คอลัมนิสต์

สถานการณ์เด็กไทยเสี่ยงภัย ออนไลน์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  

 

 


          สังคมยุคโซเชียลมีเดียในปัจจุบันทำให้การสื่อสารง่ายแค่ปลายนิ้ว ทั้งกับคนที่รู้จักคุ้นเคยหรือเพื่อนใหม่คนแปลกหน้าที่ผ่านเข้ามาในโลกออนไลน์ ถ้ารู้เท่าทันก็เกิดประโยชน์ แต่ถ้าไม่..ก็จะมีโทษมหันต์เช่นกัน โดยเฉพาะเด็กเยาวชน

 

 

          สำหรับเรื่องนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย ศูนย์ประสานงานส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือ โคแพท (COPAT – Child Online Protection Action Thailand) มีการแถลงผลสำรวจที่ทำร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เกี่ยวกับ “สถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์” ซึ่งทำการสำรวจทางออนไลน์เมื่อเดือน กุมภาพันธ์-เมษายน 2562 กลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามอายุ 6-18 ปี จำนวน 15,318 คน จากทั่วประเทศ

 

 

สถานการณ์เด็กไทยเสี่ยงภัย ออนไลน์

 


          เด็กเกือบทั้งหมดเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์แต่ก็ตระหนักเรื่องภัยอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบที่น่าเป็นห่วงคือเด็ก 86% เชื่อว่าตนสามารถให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบภัยออนไลน์ได้ ในขณะที่ 54% เชื่อว่าเมื่อเกิดกับตนเองสามารถจัดการปัญหานั้นได้ โดยเด็กมากกว่า 83% ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน ใช้เพื่อพักผ่อน/บันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เป็นหลัก คือ 67%​


          นอกจากนี้เด็ก 39% ใช้อินเทอร์เน็ต 6-10 ชั่วโมงต่อวัน และ 38% เล่นเกมออนไลน์มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการใช้มากเกินไปเสี่ยงต่อการเสพติดเกมและอินเทอร์เน็ต กลายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิต ขณะที่เด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ เพศทางเลือกโดนมากที่สุดคือ 49% และเด็ก 40% ไม่ได้บอกใครเกี่ยวกับเรื่องที่โดนกลั่นแกล้ง นั่นหมายถึงเด็กบางส่วนอาจทนทุกข์กับเรื่องที่โดนแกล้ง หรือบางส่วนอาจไม่รู้สึกหรือไม่ได้ให้ค่ากับคนที่แกล้ง

 

 

 

 

สถานการณ์เด็กไทยเสี่ยงภัย ออนไลน์

 

 


          จากการสำรวจยังพบเด็ก 34% เคยกลั่นแกล้งรังแกคนอื่นทางออนไลน์ซึ่งส่วนหนึ่งบอกว่าเป็นการโต้ตอบที่ตนเองโดนแกล้ง การกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ สร้างความทุกข์ เจ็บปวด เก็บกด หดหู่ บาดแผลทางใจให้เด็ก ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกาย ทำให้นอนไม่หลับ เจ็บป่วยเรื้อรัง เป็นโรคหวาดระแวง ใช้สุราหรือสารเสพติด อาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือครู ควรหมั่นสังเกตอาการเด็กแล้วเข้าช่วยเหลือโดยเร็ว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของเด็กอีกประเดี๋ยวคงผ่านไป เพราะภาพหรือคลิปวิดีโอบนโลกออนไลน์จะวนเวียนทำร้ายเด็กไม่สิ้นสุด เด็ก 74% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ 50% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารเด็ก 6% เคยครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก เคยส่ง ส่งต่อ หรือแชร์ สื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และเด็ก 2% ยอมรับว่าเคยถ่ายภาพหรือวิดีโอตนเองในลักษณะลามกอนาจารแล้วส่งให้คนอื่นๆ ด้วย โดยพฤติกรรมเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่อาจนำภัยอันตรายมาถึงตัว

 

 

สถานการณ์เด็กไทยเสี่ยงภัย ออนไลน์
          เรื่องที่ต้องเตือนกันจากผลสำรวจรอบนี้ พบว่าเด็ก 1 ใน 4 หรือกว่า 4,000 คน เคยนัดพบกับเพื่อนที่รู้จักกันในโลกออนไลน์ และนัดเจอกัน เรื่องที่เกิดตามมา คือโดนพูดจาล้อเลียน ดูถูก และทำให้เสียใจ หลอกให้เสียเงิน เสียทรัพย์ ที่สำคัญประเด็นที่นัดเจอกันแล้วถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด และเกิดขึ้นจริง มี 73 คน หรือ 1.9% ตลอดจนมีความเสี่ยงสูง เพราะพอนัดเจอกันแล้วอาจถูกทุบตี ทำร้ายร่างกาย หรือถ่ายภาพ คลิปวิดีโอ แล้วนำไปประจานไปแบล็กเมล์ข่มขู่เรียกเงินอีก


          ข้อมูลจากการสำรวจที่มาจากเด็กและการติดตามสถานการณ์ผ่านสื่อในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นข้อมูลที่ยืนยันว่าจะต้องจริงจังกับมาตรการป้องกันและช่วยเหลือเด็กให้มากยิ่งขึ้น..!!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ