คอลัมนิสต์

ทิ้งเด็กเล็กอยู่ลำพัง จับลงโทษหนัก... ดี-ไม่ดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 


 

          ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานข่าวคดีทอดทิ้งลูกอ่อนหรือเด็กเล็กไว้ตามลำพัง จนเกิดอันตรายกับเด็กถึงชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการถกเถียงกันถึงกฎหมาย “บทลงโทษ” พ่อแม่หรือผู้ปกครองว่ามีโทษหนักพอหรือไม่ รวมถึงการผลักดันให้องค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมดูแลเด็กเล็กในชุมชนอย่างจริงจัง...

 

 

          ถ้าใครชอบดูหนังฝรั่งเกี่ยวกับนักสืบคดีต่างๆ จะสังเกตได้ว่าผู้ปกครอง ทั้งพ่อแม่ ปู่ย่า หรือตายาย จะไม่ยอมปล่อยให้ “ลูกหลาน” หรือ “เด็ก” อยู่ในบ้านตามลำพังโดยเด็ดขาด ต้องไปขอร้องไหว้วานคนรู้จัก หรือจ้างพี่เลี้ยงมาดูแล เนื่องจากกฎหมายเอาผิดกรณีทิ้งเด็กเล็กไว้ตามลำพังในต่างประเทศมีบทลงโทษรุนแรง เช่น โดนปรับเงินจำนวนมาก ถูกศาลสั่งห้ามดูแลเด็กชั่วคราว หรือแม้กระทั่งโทษจำคุก หากเด็กได้รับอันตรายต่อร่างกายจิตใจ

 

 

 

ทิ้งเด็กเล็กอยู่ลำพัง จับลงโทษหนัก... ดี-ไม่ดี

 


          แตกต่างจากประเทศไทยที่ได้ยินข่าวเด็กเล็กถูกพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ปล่อยทิ้งอยู่ในบ้าน หรือปล่อยให้เล่นนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่มีผู้ใหญ่ช่วยเฝ้าดูแล จนกลายเป็นข่าวโศกนาฏกรรมทำให้เด็กบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปจำนวนไม่น้อย แต่คดีเหล่านี้ไม่ได้มีการเอาโทษผู้ปกครองอย่างจริงจังมากนัก


          เช่น กรณีเด็กน้อย 4 คนถูกปล่อยให้อยู่ในคอนโดแถวหัวหมากตามลำพังช่วงกลางคืน จนพลัดตกลงมาจากระเบียงทั้ง 4 คน โดยน้องคนสุดท้องวัยแค่ 5 ขวบเสียชีวิต ส่วนพี่ๆ ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือเหตุการณ์ที่ อ.ศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี เด็กวัย 7 ขวบเสียชีวิตในสระน้ำข้างฟาร์มเลี้ยงไก่ เนื่องจากพ่อเด็กไปทำงานแล้วทิ้งลูกให้อยู่ตามลำพังหรือกรณีตายาย จ.บุรีรัมย์ ปล่อยให้หลานสาววัยเพียง 3 ขวบ เล่นกับเด็กข้างบ้านวัยเดียวกันตามลำพัง จนเด็กกระโดดเล่นที่บริเวณขอบรถกระบะแล้วคอเสื้อติดกับตัวนอต เด็กไม่สามารถดึงออกเองได้ ไม่มีใครไปช่วยทัน ทำให้ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต

 

 

 

 

ทิ้งเด็กเล็กอยู่ลำพัง จับลงโทษหนัก... ดี-ไม่ดี

 

 


          นอกจากนี้ยังมีกรณีตำรวจพิษณุโลกรับแจ้งว่ามีเด็กชายวัยเพียง 1 ขวบเศษ ตกจากแคร่ไม้หัวทิ่มลงไปในถังสีใหญ่ขนาดใหญ่ 20 ลิตร เพราะปู่ทวดที่ดูแลเผลอนอนหลับไป กว่าจะรู้ตัวเหลนก็เสียชีวิตแล้ว ล่าสุดเหตุการณ์ทิ้งเด็กเล็กอยู่ตามลำพังเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจชลบุรีรับแจ้งว่ามีเด็กหญิง 3 ขวบติดอยู่ภายในบ้าน นั่งร้องไห้เสียงดังอยู่กับสุนัขตามลำพังกลางดึก แต่เพื่อนบ้านไม่อาจเข้าไปช่วยได้ จนต้องให้ทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยตัดกุญแจช่วยเด็กออกมา กว่าแม่จะกลับจากทำธุระก็ประมาณตี 2-3 ระหว่างนี้เด็กต้องไปรออยู่กับตำรวจ


          คดีสลดใจเกี่ยวกับเด็กเล็กถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังข้างต้นนั้น ผู้ปกครองมักร้องไห้เศร้าโศกเสียใจอย่างหนัก ตำรวจส่วนใหญ่จึงมักถือเป็นเรื่องอุบัติเหตุ ไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้ใด ญาติๆ ก็ไม่ได้ติดใจเอาความ


          ขณะที่ในยุโรปหรืออเมริกามี “กฎหมายเข้มงวด” ในเรื่องนี้แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่มักแบ่งอายุของเด็กออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเด็กเล็กมากอายุต่ำกว่า 7-8 ขวบ ผู้ปกครองไม่สามารถปล่อยให้อยู่ตามลำพังโดยเด็ดขาด แต่ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อยอายุ 8–10 ขวบอาจให้อยู่ตามลำพังได้ไม่เกิน 30 นาที เฉพาะช่วงเวลากลางวันเท่านั้น ส่วนเด็กอายุ 11 ขวบขึ้นไป สามารถให้อยู่ตามลำพังได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ห้ามให้อยู่คนเดียวตลอดทั้งคืนหรือข้ามคืนไปถึงวันรุ่งขึ้น

 

 

 

ทิ้งเด็กเล็กอยู่ลำพัง จับลงโทษหนัก... ดี-ไม่ดี

 


          ถ้ามีเพื่อนบ้านหรือใครพบเห็นพ่อแม่ทิ้งลูกเล็กไว้ตามลำพังแล้วไปแจ้งความ ผู้ปกครองจะถูกดำเนินคดี โดยศาลจะพิจารณาตัดสินลงโทษตามความเหมาะสม เช่น กรณีที่เกิดขึ้นกลางเดือนมีนาคม 2562 ตำรวจหญิงวัย 29 ปีในรัฐมิสซิสซิปปี เผลอหลับปล่อยให้ลูกสาววัย 3 ขวบอยู่ในรถยนต์โดยสภาพอากาศร้อนจัดนานกว่า 4 ชั่วโมง เป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต อัยการยื่นคำร้องให้ลงโทษจำคุก 20 ปีทันที หรือถ้าเป็นกรณีอื่น ๆ ที่เด็กไม่ได้เสียชีวิต ศาลมักใช้วิธีลงโทษไม่ให้ดูแลเด็กช่วงเวลาหนึ่ง โดยส่งเด็กไปอยู่กับเจ้าหน้าที่ในศูนย์คุ้มครองเด็กชั่วคราว พร้อมสั่งให้ผู้ปกครองเข้ารับการอบรมสั่งสอน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติในการเลี้ยงดูเด็กเล็กจนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หรือจนมั่นใจได้ว่าเด็กสามารถกลับไปอยู่ด้วยอย่างปลอดภัย ผู้ปกครองจึงจะได้รับอนุญาตให้นำตัวเด็กกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง


          สำหรับประเทศไทยนั้น มีกฎหมายสำคัญเอาผิดผู้ปกครองทอดทิ้งหรือดูแลเด็กอย่างไม่ปลอดภัยได้แก่ “พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546” มาตรา 25 – 26 และ “กฎหมายอาญา” มาตรา 306–308 โดย พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้ปกครองต้องไม่ละทิ้งเด็กไว้โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพหรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม หรือจงใจหรือละเลยจนเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก หรือบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด โทษที่กำหนดไว้คือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

 

 

 

ทิ้งเด็กเล็กอยู่ลำพัง จับลงโทษหนัก... ดี-ไม่ดี

 


          ส่วนประมวลกฎหมายอาญาระบุว่า ใครที่ปล่อยหรือทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกิน 9 ปี ให้อยู่ตามลำพัง โดยไม่มีคนดูแล จะโดนโทษหนักจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท และถ้าเด็กที่ถูกทอดทิ้งได้รับอันตรายสาหัสหรือเสียชีวิต จะโดนโทษไม่ต่างจากผู้ทำผิดฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัสหรือฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา


          แสดงเห็นว่า “กฎหมายไทย” ให้ความสำคัญและต้องการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด แต่การดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่จริงจัง เป็นเหตุให้เกิดกรณีเด็กถูกล็อกให้อยู่บ้านคนเดียว หรือปล่อยปละละเลยให้วิ่งข้ามถนน หรือไปเล่นน้ำจนได้รับอันตรายหรือเสียชีวิตมีจำนวนไม่น้อย


          ข้อมูลสถิติกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบว่า “เด็กไทยตายจากเหตุจมน้ำสูงเป็นอันดับ 1” หมายความว่าเสียชีวิตมากกว่าป่วยหรือเป็นโรคร้าย โดยรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่า 900 คน หรือวันละ 2.5 คน มากกว่าสถิติประเทศอื่น 5–15 เท่า โดยร้อยละ 50 เกิดจากเด็กเล็กไปเล่นน้ำตามลำพังโดยไม่มีผู้ปกครองช่วยดูแล


          “สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์” อดีตคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการทอดทิ้งเด็กเล็กให้อยู่ตามลำพังในประเทศไทยว่า


          สภาพครอบครัวคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยกันทำมาหากินทั้งวัน ไม่มีเวลาหรือไม่มีเงินไปจ้างพี่เลี้ยงเด็กมาดูแล ดังนั้นควรมีการสร้างสถานที่หรือศูนย์ช่วยเหลือการเลี้ยงดูเด็กเล็กในชุมชน เช่น เดย์แคร์ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่าเป็นภาระหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องจัดตั้งขึ้นมา แต่รัฐบาลก็ละเลยไม่ได้สนใจทำอย่างจริงจัง

 

 

 

ทิ้งเด็กเล็กอยู่ลำพัง จับลงโทษหนัก... ดี-ไม่ดี

 

 


          “พวกเราคนไทยต้องออกมาช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ จะใช้บทลงโทษหนักตามกฎหมายอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องมีมาตรการทางสังคมเข้าไปช่วยด้วย โดยเฉพาะชุมชนต้องเข้ามาบริหารจัดการ เช่น เงินภาษีของชาวบ้านอยู่ที่ อปท.ไม่น้อย ควรจัดให้มีศูนย์บริการดูแลเด็กเล็กในชุมชนทั่วประเทศ และช่วยกันปลูกจิตสำนึกระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก 3 ประการ คือ 1.ต้องมีความรักความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น 2.มีความไว้วางใจ เชื่อใจซึ่งกัน และ 3.ต้องมีความรู้สึกหนาวร้อนเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่าย หากครอบครัวไหนมี 3 ข้อนี้แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจะลดน้อยลงทันที” ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กข้างต้นกล่าวแนะนำ


          จากปัญหาที่เกิดขึ้นข้างต้น หน่วยงานทั้งภาครัฐและสังคมควรรีบช่วยกัน “จัดเวทีระดมสมอง” หาวิธีจัดการผู้ปกครองที่ “ทอดทิ้งเด็กเล็กอยู่ลำพัง” ว่าควรมีแนวปฏิบัติจริงจังอย่างไร หรือให้ทำโทษมากน้อยเพียงไร เพื่อให้เกิดความระมัดระวังมากกว่านี้...


          ปากคนไทยชอบพูดว่า “รักเด็ก” “เด็กเป็นอนาคตของชาติ” แต่เมื่อต้องช่วยกันปกป้องเด็ก กลับไม่ค่อยมีหน่วยงานสนใจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ คงต้องดูท่าทีว่าทีมผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยุคใหม่จะจัดการอย่างไร...

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ