คอลัมนิสต์

ปีหน้าจับตาสนามท้องถิ่นหลากพรรคฟัดกันดุ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย....  ทีมข่าวการเมืองเครือเนชั่น

 

 

 

          หลังการคืนอำนาจของ คสช.ผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.และการสรรหาส.ว.ไปแล้ว จนได้มีรัฐนาวาเรือเหล็กบังเกิดขึ้น “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ระบุไว้หลายวันก่อนว่า “เลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเกิดขึ้นช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป” หลังถูกแช่แข็งมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี !

 

 

          หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า เมืองไทยยังเหลือวาระเลือกตั้งท้องถิ่นหลังศึกสนามใหญ่ยุติ และความจริงนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ “หมดวาระ” มานาน แต่ คสช.ออกคำสั่งระงับการเลือกตั้งเพราะเกรงจะเกิดบรรยากาศความขัดแย้งในบ้านเมืองขึ้น แต่นัยดังกล่าวนั้น ขั้วตรงข้ามลุงตู่อ่านจังหวะออกว่าเป็นเพราะอะไร...เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงชะลอการกาแต้มของท้องถิ่นไว้เนิ่นนาน ?


          หากเพ่งลงไปยัง อปท. 7,800 กว่าแห่ง บริหารงบประมาณเฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท ถือว่า “งบไม่มาก” เพราะในจำนวนนี้เป็นงบสวัสดิการเป็นส่วนใหญ่มากกว่า 90% และมีงบลงทุนไม่มากนัก แม้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นนั้น รัฐบาลวางบทบาทให้อปท.ดูแลพื้นที่ตัวเองมาเกือบยี่สิบปีแล้ว แต่งบลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่รวมทั้งอำนาจที่กระจายลงไปนั้น ความจริงแล้วส่วนใหญ่ "ส่วนกลาง” ยังคงกำกับดูแล ท้องถิ่นพัฒนาตัวเองในวงเงินที่จำกัดจำเขี่ย...แต่พรรคการเมืองยังคงต้องหวังยึดพื้นที่ท้องถิ่นไว้ในการบริหารจัดการ เพื่อเป็นต้นทุนฐานเสียงในวันข้างหน้า...ตรงนี้คือ "คำตอบ" ที่ชัดเจนสุด !

 

ปีหน้าจับตาสนามท้องถิ่นหลากพรรคฟัดกันดุ

 


          เพราะการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่หมดวาระ "กว่า 1.4 แสนตำแหน่ง” นั้น (กฎหมายใหม่ให้เลือก 97,940 ตำแหน่ง และน่าจะเริ่มเลือกตั้งช่วงมี.ค. 2563 เป็นต้นไป แบบสลับฟันปลาคราวละสามเดือน)

 



          บุคลากรเหล่านี้เป็นเสมือนรากฐานของพรรครัฐบาล รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านที่จะเป็น “แต้มสะสมขั้นต้น” ที่พอจะชี้เป็นชี้ตายได้บ้างเกี่ยวกับอนาคตของพรรคและคีย์แมนในพื้นที่นั้นๆ


          และเป็นไปได้สูงยิ่งว่านโยบายของพรรคต่างๆ ที่เสนอไว้บนสนามใหญ่จะโดนนำมาร่วมเสนอกับเวทีท้องถิ่นเพื่อผนวกกับนโยบายเฉพาะที่ใช้กับพื้นที่นั้นๆ โดยตรงในการสะสมคะแนน


          คนการเมืองอ่านกันออกว่า การเมืองท้องถิ่น "แข่งขันกันดุและสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสนามส.ส.เลย”...ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหากพรรคใดได้รับความนิยมบนสนามระดับชาติ พรรคนั้นๆ จะถูกอ้างอิงโดยผู้สมัครท้องถิ่นนั้นๆ ว่าพรรคสนับสนุน และบางครั้งก็แข่งขันกันเองโดยมีโลโก้พรรคแปะอยู่บนป้ายหาเสียง !


          ส่วนบางสนามนั้น บางพื้นที่จะเลือกขั้วตรงข้ามมาทำงานการเมืองท้องถิ่นแทน เช่นบางตระกูลในจังหวัดนั้นๆ ได้เป็น ส.ส.หรือรมต. คู่แข่งที่พ่ายแพ้จะได้รับการหนุนในสนามท้องถิ่นแทน หรือสนามกทม.ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่าพรรครัฐบาลแพ้พรรคฝ่ายค้านมาหลายสมัยแล้ว...


          ดังนั้นคราวนี้คนการเมืองหลายพรรคมองและประเมินแล้วว่า "จำเป็นยิ่งยวด" ที่จะต้องมี "สนามท้องถิ่น” ไว้ในการกำกับดูแล และวันนี้เมื่อรู้แจ้งเห็นชัดแล้วว่า การกุมสภาพของ “กัปตันลุงตู่บนเรือเหล็ก” นั้นมั่นคงในระดับหนึ่ง การค่อยๆ ให้ท้องถิ่นขยับเรื่องนี้ในวาระอันใกล้จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ ซึ่งวันนี้ผู้สมัครบางพรรค ทยอยเปิดตัวประกาศลงชิงสนามท้องถิ่นกันแล้ว เช่น เพื่อไทยบนสนามอบจ. โดยแกนนำพรรคบอกว่า "ห้ามแพ้” (เชียงใหม่, เชียงราย, ร้อยเอ็ด, ปทุมธานี), อนาคตใหม่ ตามที่แกนนำพรรคบอกว่าจะส่งชิง 30 อบจ. และหวังสอบผ่าน "20 จังหวัด”, ภูมิใจไทย แต่พรรคอื่นๆ เช่น พลังประชารัฐ, ชาติพัฒนา, ชาติไทยพัฒนา, ประชาธิปัตย์ ยังอุบไต๋...

 

 

 

ปีหน้าจับตาสนามท้องถิ่นหลากพรรคฟัดกันดุ

 


          ยังแว่วมาว่า พรรคที่มีฐานเสียงใกล้เคียงกัน เช่น เพื่อไทยกับอนาคตใหม่, พลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์บางพื้นที่ อาจจะต้องมีบางพรรค "หลบ” ไม่ส่งผู้สมัคร เพราะฐานคะแนนอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หากส่งไปก็ตัดแต้มกันเองเป็นการยื่นโอกาสให้ขั้วตรงข้ามแบบสบายๆ แต่ ณ ตอนนี้โอกาส "หลบ” นั้นยังไม่มีแวว เพราะแต่ละพรรค "ต่างไม่ยอมกัน" เนื่องจากหากใคร "หลบ” ก็จะโดนครหาและมีบทลงโทษสั่งสอนทันที...


          กรณีนี้เคยเกิดมาแล้วยุค “ไทยรักไทยฟีเวอร์” เพราะคราวนั้น “ทักษิณ ชินวัตร” ประกาศเมินสนามเมืองหลวงและไปทำงานระดับชาติแทน แต่เหตุผลที่แท้จริงคือ ไม่มีบุคคลที่จะลง เนื่องจาก “ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์” รองนายกรัฐมนตรีและแกนนำทรท.ตอนนั้นไม่ลงสมัครตามกระแสที่คนในทรท.ร้องขอ เนื่องจาก ”คนดีไม่มีเสื่อม” ไม่ได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการจากทักษิณ ประกอบกับไม่พอใจที่โดนย้ายจาก รมว.ยุติธรรมมาเป็นรองนายกฯ เหตุเพราะไปขัดขากับปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์...


          คราวนั้นทักษิณไปหนุน "ปวีณา หงสกุล” ที่ลงสมัครในนามอิสระ แต่สังคมก็รับรู้ว่าเจ๊ปิ๊กนั้นมาลงสนามเวทีนี้เพราะใคร...และบทสรุปก็ชี้คำตอบให้ทรท.และทักษิณชัดเจน


          หรือการเล่นเก้าอี้ดนตรี ส.ส. ซึ่งร่างทรงอย่าง “เกษม นิมมลรัตน์” ลาออกจากผู้แทนฯ เชียงใหม่ เขต 3 ไปทำงานท้องถิ่นเพื่อเปิดทางให้ “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” ที่พ้นโทษแบน 5 ปี มาสวมเสื้อ ส.ส.เพื่อไทย แม้วันนั้นเจ๊แดงจะคัมแบ็กได้ง่ายๆ เพราะพื้นที่นครพิงค์คือฐานหลักของพรรค แต่หากเป็นสนามอื่นแล้วมีกรณีนี้เกิดขึ้น...จะเดินได้ฉลุยแบบนี้หรือ...

 

 

 

ปีหน้าจับตาสนามท้องถิ่นหลากพรรคฟัดกันดุ

 


          เพราะสังคมมีการเรียนรู้และจับตาคนการเมืองทุกสนามตลอดว่าควรกาแต้มให้ใครมาทำงานในพื้นที่และคงไม่ยอมให้ปาหี่การเมืองกลับมาอีกคราว...


          แต่คราวนี้เป็นไปได้สูงยิ่งที่ “อดีตส.ส.หลากพรรค” ซึ่งพลาดโอกาสเดินเข้ารัฐสภาในคราวนี้จะผันตัวลงสนามท้องถิ่นหลายเวที และน่าจะเป็นศึก ”ช้างชนช้าง” กันหลายคู่ โดยการใช้ปัจจัยเพื่อให้ได้ชัยชนะนั้น ไม่ยิ่งหย่อนกว่าสนามส.ส. และดีไม่ดีปัจจัยจะพุ่งสูงหลายเท่าตัวด้วยซ้ำไป...


          หากไล่ไทม์ไลน์ที่ภาครัฐวางไว้เบื้องต้นนั้น เวทีแรกของสนามท้องถิ่นที่น่าจะคลี่ม่านกาแต้มคือในช่วงปลายไตรมาสแรกปี 2563 เป็นต้นไป คนกรุงเทพฯ อาจได้เข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ส่วนต่างจังหวัดนั้นคนภูธรอาจได้ไปใช้สิทธิ์เลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)และเมืองพัทยาเป็นลำดับแรกๆ ส่วนสนามอื่นๆ คือ เทศบาล (นคร, เมือง, ตำบล) รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) คงจะต้องรอคิวอีกนิด ตามการสลับเหลื่อมเวลา


          และรอชมปีหน้าว่า พรรคใดจะเฮ พรรคใดจะแห้ว!

 

          5พันบ้านกาบัตร7,852แห่ง
          นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า "ถือเป็นครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์การปกครองท้องถิ่น เพราะไม่มีครั้งไหนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,852 แห่งทั่วประเทศ ที่ผู้บริหารและสมาชิกสภาหมดวาระพร้อมกัน

 

 

 

ปีหน้าจับตาสนามท้องถิ่นหลากพรรคฟัดกันดุ

 


          เท่าที่ทราบ กกต.มีแผนจัดการเลือกตั้งที่ในแต่ละรูปแบบไม่พร้อมกัน คือ 1.กทม., เมืองพัทยา และอบจ. 2.เทศบาล 3.อบต. มีระยะเวลาในการเว้นวรรคการเลือกตั้งในทั้งสามข้อ สนามละประมาณ 3 เดือน ซึ่งประชาชนต้องไปใช้สิทธิ์เลือก 2 ครั้ง คือ อบจ.กับ อบต. เว้นกทม.ที่อาจเลือกพร้อมกันคือผู้ว่าฯ กทม.กับ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.)


          งบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้งน่าจะอยู่ที่ 5,000 กว่าล้านบาท ตอนนี้รอแต่ความชัดเจนระหว่างกกต.กับรัฐบาลที่จะหารือกันว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร” นายสุทธิพงษ์ กล่าว


          สถิติการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา คือ 74.69% ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดอยู่ที่ 78-80% ฉะนั้น โอกาสที่การเมืองท้องถิ่นจะตื่นตัวมากกว่าและปัจจัยที่น่าจะทำให้ชาวบ้านร้านตลาดออกไปใช้สิทธิ์มากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาคือ 1.คนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับการเมือง 2.พรรคการเมืองประกาศตัวชัดเจนที่จะส่งตัวแทนสมัครท้องถิ่น 3.ผู้บริหารท้องถิ่นชุดปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่า 5-7 ปี(คสช.อยู่ในตำแหน่ง 5 ปี) ก็อาจมีผลคือมีทั้งคนชอบไม่ชอบ มั่นใจว่าหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ประชาชนจะมาใช้สิทธิมากว่าเดิม"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ