คอลัมนิสต์

ยกฟ้อง-ลงโทษ'ทักษิณ' ...ได้อะไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลฎีกาฯเพิ่งยกฟ้องทักษิณ ในคดีกรุงไทยปล่อยกู้กฤษดามหานคร แต่ก่อนหน้าก็มีคดีที่ทักษิณ ถูกจำคุก .. ยกฟ้อง-จำคุกทักษิณ ... ได้อะไร

     โอภาส บุญล้อม

      เมื่อวานนี้ ( 30 ส.ค. )ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษายกฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกฯ จำเลยที่ 1 ในคดีร่วมทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อ ธ.กรุงไทยฯให้กับกลุ่มกฤษดามหานครเป็นเงินกว่า 9,000 ล้านบาท  โดยคดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น 27 ราย

      โดยก่อนหน้านั้น ศาลพิพากษาจำคุกทั้งสิ้น 24 คน ยกฟ้อง 2 คน ในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 , ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 , ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และความผิด พ.ร.บ.บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ.2535

     โดยฟ้องว่า ช่วงระหว่าง  8 ก.ย.46 - 30 เม.ย.47  จำเลยได้อนุมัติสินเชื่อให้กลุ่มกฤษดามหานคร นำไปซื้อที่ดินโดยไม่มีการวิเคราะห์ถึงฐานะทางการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งไม่เรียกหลักประกันให้คุ้มหนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ ธ.กรุงไทยฯ ผู้เสียหาย และพวกจำเลยนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต เป็นเหตุให้ ธ.กรุงไทยฯ ได้รับความเสียหาย

     ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า  ไม่มีพยานหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่า นายทักษิณ จำเลยที่ 1 คือ ซูเปอร์บอส ที่อยู่เบื้องหลังให้ปล่อยสินเชื่อดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง พร้อมสั่งให้ถอนหมายจับนายทักษิณด้วย   

     ทั้งนี้ก่อนหน้านี้  ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาคดีของนายทักษิณ ไปแล้วจำนวน 3 คดี

      ประกอบด้วย 1.คดี ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง กล่าวหาทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์)ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 ให้จำคุก 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา

        2.คดี ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง กล่าวหาร่วมทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ศาลฎีกาฯ พิพากษาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.62 ให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา

       3.คดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง กล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปี 2546 ได้เสนอให้กระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ซึ่งศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ส.ค.61 ให้ยกฟ้องนายทักษิณ

     และยังมีคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  กำลังพิจารณาอีกคดี คือคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องกล่าวหาแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ - ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551

     คงยังจำกันได้ว่า... นายทักษิณ เคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี เมื่อปี 51  ในคดีที่ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ขณะนั้น) ซื้อที่ดินรัชดา จำนวน 33 ไร่ 78 ตร.ว. ในราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดย นายทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส (ขณะนั้น) และคดีนี้่เป็นคดีแรกที่พิพากษาจำคุกนายทักษิณ และคดีนี้มีอายุความดำเนินคดีภายใน 10 ปี  และนายทักษิณ ได้หลบหนีคดีไปเป็นเวลาถึง 10 ปี แล้ว ทำให้คดีนี้อายุความหมดลง เมื่อ 21 ต.ค.61

      แต่นั่นก็เพราะคดีที่ดินรัชดาฯ เป็นคดีที่พิพากษาก่อนมี พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 29 ก.ย. ปี 2560 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการไม่นับอายุความกรณีจำเลยหลบหนีคดีทั้งระหว่างพิจารณาหรือหลังศาลพิพากษา ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจำเลยจะหนีคดีไปนานแค่ไหน ก็ไม่มีวันหมดอายุความ ต้องหนีคดีตลอดชีวิต  

    แต่อย่างคดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4 พันล้านบาท  ที่ศาลฎีกาฯพิพากษา จำคุกทักษิณ 3 ปี และคดีหวยบนดิน ที่ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกทักษิณ 2 ปี  อาจไม่มีอายุความก็ได้ (ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่า  พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นำมาใช้กับคดีของทักษิณได้หรือไม่ เพราะแม้ว่าทั้งสองคดีนี้ ศาลพิพากษาหลัง พ.ร.ป. วิธีพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บังคับใช้แล้ว แต่คดีทักษิณก็เกิดขึ้นก่อนกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ ซึ่งตามหลักกฎหมายอาญาใช้กฎหมายบังคับย้อนหลังเป็นโทษแก่จำเลยไม่ได้ )

       แต่ที่แน่ๆ ณ วันนี้ ทั้งคดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ที่ศาลฎีกาฯจำคุกทักษิณ 3 ปี และคดีหวยบนดิน ที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกทักษิณ 2 ปี  ยังไม่ขาดอายุความเพราะทั้งสองคดีศาลฎีกาฯเพิ่งมีคำพิพากษาไปปี 62 นี่เอง ดังนั้นต่อให้มีการนับอายุความนำตัวมาดำเนินคดีตามคำพิพากษา  อย่างน้อยก็อีก 10 ปี จึงจะขาดอายุความ

      แต่บางคนบอกว่าไปสนใจทำไมเรื่องตัวบทกฎหมาย ... ยกฟ้อง หรือ จำคุก ทักษิณ ค่าก็เท่ากัน ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น  มีแต่เห็นทักษิณ  ปรากฏตัวที่นั่น ทีนี่  อย่างสบาย ฮ่องกงบ้าง ดูไบบ้าง ลอนดอนบ้าง พร้อมครอบครัว และน้องสาวอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ หรือบางทีก็มีพวกนักการเมืองไปเยี่ยม ออกพบพวกฝรั่ง นักธุรกิจ บ้าง ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร

      หากมองในทางปฏิบัติตอนนี้ ก็อาจจะใช่ เพราะเจ้าหน้าที่ยังบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาไม่สำเร็จ  ยังไม่สามารถนำตัวนายทักษิณเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาลงโทษในประเทศไทยตามคำพิพากษาได้ 

      แต่จากที่ศาลสถิตยุติธรรมมีคำพิพากษา ออกมา ประโยชน์ที่เห็นๆ มี 2 อยู่ประการ

     ประการแรก  เป็นการพิสูจน์ว่า ทักษิณ ทำผิด ในคดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์ให้กับรัฐบาลพม่าและคดีหวยบนดิน จริง  ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งทางการเมืองตามที่ทางทักษิณ กล่าวอ้าง 

      ส่วนคดีแทรกแซงฟื้นฟูทีพีไอที่ศาลฯยกฟ้อง ก็เป็นการให้ความเป็นธรรมกับทักษิณ เมื่อไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ไม่ต้องรับโทษ         

      ประการต่อมา  หากทักษิณ กลับมาประเทศไทยก็ต้องถูกบังคับคดี นำตัวเข้าเรือนจำเพื่อรับโทษในสิ่งที่ทำผิดคือคดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงค์และคดีหวยบนดิน

     แต่ ทักษิณ ไม่กลับมาแน่ ตราบใดที่ยังมีคดีติดตัว ซึ่งในทางการเมือง บางฝ่ายคงชอบใจเพราะเป็นการสกัดไม่ให้ ทักษิณ กลับประเทศไทยแจ้งเกิดทางการเมืองอีกครั้งไปในตัว

   

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ