คอลัมนิสต์

ภัยสิ่งเสพติดจำแลง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2562

 

 

 

          กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีความพยายามจากบางฝ่ายสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายปลดล็อกจากสินค้าควบคุมให้สามารถนำเข้าได้ โดยอ้างบทความงานวิจัยในต่างประเทศที่ระบุว่าไม่อันตราย แถมเป็นประโยชน์ต่อคนต้องการเลิกบุหรี่ด้วยซ้ำ และหากบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องรัฐบาลจะได้เข้ามาดูแลได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการเรียกเก็บภาษีที่จะช่วยเพิ่มรายได้รัฐอีกทางหนึ่ง ในขณะที่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งซึ่งอ้างงานวิจัยจากทั้งในและต่างประเทศ กลับพบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ก่อให้เกิดการเสพติดเหมือนบุหรี่ นิโคตินมีคุณสมบัติที่ก่อให้เกิดการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา ซึ่งในอุตสาหกรรมยาสูบทราบดีตั้งแต่ปี 2493 ว่าสารดังกล่าวก่อให้เกิดการเสพติดและสามารถควบคุมปริมาณที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจกับผู้เสพได้

 

 


          ภายใต้บริบทกฎหมายของประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมอย่างเด็ดขาด เริ่มตั้งแต่การห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าที่ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 


          บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นปัญหาถกเถียงกันในประเทศไทยทั้งกรณีที่เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้าจำหน่ายและให้บริการ แต่ก็ยังมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศมากกว่า 300,000 ราย ขณะเดียวกันหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังคงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายหรือปลอดภัย แต่ในหลักการของการเลิกบุหรี่จำเป็นต้องลดระดับการรับสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสารดังกล่าวเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลเสียต่อสมองและหัวใจ จึงต้องค่อยๆ ลดปริมาณนิโคตินลงและเลิกรับเข้าสู่ร่างกาย จึงมีการแสดงความเป็นห่วงว่าหากผู้สูบไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน 1 ปี ก็จะเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมยาสูบ และจะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมยาสูบในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอันตรายน้อยกว่า เหตุผลของความย้อนแย้งดังกล่าวนำไปสู่คำถามสำคัญของประเทศว่าบุหรี่ไฟฟ้าควรเป็นมาตรการทางเลือกสำหรับการเลิกบุหรี่ของประเทศไทยหรือไม่

 


          รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันชัดเจนจะไม่มีการทบทวนนโยบายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งมีบางคนอยากให้นำสินค้าผิดกฎหมายในตลาดมืดเหล่านี้ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลมาทำให้ถูกกฎหมาย บางครั้งเรามองแค่รายได้ที่จะได้จากภาษีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองถึงสุขภาพด้วย ที่ผ่านมาเราเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองจำนวนมาก หรือหลายโรคที่เรียกว่าโรคไม่ติดต่อ แต่เป็นโรคที่ทรมาน อย่างยิ่งทั้งคนที่เป็นเหยื่อและคนที่ต้องดูแล เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในบ้านเมืองเรา จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งภาคประชาสังคมต้องร่วมกันรณรงค์ชี้แจงให้ชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้านำมาซึ่งอันตรายส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้สูบรวมทั้งเด็กและเยาวชน ที่สำคัญต้องเข้มงวดในการใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างจริงจังด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ