คอลัมนิสต์

สกัดต้นตอบ่มเพาะความรุนแรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 4 กันยายน 2562

 

 

 

          มีรายงานการสำรวจการใช้งานสื่อออนไลน์ของนักเรียนมัธยมศึกษา จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า นักเรียนใช้สื่อออนไลน์ทั้งในด้านการเรียน ความบันเทิง การรวมกลุ่ม และแสดงออกถึงความเป็นตัวตน โดยกิจกรรมออนไลน์ที่นักเรียนทำบ่อยๆได้แก่ ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ หาข้อมูลประกอบการเรียน ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ติดตามดาราที่ชื่นชอบ ใช้สร้างกลุ่มบนไลน์ เฟซบุ๊ก ติดตามข่าวสาร และใช้โพสต์รูปภาพ เรื่องราว หรือเข้ากลุ่มสนทนาหรือสมัครสมาชิกเว็บไซต์ หรือติดตามเพจต่างๆ เพื่อแสดงความเป็นตัวตนของตนเอง

 

 


          แม้ในผลงานวิจัยชิ้่นนี้ จะบอกเอาไว้ว่า โดยภาพรวมแล้ว เด็กส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่เข้าไปดูหรืออ่านเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมที่อาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงอันตราย แต่ก็มีกลุ่มตัวอย่างส่วนน้อยหรือคิดเป็นร้อยละ 4 ที่ยอมรับว่า ตนเองเคยเข้าถึงเนื้อหาด้านเพศ เกมรุนแรง การพนัน และเคยแสดงออกด้วยความรุนแรงอยู่บ่อยๆ และมีร้อยละ 23 บอกว่า คุยกับคนแปลกหน้าบนออนไลน์บ่อยๆ ผลการวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นว่า นักเรียนมีโอกาสพบเจอความเสี่ยงจากการใช้งานสื่อออนไลน์ได้ แม้ตัวเลขอาจจะดูเล็กน้อย แต่ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันความเสี่ยง และเสริมสร้างให้

 


          มีความรอบรู้และเท่าทันเพื่อสามารถเผชิญกับสถานการณ์ความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยมีความพยายามจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน หรือศูนย์เฟคนิวส์ ให้เสร็จเป็นรูปธรรมภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อรับแจ้งข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ และชี้แจงข้อมูลถูกต้อง โดยจะทำงานด้วยความรวดเร็วในการตรวจสอบข่าวปลอม และชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง จะทำได้ในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง แต่นั่นก็เป็นการสกัดกั้นข่าวปลอมที่เน้นในประเด็นที่กระทบกับความมั่นคงโดยเฉพาะในทางการเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ทั่วไปของประชาชน มากกว่าการสกัดกั้นสื่อออนไลน์ที่เป็นอันตราย ซึ่งเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

 

 

          ตามสถิติที่อ้างอิงกันอยู่บ่อยๆ พบว่า ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มบุคคลที่มักจะตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์และแชร์ต่ออยู่ในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งโดยวัยวุฒิแล้วไม่น่าจะมีปัญหาในความรับผิดชอบทางกฎหมาย หากแต่สำหรับเด็กและเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาที่สามารถเข้าถึงเรื่องทางเพศ เกมรุนแรง การพนัน ฯลฯ ผ่านออนไลน์ ดังผลวิจัยข้างต้น นับว่าน่าเป็นห่วงยิ่ง โดยเฉพาะเกมออนไลน์ที่รวมกลุ่มกันเล่น และขาดการกลั่นกรอง ตัวเลขร้อยละ 4 หมายความว่า เด็กหรือเยาวชน 4 คนใน 100 คนเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แม้จะไม่เป็นภัยกับความมั่นคงหรือทางการเมือง แต่ก็นับว่าเป็นอันตรายกับสถาบันครอบครัวและสังคม ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ