คอลัมนิสต์

ข้อดี-ข้อเสีย ผู้ป่วยบัตรทอง เบิกยาใกล้บ้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 


 

          ประเทศไทยมี “โรงพยาบาลรัฐ” ประมาณ 1,000 แห่ง แต่มีร้านขายยาไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นแห่ง เฉพาะในกรุงเทพฯ มากกว่า 4,800 ร้าน นั่นคือที่มาของแนวคิด “ผู้ป่วยบัตรทองโรคเรื้อรัง...ให้ไปรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านได้” เพื่อความสะดวกและลดความแออัดของโรงพยาบาล นโยบายนี้ได้ใจชาวบ้านไม่น้อย เพียงแต่ต้องมองให้รอบด้าน แม้ “ข้อดีมีเยอะ”.. แต่ข้อควรระวังก็มีไม่น้อย !

 

 

ข้อดี-ข้อเสีย ผู้ป่วยบัตรทอง เบิกยาใกล้บ้าน

 

 

          “บัตรทอง” หรืออดีตเรียกกันว่า 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น เริ่มตั้งแต่ปี 2544 ผ่านมา 18 ปีแล้ว กระทรวงสาธารณสุขได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนว่าพึงพอใจมากน้อยเพียงไร ปรากฏว่า "ผลสำรวจความพึงพอใจประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2561" พบชาวบ้านครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51 ไม่ไปใช้บริการเพราะ “รอนานเกินไป” จึงขอไปหาซื้อยาเองตามร้านขายยาดีกว่า แม้ต้องจ่ายค่ายาแพงกว่าและไม่ใช่ยาฟรี แต่คุ้มกับการที่ต้องหยุดงาน 1 วันเดินทางแต่เช้ามืด จ่ายค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าข้าว ค่าจิปาถะ ฯลฯ รวมเป็นเงินหลายร้อยบาท ถ้าไม่ได้ป่วยหนักมาก “ซื้อยาหมอตี๋” ง่ายกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีกลุ่มคนป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปี เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ ไม่อยากเสียเวลามารับยาที่โรงพยาบาลทุกเดือน ก็เลยพาลไม่กินยา หรือกินไม่ต่อเนื่อง ทำให้อาการดีๆ แย่ๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่หมอสั่งยาให้กินต่อเนื่อง แต่ไม่อยากกิน เพราะอาการหายแล้วหรือลืมกินยาจนหมดอายุ ทำให้เกิดปัญหา “ยาเหลือใช้” ในบ้านผู้ป่วย สูญเสียงบประมาณส่วนนี้ไปปีละหลายพันล้านบาท

 

 

ข้อดี-ข้อเสีย ผู้ป่วยบัตรทอง เบิกยาใกล้บ้าน

 


          ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายแพทย์และเภสัชกรพยายามเสนอทางออก ด้วยการเปิดทางเลือกให้ “ผู้ป่วยบางโรคไปใช้สิทธิบัตรทองรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้านโดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน” แต่ดูเหมือนมีอุปสรรคติดขัดหลายประการ จึงไม่ได้รับการตอบรับจากกระทรวงสาธารณสุขเท่าที่ควร


          จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2562 “อนุทิน ชาญวีรกูล” รมว.สาธารณสุข เชิญ “คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ สปสช.” มาประชุมร่วมกันในวาระพิเศษ หารือการลดเวลารับบริการของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล และความเป็นไปได้ใน “การจัดบริการเพื่อให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยา” สุดท้ายมีข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะทดลองนำร่องในโรงพยาบาล 50 แห่ง และร้านยาคุณภาพ 500 แห่งทั่วประเทศ




          แต่จ่ายยาเฉพาะ 4 โรคเรื้อรัง คือ 1.เบาหวาน 2.ความดันโลหิตสูง 3.หอบหืด และ 4.โรคจิตเวช


          เนื่องจากผู้ป่วย 4 โรคนี้ ต้องรับยาต่อเนื่องและมีจำนวนรวมแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ส่วนวิธีการรับยานั้น มี 3 ทางเลือก โดยแต่ละทางเลือกมีการประเมินข้อดี–ข้อเสียเบื้องต้น ดังนี้


          ทางเลือก 1 โรงพยาบาลจัดยาและส่งยาไปร้านขายยา ทางเลือกนี้ ข้อดี คือ ลดความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาลข้อเสีย คือ เพิ่มภาระหน้าที่บุคลากรและเภสัชกรโรงพยาบาลในการจัดยาและส่งยา

 

 

 

ข้อดี-ข้อเสีย ผู้ป่วยบัตรทอง เบิกยาใกล้บ้าน

 

 

          ทางเลือก 2 ส่งยาไปสำรองไว้ที่ร้านขายยาและให้เภสัชกรในร้านเป็นผู้จัดยาตามใบสั่งแพทย์ ข้อดี ช่วยลดภาระโรงพยาบาล แต่ ข้อเสีย คือต้องมีระบบจัดการคลังยาที่ดีมาก เพราะร้านขายยาทำหน้าที่เป็นเหมือนห้องจ่ายยาขนาดย่อยของโรงพยาบาล และทางเลือก 3 ร้านยาจัดซื้อยาและสำรองจ่ายยาให้ผู้ป่วยเอง จากนั้นมาเก็บเงินที่โรงพยาบาล ข้อดี คือลดภาระของโรงพยาบาล และไม่ต้องมีระบบจัดการเชื่อมโยงข้อมูลคลังยาที่ซับซ้อน ข้อเสีย คือร้านยาขนาดกลางและเล็กอาจไม่เข้าร่วม เพราะต้องสำรองจ่ายเงินก่อนเป็นจำนวนมากพอสมควร


          เมื่อทั้ง 3 ทางเลือกมีข้อดี–ข้อเสีย ผู้เข้าร่วมประชุมจึงขอเวลาไปศึกษาและจะนำเสนออีกครั้งในวันที่ 2 กันยายน 2562 โดย “รมว.อนุทิน” ขอให้เร่งเครื่องนิดหนึ่งเพราะอยากเริ่มนำร่องตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ด้วยการทดลองกับโรงพยาบาลรัฐ 50 แห่ง และร้านยาคุณภาพ 500 แห่งทั่วประเทศ พร้อมกล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า


          “เรื่องนี้ประชาชนได้ประโยชน์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความมั่นใจของผู้ป่วย ต้องเป็นยาตัวเดียวกันเหมือนกับที่ได้รับจากโรงพยาบาล หากจำเป็นต้องเปลี่ยนยาต้องมีหมอสั่งเท่านั้น ร้านยาห้ามเปลี่ยนเอง”


          ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาล หมอและเภสัชกรหลายพื้นที่ในต่างจังหวัด พยายามทดลองทำตามแนวคิดนี้ เช่น “โครงการระบบเติมยาผู้ป่วยที่ร้านยาคุณภาพ” เมื่อปี 2557 โดยความร่วมมือของ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่น และร้านยาที่มีเภสัชกรประจำ 20 แห่ง ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผลปรากฏว่าชาวบ้านพึงพอใจเป็นอย่างมาก ช่วยให้ผู้ป่วยบัตรทองที่มีภาวะโรคคงที่ แต่ต้องกินยาต่อเนื่อง เช่น เด็กที่เป็นโรคหืดหอบ คนป่วยเบาหวาน มีความสะดวกในการรับยาร้านใกล้บ้านตามใบสั่งแพทย์ ไม่เสียเวลา ไม่ต้องลางาน และมีระบบการติดตามคนไข้กินยาอย่างต่อเนื่อง มีการแนะนำใช้ยาอย่างเหมาะสม ฯลฯ


          ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวพบอุปสรรคเบื้องต้นว่า “ร้านขายยา” ที่เข้าร่วมไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากโครงการนี้โดยตรงมากนัก กลับกลายเป็นภาระรับผิดชอบจัดหายาให้ผู้ป่วยแทนโรงพยาบาล โดยไม่ได้รับค่าส่วนแบ่งหรือค่าบริหารจัดการอย่างเพียงพอ  

 

 

 

ข้อดี-ข้อเสีย ผู้ป่วยบัตรทอง เบิกยาใกล้บ้าน

 


          รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม วิเคราะห์ให้ฟังว่า ที่ผ่านมาได้เสนอนโยบายนี้ไปยังรัฐบาลหลายยุคสมัยแล้ว แต่ไม่ได้รับเสียงตอบรับเท่าไร ต้องชื่นชมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขชุดใหม่ที่ให้ความสนใจและเข้ามาช่วยผลักดัน เนื่องจากปัญหาผู้ป่วยแออัดและปริมาณงานมากล้นของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ รวมถึงไม่มีงบประมาณจ้างเภสัชกรเพิ่ม ทำให้เกิดปัญหาความผิดพลาดในการสั่งจ่ายยา และปัญหาการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลในต่างประเทศมักใช้ระบบแบ่งหน้าที่ส่วนนี้ไปให้ร้านขายยาในชุมชนใกล้บ้านผู้ป่วย


          “วิธีการที่เสนอคือ ให้ผู้ป่วยบัตรทองไปลงทะเบียนว่าต้องการใช้บริการร้านขายยาชื่ออะไร ตั้งอยู่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน และร้านขายยาก็ต้องมาขึ้นทะเบียนด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบมาตรฐานและข้อมูลอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะการมีเภสัชกรประจำร้านไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง หรือตลอดเวลาที่เปิดทำการ เพื่อการันตีว่าคนไข้จะได้รับยาและคำแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมไม่ต่างจากการไปโรงพยาบาล ซึ่งตรงนี้ สปสช.ก็ต้องช่วยภาระค่าใช้จ่ายของร้านขายยาในชุมชนด้วย เพราะต้องจ่ายค่าสถานที่ ค่าเก็บยา ค่าเภสัชกร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ช่วงนี้หลายฝ่ายกำลังช่วยกันประเมินว่าควรเป็นเงินเท่าไร วิธีจ่ายทำอย่างไร งบประมาณตรงนี้จะเพิ่มขึ้นมา โดยแยกออกจากงบรายหัวที่จ่ายให้โรงพยาบาล”


          นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวสรุปถึงข้อดีว่านอกจากช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและลดภาระการเดินทางแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความสนิมสนมกับเภสัชกรในชุมชนของตนเอง มีความคุ้นเคยสามารถให้คำแนะนำใกล้ชิดและติดตามการใช้ยาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น กรณีกินยาไม่ครบ กินยาไม่ถูกต้อง แพ้ยา หรือหากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติก็สามารถแนะนำส่งต่อให้โรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที


          ส่วนข้อควรระวังนั้น นโยบายนี้อาจเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาแย่งตลาดร้านขายยาของชุมชน เนื่องจากมีเงินลงทุนจำนวนมากสามารถก่อสร้างตบแต่งทำให้ภาพลักษณ์ร้านดูดีน่าเชื่อถือ และตั้งอยู่ในพื้นที่ได้เปรียบเช่น ในห้างร้านสะดวกซื้อ ตลาด หรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผู้คนต้องเดินทางไปจับจ่ายซื้อของเป็นประจำ ดังนั้นร้านขายยาและชุมชนต้องช่วยกันคิดวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดโดยนายทุนกลุ่มใหญ่


          ตัวอย่างเช่น ข้อมูลจาก “ห้างแม็คโคร” ที่ประกาศปรับปรุงร้านขายยาของแม็คโครใหม่ โดยเริ่มจาก “สาขาสาทร” ด้วยพื้นที่ 220 ตรม. เน้นความสะดวกสบายและเพิ่มจำนวนสินค้ายาและเวชภัณฑ์อื่นๆ มากกว่า 1.6 พันรายการ เพื่อรองรับการเติบโตกลุ่มลูกค้ารักสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีร้านขายยาที่เป็นแบรนด์ต่างประเทศและของไทยที่อาจสนใจเข้ามาร่วมด้วย เช่น บู๊ทส์ วัตสัน เพียว ฟาสซิโน เซฟดรัก ฯลฯ


          สรุปเบื้องต้นได้ว่า ข้อดีของ “นโยบายผู้ป่วยรับยาใกล้บ้าน” มีมากมายนับไม่ถ้วน รอเพียงไฟเขียวจาก “เสี่ยอนุทิน” ว่าจะจริงจังแค่ไหน และเชื่อว่า “ทีมที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข” คงมองเห็นข้อเสียเรียบร้อยแล้ว และกำลังหาหนทางป้องกัน โดยเฉพาะช่องโหว่ที่จะเปิดให้ “กลุ่มทุนร้านยายักษ์ใหญ่” เข้ามาผูกขาดเบ็ดเสร็จ !

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ