คอลัมนิสต์

ยุทธศาสตร์สู้อุทกภัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 3 กันยายน 2562

 

 

 

          พายุโพดุลผ่านพ้น ตามด้วยพายุดีเปรสชันระดับ 2 ที่กำลังพัดเข้าบริเวณประเทศไทยทางภาคคะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ แต่ก็จะส่งผลกระทบให้เกิดฝนตกหนักหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสานที่เกิดภาวะน้ำท่วมหนักหลายพื้นที่นั้น จะต้องประสบกับอุทกภัยต่อเนื่องไปอีก ทั้งนี้เป็นไปตามพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา การคาดการณ์สถานการณ์น้ำของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งระบุเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าในช่วงปลายฤดูฝนจะมีพายุเข้าประเทศไทยประมาณ 2 ลูก ทั้งนี้จากภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งนอกเหนือจากรัฐบาลต้องเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงและทันการณ์แล้ว ความร่วมแรงร่วมใจกันของประชาชนก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้อีกทางหนึ่ง

 


          เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกฝากถึงประชาชนจิตอาสา ข้าราชการ และเอกชนในท้องถิ่น ทุกจังหวัด ร่วมใจกันปฏิบัติภารกิจพลังจิตอาสา ด้วยการร่วมกันนำเครื่องจักรมาช่วยกันเปิดทางน้ำ ร่วมแรงกันขุดและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ รับมือภาวะฝนตกหนัก รวมทั้งร่วมมือร่วมใจกันคนละเล็กละน้อย เท่าที่กำลังทุกคนจะทำได้ เสียสละค่าน้ำมันสำหรับเครื่องจักร เพราะหากรอการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักรใหม่ ที่ต้องผ่านกระบวนการงบประมาณที่จะต้องใช้เวลาอาจไม่ทันเวลาเมื่อฝนมา โดยขอพลังจิตอาสาร่วมมือกันแก้ปัญหาในเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดขวางทางน้ำ ทางน้ำที่ตื้นเขิน หรืออาจร่วมแรงกันช่วยขุดทางน้ำ 


          สำหรับปัญหาฝนตกแล้วเกิดน้ำท่วมแทบทุกครั้งนั้น ปัจจัยแรกมาจากสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะป่าไม้ที่ถูกลายลงจำนวนมาก ซึ่งต้องแก้ไขกันในระยะยาว ขณะเดียวกันสิ่งกีดขวางทางเดินของน้ำตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้นั้นก็เป็นปัญหาสำคัญ อย่างเช่น การตัดถนน การก่อสร้างชุมชนต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพอันเอื้ออำนวยต่อการระบายน้ำ หากมองปรากฏการณ์ก็อาจจะรู้สึกว่ามีปริมาณน้ำฝนมากน้ำจึงท่วม แต่หากดูจากการกักเก็บน้ำในเขื่อนต่างๆ ทางภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกจะพบว่าระดับน้ำในหลายเขื่อนยังไม่พ้นภาวะวิกฤติน้ำน้อย นั่นก็เพราะน้ำฝนไม่ได้เติมอ่างเก็บน้ำเพียงพอปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมมีมากมายหลายด้าน แต่สิ่งควรจะต้องเร่งแก้ไขก็คือปัจจัยที่มาจากการกระทำของคนที่ทำให้แหล่งรับน้ำต่างๆ ตามธรรมชาติในพื้นที่ลุ่ม เช่น หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำ


          คลองถูกทำลายลงด้วยการถม ปรับพื้นที่ สร้างถนน ชุมชน ที่อยู่อาศัยตลอดจนแห่งอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้นภายในเขตชุมชนใหม่หลายแห่งมักไม่ได้สร้างระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพเพียงพอ เมื่อฝนตกหนักจึงทำให้เกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายมหาศาล ในภาวะเช่นนี้ รัฐบาลอยู่ในช่วงของการกอบกู้ ช่วยเหลือ เยียวยาและสังคมก็ให้กำลังใจกันและกัน เมื่ออุทกภัยผ่านพ้นก็น่าจะได้บูรณาการแผนงานอย่างจริงจังโดยเฉพาะการปฏิรูปลักษณะทางกายภาพของการระบายน้ำที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วน และการผลักดันเป็นยุทธศาสตร์ในอนาคต

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ