คอลัมนิสต์

ปรากฏการณ์ "ประชาชนปฏิรูป" บทพิสูจน์ "พรรคเล็ก" ตายก่อนโต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ไพบูลย์" เปิดใจ ถึงเหตุผลสำคัญที่ต้อง ทุบโต๊ะ เพื่อเลิกพรรค หลังจากที่ปลุกปั้นและก่อร่างมากับมือ เหตุมาจากบทโหดใน"กติกาเลือกตั้ง"

   ขนิษฐา เทพจร 

   การก่อตั้ง“พรรคประชาชนปฏิรูป”ที่มี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เป็นหัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 (นับจากวันที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) รับรองความเป็นพรรค) ผ่านมา 10 เดือน ถึงคราวที่ พรรคนี้ต้องมีอันเป็นไป

   หลังกรรมการบริหารพรรค ที่มี “ไพบูลย์” เป็นหัวโต๊ะ เคาะบทสรุปและยุติการเป็นพรรคการเมือง และยื่นเรื่องนี้ ต่อ นายทะเบียน ให้รับรองการ “เลิกความเป็นพรรค” ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดไว้ในมาตรา 91(7)

   โดยห้วงเวลาจากนี้ คือ การรอการพิจารณาของ กกต.​ฐานะนายทะเบียน และประกาศการเลิกพรรคอย่างเป็นทางการ ในราชกิจจานุเบกษา ที่คาดว่าไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ จะมีผลอย่างเป็นทางการ ที่ “พรรคประชาชนปฏิรูป” ถูกตัดออกจากระบบความเป็นพรรคการเมือง

    กับเรื่องนี้ “ไพบูลย์” เปิดใจกับ ทีมข่าวคมชัดลึกออนไลน์ ถึงเหตุผลสำคัญที่ต้อง ทุบโต๊ะ เพื่อ เลิกพรรค หลังจากที่ปลุกปั้นและก่อร่างมากับมือ

    “ผมไม่เสียใจนะ เพราะเรื่องนี้ มีเกิด ก็ต้องมีดับ เหมือนที่คำสอนของพระพุทธเจ้าเคยกล่าวเอาไว้ เมื่อกรรมการบริหารพรรคลาออก และมีส่วนหนึ่งแจ้งความประสงค์จะลาออก ผมไม่มีคนทำงาน เพราะกรรมการบริหารพรรคนั้นถือเป็นกลไกขับเคลื่อนงานตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบกำหนดไว้ ทั้งงานของสาขาพรรค, ตัวแทนพรรคในจังหวัดต่างๆ รวมถึงการหาสมาชิกพรรค ทำให้หารือกัน แล้วลงมติเอกฉันท์ เลิกพรรคดีกว่า จะเข็นไปแบบนี้ แล้วพรรคทำไม่ได้ตามกติกา จนนำไปสู่การเลิกกิจการของพรรคการเมืองในภายหน้า”

      ขณะที่ข้อสังเกตอีกอย่าง คือ ขาด “เงิน” ขับเคลื่อนพรรค“หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป” ปฏิเสธ เพราะทุนที่ขับเคลื่อนพรรค เพิ่งได้รับจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 8 แสนบาท แต่เงินส่วนนี้จะคืน กกต. ภายหลังจากที่การเลิกพรรคมีผลโดยสมบูรณ์

     ในวันที่เริ่มก่อตั้งพรรค ที่ประกาศตนและแสดงเจตจำนง จะตั้งพรรค เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ภายใต้อุดมการณ์สร้าง“สภาประชาชน77จังหวัด” เพื่อผลักดันงานการเมืองและแก้ปัญหาให้ประชาชนหลังจากที่“ไพบูลย์” ในฐานะอดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญในชุดของ“บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อกหักจากข้อเสนอให้บัญญัติให้มีสภาประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับยกร่างครั้งแรก

     ถือเป็นแนวคิดที่ถูกตั้งคำถามจากสังคม ว่า จะเป็นจริงได้หรือไม่? และตอนนี้พรรคต้องเลิก อุดมการณ์ที่ว่า ต้องละทิ้งใช่หรือไม่“ไพบูลย์” ถอนหายใจก่อนตอบว่า“เมื่อผมย้ายไปพรรคพลังประชารัฐแล้ว มีโอกาสจะผลักดันสภาประชาชนได้ แต่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามอุดมการณ์อื่นๆ ของพรรคที่เคยระบุไว้ผมยืนยันจะสานต่อแน่นอน โดยเฉพาะประเด็นของพระพุทธศาสนา ที่ตั้งใจจะเข้าไปเป็นกรรมาธิการการศาสนาของ ศิลปะ วัฒนธรรม ของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขับเคลื่อน”

     และเหตุผลสำคัญที่ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนปฏิรูป” ประกาศเจตนาจะย้ายเข้าสังกัด “พลังประชารัฐ” นั้น หากจับความตั้งแต่ช่วงแข่งขันเลือกตั้ง เขาประกาศสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุคนั้น เป็น “นายกฯ” หลังการเลือกตั้ง ซึ่ง “พลังประชารัฐ” คือ พรรคการเมืองที่ชู “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ

     เมื่อวันที่ “ไพบูลย์” ถูกระบบคำนวณคะแนนรวมของพรรค ที่ได้กว่า 4 หมื่นคะแนน จนได้เป็น “ส.ส.บัญชีรายชื่อ” และยกมือสนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ตามเป้าหมาย สิ่งที่ถูกตั้งคำถามอีกประเด็น หลังปรากฎการณ์​ “เลิกพรรค” คือ การไม่ได้สิ่งตอบแทนใดๆ จาก “ฟากรัฐบาล” ใช่หรือไม่ ทำให้ “กรรมการบริหารพรรค” น้อยใจขอลาออก

    “นานาจิตตังในเรื่องนี้ และผมไม่ได้ถามคนที่ลาออกไปด้วยว่า เพราะสาเหตุอะไร เนื่องจากเป็นเอกสิทธิ์ของเขา แต่ผมเข้าใจเขาในเหตุที่ลาออกไป เพราะมีงานอื่นที่เขาต้องทำ ที่ผ่านมาเขาทำงานให้พรรคแต่ไม่ได้รับตำแหน่ง ส.ส. และหากจะรอให้มีการเลือกตั้งโอกาสที่เขาจะเป็น ส.ส.คงยาก”

    อย่างไรก็ตามในประเด็น “เลิกพรรค” และ ส.ส. ย้ายสังกัดไปพรรคอื่น ในทางกฎหมายถูกตั้งคำถาม ว่า ทำได้หรือไม่? และสิทธิของการเป็น “ส.ส.” นั้นจะคงอยู่หรือไม่ เพราะ “ไพบูลย์” คือส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มาโดยคะแนนของพรรค และเมื่อย้ายไปสังกัดพรรคอื่น คะแนนที่ได้มานั้นจะต้องเกลี่ยให้พรรคใหม่ เพื่อคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่?

      กับประเด็นแรก ว่าด้วยการเลิกพรรค “ไพบูลย์” อธิบายตามบทบัญญัติของ “พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง” มาตรา 91 ว่าด้วยการสิ้นสภาพพรรคการเมือง ว่าสามารถทำได้ และยังมีอีก 2 พรรคที่ใช้ช่องทางนี้เลิกกิจกรรมของพรรคและยื่นต่อ นายทะเบียนพรรคแล้วเช่นกัน

    โดยรายละเอียดของ มาตรา 91ด้วยการสิ้นสภาพพรรคการเมือง ที่เขียนไว้ 7 กรณี คือ ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้อง, สมาชิกมีไม่ถึงเกณฑ์กำหนด, สาขาพรรคไม่ครบตามกำหนด, ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคหรือไม่ทำกิจกรรมทางการเมือง 1 ปี ติดต่อกัน, ไม่ส่งสมาชิกลงเลือกตั้ง 2 ครั้งติดต่อกันหรือ8 ปีติดต่อกัน, มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย และ พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ

     และในวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวขยายความด้วยว่า การสิ้นสภาพพรรคตาม 7กรณีนั้น ให้ถือว่า “เป็นการยุบพรรค”

       “เมื่อกรณีที่เราทำภายใต้มติของกรรมการบริหาร ถือเป็นการยุบพรรค ผมฐานะ ส.ส. ยังได้รับความคุ้มครอง จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ให้ ส.ส.หาสังกัดใหม่ได้ภายในเวลา 60วัน ซึ่งทั้งหมดผมได้พิจารณาในข้อกฎหมายอย่างละเอียดแล้ว” ไพบูลย์ ขยายความ

       และตอบคำถามต่อประเด็น "คะแนนเลือกตั้ง"ในนามพรรคประชาชนปฏิรูป ต่อว่า“กรณีหาสังกัดใหม่ กฎหมายไม่ได้บอกว่า ต้องเป็น ส.ส.เขต หรือส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะฐานะคือ ส.ส.เหมือนกัน ดังนั้นผมจึงมีสิทธิเป็น ส.ส.ต่อไปในนามพรรคพลังประชารัฐ ไม่ต้องต่อคิวนับลำดับกัน อย่างไรก็ดี หากอนาคตจะเกิดอุบัติเหตุ ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายในระยะเวลา 1 ปีจากนี้ ที่กฎหมายกำหนดให้คิดคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อใหม่ ผมดูแล้วว่า การเปลี่ยนคะแนนจะไม่เกิดแบบที่ส่งผลให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬาร และส่งผลต่อส.ส.ของพรรคประชาชนปฏิรูปในปัจจุบัน แต่หากมีขึ้นคะแนนของพรรคพลังประชาชนปฏิรูปที่มีจะไม่สามารถนำไปรวมกับพลังประชารัฐ เพื่อเลื่อนบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐเป็นส.ส.ได้”

      แต่ในคำอธิบายของ “หัวหน้าประชาชนปฏิรูป” กลับถูกโต้แย้งจากนักกฎหมายว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะ“สมาชิกภาพ” และในทางปฏิบัติควรให้“ศาลรัฐธรรมนูญ”ตีความ

      อย่างไรก็ดี ปมสำคัญ​ที่กลายเป็น“ต้นเหตุ”​ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ระบุตอนต้นคือ ขาดบุคลากรทำงาน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว หลังจากตั้งพรรคการเมือง มีกติกาที่กำหนดให้ทำ ทั้งการตั้งสาขาพรรคให้ครบ 4 ภาค, มีตัวแทนประจำจังหวัด และการหาสมาชิกพรรค ที่หลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกแล้ว “คำสั่งมาตรา 44” ที่งดเว้นการใช้ เกณฑ์สมาชิกขั้นต่ำเพื่อได้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ถือว่า สิ้นสุดลง และหากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตใดได้ ต้องใช้เกณฑ์สมาชิกพรรค เกิน 100 คนขึ้นไปเป็นเกณฑ์ และต้องทำไพรมารี่โหวต หรือ การเลือกตั้งขั้นต้นในพรรคก่อนส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

      ดังนั้นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด แม้เป็นมาตรฐานกำกับที่ดี แต่สร้างปัญหาให้ พรรคการเมืองขนาดเล็ก

       ซึ่งพรรคประชาชนปฏิรูป ทำให้เห็นแล้วว่า เป็นประเด็นที่ “พรรค” เดินต่อไปไม่ไหว ในเรื่องนี้ “ไพบูลย์” ให้ความเห็นไว้ว่า“แม้เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก แต่กติกาที่กำหนดไว้ ต้องทำเหมือนกับพรรคการเมืองใหญ่ ที่มีบุคลากรมาก ดังนั้นพรรคเล็กถือว่าเสียเปรียบ หากพรรคใดทำได้ ก็อยู่ได้ แต่หากพรรคไหนทำไม่ได้ ต้องเลิกไป ผมไม่ติดใจกติกาที่เข้มข้น แต่ต้องยอมรับว่ามีตั้งพรรคได้ ต้องเลิกได้”

      “ผมยังอยากเป็นหัวหน้าพรรคต่อ แต่เมื่อไปไม่ไหว ขอเลิก ก่อนจะทำให้พรรคต้องทำผิดกฎหมาย ส่วนอนาคตต่อไป ผมตัดสินใจว่าจะเข้าไปช่วยงานด้านกฎหมายในพรรคพลังประชารัฐ ส่วนจะมีตำแหน่งในฐานะคณะทำงานหรือหัวหน้าฝ่ายกฎหมายหรือไม่ ยังไม่คิดถึงขนาดนั้น”หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ก่อนจะกลายเป็นอดีต ปิดท้าย

      และนี่อาจเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่บทโหดใน “กติกาเลือกตั้ง” กลายเป็นสิ่งที่ทำลาย“พรรคการเมือง” ที่ก่อตั้งใหม่ และเร่งโตมากจนเกินไป.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ