้ตัดไม้ทำลายป่าตัวจริง

 

ทั้งที่เราต่างรู้ว่ามีข้อมูลมากมายที่ย้อนแย้งกับภาพเหล่านี้ หรือมันจะมีอะไรมากกว่านั้น

 

 

เรียบง่าย-ชัดเจน

 

คำถามที่ไร้คนตอบ ต่อให้สำคัญแค่ไหนก็ป่วยการที่จะรอ แต่เรื่องจริงที่คนไทยหลายคนที่ยังไมรู้และควรทำความเข้าใจใหม่ คือชนชาวกะเหรี่ยงอาจไม่ใช่ทุกคนที่เป็นอย่างที่ “ถูกทำให้ใช่”

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

ผืนป่าแก่งกระจาน บ้านบิลลี่ และครอบครัวปกาเกอะญอต้นน้ำเพชรฯ 

 

 

เชื่อหรือไม่ว่ากลุ่มชนที่คนไทยเรียกว่าชาวกะเหรี่ยง (หรือ กาเรน กะยีน หรือ คนยาง ในภาษาเมียนมาร์และมอญ) กลุ่มคนที่เราเผลอพูดโดยไม่คิดว่าคือ “ชาวเขาไม่ใช่ชาวเรา” มีแบบแผนการดำรงชีวิตของกลุ่มที่แม้จะเรียบง่าย สมถะ แต่ก็แข็งแรง เคร่งครัด

 

กะเหรี่ยงในไทยมี 4 กลุ่มย่อย คือ สะกอ หรือยางขาว เรียกตัวเองว่า ปกาเกอะญอ เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด "โป" เรียกตัวเองว่า "โพล่" ส่วนใหญ่อยู่ในเขต จ.กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน "ปะโอ" หรือ "ตองสู" อาศัยอยู่ในเขต จ.แม่ฮ่องสอน เช่นเดียวกับ "บะเว" หรือ "คะยา" ก็อยู่ในแหล่งเดียวกัน

 

แต่โดยทั่วไปเราจะพบชนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ใน 15 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งรวมถึง จ.เพชรบุรีด้วย

 

อย่างไรก็ดีชนกะเหรี่ยงนั้นที่จริงไม่ได้อาศัยอยู่บนที่สูงเสียทั้งหมด บางส่วนก็ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบทั่วไปและยังนิยมตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร ไม่นิยมย้ายถิ่นบ่อยๆ

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

 

 

ขณะเดียวกันบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงนิยมสร้างเป็นบ้านยกพื้น มีชานบ้าน หรือไม่ก็ใช้เสาสูง ซึ่งแตกต่างจากชาวเขาเผ่าอื่นๆ ที่นิยมสร้างบ้านชั้นเดียว พื้นติดดิน เช่น ชาวม้ง หรือชาวเมี่ยนเป็นต้น

 

ส่วนระบบครอบครัว การเลือกคู่ครองนั้นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เลือกชายก่อน และบางครั้งฝ่ายหญิงก็ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการแต่งงาน และเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียวไม่มีการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานเป็นอันขาด การหย่าร้างมีน้อย

 

สังคมกะเหรี่ยงเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อแต่งงานก็จะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านใหม่ แต่ฝ่ายชายต้องอยู่บ้านพ่อแม่ภรรยา 1 ฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจึงปลูกบ้านใกล้พ่อแม่ฝ่ายภรรยา ถ้ามีลูกสาวคนเล็กจะต้องอยู่ดูแลพ่อแม่

 

 

 

หัวใจผืนป่า

 

ว่าตรงกันว่าชาวกะเหรี่ยงมีภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรดินและแหล่งน้ำเป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อพวกเขามีชีวิตแบบพึ่งพาน้ำ พึ่งพาป่า  “ป่า”  จึงนับว่าเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชน เป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขารักและหวงแหนไม่แพ้นักอนุรักษ์ที่ไหน

 

มีข้อมูลว่าชาวปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยง แบ่งป่าเป็น 4 ประเภท คือ ป่าต้นน้ำ” และ ป่าอนุรักษ์” ซึ่งสองป่านี้ชาวปะกาเกอะญอจะให้ความสำคัญและอนุรักษ์เป็นอย่างมาก จะมีการพึ่งพิงป่านี้เมื่อยามจำเป็นเท่านั้น เช่น การหาสมุนไพรรักษาโรค การหาสีย้อมผ้า และการล่าสัตว์ขนาดเล็กเป็นต้น

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

ผู้หญิงและเด็ก อยู่บ้านอยู่เรือน ผู้ชายไปหางานทำในเมือง

 

 

ส่วน ป่าใช้สอย” พวกเขาจะเอาไม้ในป่ามาใช้งานเช่น ทำเครื่องจักสาน สร้างบ้าน ส่วน ป่าทำกิน” เป็นป่าที่เอาไว้ทำไร่ปลูกพืชบริโภค สร้างรายได้

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

 

 

หากชนกะเหรี่ยงลึกซึ้งกว่าที่คิดเพราะพวกเขาจะมีการเลือกทำเลทำไร่ โดยตั้งกฎว่าห้ามทำไร่ในเขตต้นน้ำ หรือตาน้ำ ห้ามทำไร่ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ ห้ามทำไร่บนยอดเขา

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

 

 

และเมื่อทำไร่เสร็จในปีนั้นก็ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้พื้นดินมีโอกาสฟื้นสภาพป่า มีข้อมูลว่าโดยมากชาวบ้านจะทำไร่ 7 แปลง และจะเวียนทำไร่ปีละ 1 แปลง โดยกว่าจะทำให้ครบ 7 แปลง ก็จะวนกลับมาแปลงที่ 1 อีกรอบ

 

บางสถานการณ์ก็จะทำ 3-4 แปลง แล้วแต่สภาพเอื้ออำนวย รูปแบบนี้เรียกว่า การทำไร่หมุนเวียน” ที่สภาพดินและป่าจะกลับมาสมบูรณ์ภายหลัง แตกต่างจากการทำ ไร่เลื่อนลอย” ที่พวกเขาถูกยัดเยียดว่าทำมาตลอด

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

เด็กน้อยน่ารักแห่งบ้านบางกลอย แก่งกระจาน

 

 

ทั้งนี้กะเหรี่ยงจะปลูกข้าวแบบผสมผสาน คือมีพืชผักหลายชนิดปลูกลงบนแปลง เช่น ผัก พริก เผือก มัน ฯลฯ เพราะพืชผักบางชนิดเป็นตัวล่อแมลง เป็นอาหารของแมลงอีกชนิด ถือเป็นภูมิปัญญาที่ไม่ต้องใช้สารเคมีฆ่าแมลง

 

ยิ่งเรื่องผืนป่าแล้วมีข้อมูลว่า “ปู่คอี้” เคยเล่าว่าในช่วงชีวิตพรานไพรสมัยวัยหนุ่ม มีสัจจะที่ยึดถือมาตลอดชีวิตว่าเวลาเข้าป่าสิ่งที่ต้องระวังมากคือเรื่องของคำพูด อย่าลบหลู่ป่าเขา เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ทุกที่

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

“ปู่คอี้” รากเหง้า รากวิญญาณ ของกะเหรี่ยงต้นน้ำเพขร ผู้จากไป

 

 

ช่วงที่ออกไปล่าสัตว์ปล่อยให้ผู้หญิงและเด็กอยู่บ้าน หากมีอะไรไม่เหมาะสมในหมู่บ้านเสือจะมาคำราม เรื่องนี้ปู่คออี้ยังเล่าว่า ตนนั้นเคยเจอเสือหลายครั้ง แต่ไม่เคยยิงเสือเลย เช่นเดียวกับช้างก็ไม่เคย

 

 

กะเหรี่ยงต้นน้ำเพชร

 

อย่างที่รู้กระเหรี่ยงในหมู่บ้านของปู่คออี้ พวกเขาอยู่ตรงนั้นมาชั่วนาตาปี มีวีถีทำมาหาเลี้ยงชีพทำไร่ข้าวหมุนเวียน (เวียนประมาณ 2 ปี) และพืชผสมผสาน โดยมีไร่ห่างออกจากตัวบ้านไปราว 1 ชม.เดินเท้า

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

 

 

แต่ทุกวันนี้ปัญหาหลักของกะเหรี่ยงแก่งกระจานคือการไร้ที่ทำกิน ไม่สามารถใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมได้ คนในหมู่บ้านบางส่วนยังไม่ได้สัญชาติไทย แม้แต่ปู่คออี้เองเพิ่งได้บัตรประชาชนไทยเอาก่อนเสียชีวิตเพียง 3 เดือน

 

กะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอรุ่นใหม่ จึงต้องออกไปทำงานรับจ้างในเมือง มีเพียงผู้หญิงเด็กและคนชราไว้ในหมู่บ้าน

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

บิลลี่กับครอบครัว

 

 

ถามว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็คงเหมือนภาคบังคับให้ไล่ดูย้อนขึ้นไปถึงช่วงปี 2524 หลังมีเขื่อนแก่งกระจาน บริเวณนั้นมีการประกาศให้พื้นที่แก่งกระจานเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

 

พอปี 2539 ทางการให้กะเหรี่ยงตรง “ใจแผ่นดิน” อพยพลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย พวกเขาทั้งหมดหลายสิบครอบครัว หลายร้อยชีวิตต้องจำใจย้ายลงมาตามคำสั่ง

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

ภรรยาและลูกๆของ บิลลี่

 

 

แต่ในที่สุดเมื่อความรู้สึกมันบอกว่า “ไม่ใช่บ้าน” ปู่คออี้ บิลลี่ และครอบครัวจึงตัดสินใจอพยพกลับไปอยู่ที่บ้านหลังเดิมที่บางกลอยบน

 

นับแต่นั้นรอยปริแยกก็เดินทางมาจนถึงปี 2554 เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน “ปราบปรามหนัก” ตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เผาทำลายบ้านเรือนหลายครอบครัวจนกลายเป็นคดีดัง ชาวบ้านเข้ายื่นฟ้องในปี 2555

 

แต่เรื่องนี้จบลงไปแล้วเมื่อปี 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้พวกเขาทุกคน

 

ส่วนเรื่องที่ยังไม่จบคือการหายตัวไปของหลานชายแท้ๆ วัย 31 ปีของปู่คออี้ในวันที่ 17 เมษายน 2557 ผู้คนพากันเชื่อมโยงกับการที่บิลลี่เป็นพยานปากสำคัญและเป็นผู้ประสานงานในดคีปี 2554

 

 

'บิลลี่' เขายังอยู่ที่นี่

แม้จะเป็นนักต่อสู้เพื่อมวลขน แต่ "บิลลี่" ยังเป็น สมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน​ จ.เพชรบุรี​

 

 

หากเส้นทางเดินของนักต่อสู้ หลายคนมักจบแบบนี้ บิลลี่ก็คือนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สู้เพื่อให้ได้กลับไปใช้ชีวิตตามวิถีเดิม ไม่มากไปกว่านี้

 

แต่การที่เขาเหลือเพียงชิ้นส่วนกระดูกในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ที่พบเอาตอนที่ผ่านมาถึง 5 ปี หลายคนเชื่อว่าบิลลี่เข้าป่าไปหนนั้น คงไม่ได้ไปเจอ “น้ำผึ้งป่า” อย่างเดียว

 

*************************

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ