คอลัมนิสต์

ปรากฏการณ์สิระสะท้อนมารยาทนักการเมืองรธน.ม.185(อาจ)จัดการได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ขนิษฐา เทพจร

 

 

 

          คลิปที่ว่อนโซเชียลมีเดียกรณี “สิระ เจนจาคะ” ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ พูดกับ พ.ต.ท.ประเทือง ผลมานะ รองผู้กำกับป้องกันปราบปราม สภ.กะรน จ.ภูเก็ต ระหว่างลงพื้นที่ที่ อ.กะรน จ.ภูเก็ต เพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ชาวบ้านจากกรณีก่อสร้างคอนโดมิเนียมบนพื้นที่ที่ได้รับเอกสารสิทธิไม่ชอบ

 

 

          บทสนทนาที่เกิดไม่เกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้านตามรายละเอียดที่คลิปวิดีโอฉายให้เห็นคือ กิริยาของ “ส.ส.” ที่ไม่พอใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่มาอำนวยความสะดวก และดูแลระหว่างลงพื้นที่

 


          กับพฤติกรรมและคำพูดที่เห็นได้จากคลิปวิดีโอ “ผู้ชมคลิปทางโซเชียลมีเดีย” วิจารณ์ไปไกลถึงการใช้อำนาจข่มขู่ข้าราชการตำรวจและก้าวก่ายการทำงานทั้งคำพูดที่ถามถึงความเหมาะสมในตำแหน่ง “รองผู้กำกับ” และแนวทางการบริหารจัดการงานในพื้นที่ รวมถึงคำพูดในเชิงว่าให้โอกาสแก้ตัว และขอรับการขอโทษจากข้าราชการที่ทำงานบกพร่อง

 

 

 

ปรากฏการณ์สิระสะท้อนมารยาทนักการเมืองรธน.ม.185(อาจ)จัดการได้

 


          ทำให้กลายเป็นคำถามที่ถูกตั้งขึ้นว่าพฤติกรรมของ “ส.ส.” ระหว่างการลงพื้นที่แบบนี้เหมาะสมหรือไม่?


          ภายใต้คำตอบของคำถามที่เกิดขึ้นเชื่อว่าอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน แต่สำหรับ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์” ที่เคยทำหน้าที่ใน กรรมาธิการ (กมธ.) ด้านการตรวจสอบการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร มองว่า การลงพื้นที่ในนามส่วนตัว หรือใช้ตำแหน่ง ส.ส. ตรวจสอบข้อมูลนอกพื้นที่เลือกตั้งของตนเอง คือสิ่งที่ต้องคำนึงให้ดี และสมัยการทำงานที่ผ่านมาไม่เคยพบการทำงานข้ามเขตเลือกตั้ง ยกเว้นแต่ได้รับมอบหมายในฐานะกรรมาธิการ หรือตามที่พรรคมอบหมายฐานะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในงานด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะ


          “มาตรฐานการทำงานของส.ส. ฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ คือการควบคุมการบริหารราชการ แก้ปัญหาของชาวบ้าน การทำงานที่ผ่านมา หากส.ส.จะใช้สถานะส่วนตัวลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลหรือรายละเอียดเพื่อสะท้อนปัญหาสู่สภา เขาไม่ต้องลงไปแบบเอิกเกริก หรือมีคณะมาดูแล หรือให้ใครต้อนรับ เขาใช้การลงพื้นที่ฐานะส.ส.เพื่อไปเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการอภิปรายในสภา เพราะตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้แบบนั้น จะไม่มีอำนาจที่ทำเกินกว่านั้น ยกเว้นลงพื้นที่ไปในนามกรรมาธิการที่สมัยก่อนเคยมีกรรมาธิการลงพื้นที่ ที่ทำได้มากสุดคือแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้รับทราบเท่านั้น” อดีต ส.ส.ชาญชัย ระบุ

 

 

ปรากฏการณ์สิระสะท้อนมารยาทนักการเมืองรธน.ม.185(อาจ)จัดการได้

 



          ขณะที่กรณีของ “ส.ส.สิระ” นั้น ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพราะใครมอบหมาย หรือไปในนามส่วนตัวหรือไม่ “อดีตกมธ.ตรวจสอบทุจริต” ไม่ขอวิจารณ์ แต่พฤติกรรมที่สะท้อนผ่านคลิปวิดีโอนั้น เชื่อได้ว่าอาจเป็นกรณีเฉพาะตัวตามนิสัยการทำงานของแต่ละบุคคล แต่สิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือเป็นสำคัญคือต้องไม่ใช้ตำแหน่งส.ส.เข้าไปทำงานหรือทำสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายที่ว่าด้วยการแทรกแซง สั่งการ หรือยุ่งเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของข้าราชการประจำ


          ทั้งนี้ในสมัยที่ผ่านมาก่อนมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 การทำงานของ “ส.ส.” ภายใต้สภานิติบัญญัติ มีมาตรฐานการทำงานกำหนดไว้ภายใต้กติกาของการทำหน้าที่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่กำหนดไว้ถึงเส้นแบ่งการทำงานของ “นักการเมือง” และ "ข้าราชการประจำ" ที่ต้องไม่ถูกแทรกแซง หรือก้าวก่ายการทำงาน ยกเว้นแต่เป็นการทำงานภายใต้ "กมธ." ที่มีสิทธิเรียกข้าราชการและส่วนงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงและให้ข้อมูลในชั้นกมธ. ได้


          และเมื่อถึงยุคปัจจุบันที่ “รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบของ “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” และต้องการสร้าง “นักการเมืองในอุดมคติที่ดีพร้อม” ตามกรอบที่ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” กำหนดไว้ ทำให้รัฐธรรมนูญกำหนดมาตรฐานการทำตัวของ ส.ส. และส.ว. ไว้ในบทบัญญัติที่สำคัญ คือ มาตรา 185 ว่าด้วยข้อห้ามส.ส. หรือ ส.ว.ใช้สถานะหรือตำแหน่งก้าวก่าย แทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ใน 3 เรื่อง คือ 1.การปฏิบัติราชการของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างหน่วยงานราชการ หน่ยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น 2.มีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณหรือให้ความเห็นชอบทำโครงการใดๆ ของหน่วยงานรัฐ ยกเว้นเป็นการทำภายใต้กิจการของรัฐสภา และ 3.บรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือให้พ้นตำแหน่งของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น

 

 

ปรากฏการณ์สิระสะท้อนมารยาทนักการเมืองรธน.ม.185(อาจ)จัดการได้

 


          กรณีของ “สิระ” ที่มีพฤติกรรมปรากฏนั้น “เจษฎ์ โทณะวณิก” ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย ฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 บอกว่า หากมีคนเอาเรื่องโทษฐานที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายถึงมาตรา 185 นั้น สามารถทำได้ โดยรัฐธรรมนูญกำหนดเป็นขั้นตอนตามหน้าที่และอำนาจของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)” มาตรา 234 (1) โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียน เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ป.ป.ช.อาจจะเห็นเอง และไต่สวนได้โดยไม่ต้องมีผู้ร้องเรียน ซึ่งผลแห่งการลงโทษตามพฤติกรรมฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญนั้นกระทบต่อสมาชิกภาพของ “ส.ส.” ที่อาจต้องสิ้นสุดลง


          กับมาตรฐานของ “ส.ส.” ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นยาแรง แต่ทำไมยังเห็นพฤติกรรม ส.ส. กร่างใส่เจ้าหน้าที่ นี่คืออีกคำถามที่สังสัย


          เรื่องนี้ “อดีตที่ปรึกษากรธ.” บอกว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงมาตรฐานที่กำหนดไว้ แต่หากจะทำให้มาตรการนี้ใช้บังคับอย่างได้ผลคือต้องมีมาตรการเชิงกฎหมายคุ้มครองการทำงานของข้าราชการที่ไม่ยอมให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงการทำงาน รวมถึง ตัวนักการเมืองต้องตระหนักถึงมารยาททางสังคมด้วย


          ส่วนที่ตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐ “ธนกร วังบุญคงชนะ” รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ขอโทษแทน ส.ส.ในสังกัดนั้น จะถือว่าเรื่องนี้ควรยุติได้หรือไม่ ตามมุมมองของ “เจษฏ์” ระบุว่า ฝั่งที่คอยจับจ้องคงไม่ยอมให้จบง่ายๆ อย่างไรก็ดีเรื่องนี้จะไม่เกิดเป็นปัญหาหากนักการเมืองซึ่งหมายถึง ส.ส., ส.ว., รัฐมนตรี ตระหนักถึงการทำหน้าที่ที่สำคัญ คือการขับเคลื่อนนโยบายให้ลุล่วง โดยมีหน่วยงานข้าราชการเป็นกลไกแก้ป้ญหา ดังนั้นการทำงานร่วมกันระหว่างข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง แม้จะมีเส้นเชื่อมโยงคือการประสานเพื่อให้นโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ แต่วิธีการต้องไม่ก้าวก่ายงานซึ่งกันและกัน เพราะนี่คือมารยาทของนักการเมืองที่ต้องรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ


          “ในประเทศที่เจริญแล้วนักการเมืองเขายึดถือมารยาททางสังคมเป็นมาตรวัดของการเป็นนักการเมืองที่ดี ส่วนประเทศไทยแม้รัฐธรรมนูญจะเขียนบัญญัติไว้อาจช่วยได้บ้าง แต่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการปฏิบัติ คนที่เป็นส.ส.ใหม่ต้องตระหนักถึงการทำหน้าที่และเรียนรู้การทำงานโดยเฉพาะการทำงานตามหน้าที่ไม่ก้าวกาย และที่สำคัญที่สุดคือไม่ใช้อำนาจเหนือคนอื่น” ดร.เจษฏ์ ระบุ
 

          การปฏิบัติหน้าที่ “ส.ส.ที่ดี” นายชวน หลีกภัย ประธานสภา พูดย้ำกับส.ส.หลายครั้งหลายหนถึงการปฏิบัติตัวให้สมกับเป็นผู้แทนปวงชนและฐานะผู้ออกกฎหมายที่ต้องไม่ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เชื่อว่าในการปฏิบัติตนของบุคคลนั้นอาจต้องใช้การบ่มเพาะและเรียนรู้ด้วยตัวเอง


          อย่างไรก็ดีหลักสูตรเร่งรัดที่ดีที่สุดคือการฟังคำสอนและคำแนะนำจากรุ่นพี่นักการเมืองอย่าง “จองชัย เที่ยงธรรม” อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย หลายสมัย ผู้คร่ำหวอดในวงการเมืองกว่า 30 ปี ที่หลายคนมักเรียกฉายาติดปากว่า “คิดไม่ออก บอกจองชัย”


          แม้ “จองชัย” จะไม่ขอตัดสินพฤติกรรมของ “สิระ” ที่แสดงออกมา แต่สิ่งที่เขาพอจะบอกได้โดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัวบอกเล่า คือการทำหน้าที่ส.ส. คือการซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ดูแลแก้ปัญหาทุกข์ร้อนให้ประชาชน และเข้าร่วมประชุมสภา


          “สำหรับการแก้ปัญหาให้ประชาชนทั้งที่รับเรื่องร้องเรียน หรือ ลงไปดูในพื้นที่ การแก้ปัญหาจะสำเร็จลุล่วงได้ดีขึ้นอยู่กับความสามารถของส.ส.ฐานะผู้ประสานงาน ผมโชคดีที่อยู่ในวงการการเมืองยาวนาน เป็นรัฐมนตรีก็เคย จึงรู้จักคนมาก ดังนั้นเมื่อมีข้อมูล มีเอกสาร ชาวบ้านร้องทุกข์ให้แก้ปัญหา เราใช้คอนเนกชั่นที่มี ประสานเพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลลงไปดูแลและแก้ปัญหา ซึ่งการประสานงานนั้นไม่ใช่การแทรกแซง หรือก้าวก่ายการทำงาน หรือใช้อำนาจบาตรใหญ่เพราะงานที่ต้องแก้ปัญหาให้ชาวบ้านเป็นเรื่องต้องทำ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและข้าราชการ”


          ขณะที่การทำงานข้ามพื้นที่หรือนอกพื้นที่เลือกตั้งของตนเองนั้น “อดีตส.ส.สุพรรณบุรี” บอกว่าไม่มีประเพณีไหนเขาทำ เพราะงานนอกพื้นที่เราอาจไม่รู้ดีที่สุด เช่น อยู่ จ.สุพรรณบุรี ข้ามไปพื้นที่ จ.สงขลา บางเรื่องอาจช่วยได้แต่น้ำหนักจะน้อย ยกเว้นแต่เป็นพื้นที่จังหวัดเดียวกันแต่คนละเขตเลือกตั้ง เช่น จ.สุพรรณบุรี สามารถข้ามเขตไปช่วยชาวบ้านได้เพราะมีลักษณะปัญหาใกล้เคียงกัน
 

          กับสิ่งที่อยากบอก “ส.ส.ใหม่ ชั่วโมงบินไม่สูง” ฐานะ “รุ่นพี่ส.ส.” บอกว่าอาจมีบ้างที่ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะประสานใครให้มาช่วยชาวบ้าน ดังนั้นอาจพึ่งพาส.ส.รุ่นพี่ให้ช่วยประสานติดต่อให้ ซึ่งเขาเคยถูกส.ส.ใหม่ร้องขอให้ประสานฝ่ายบริหารให้เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน แต่การประสานต้องถือเป็นการช่วยเหลือและทำงานที่เกื้อหนุนกัน บอกข้อมูลความเดือดร้อนและนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันโดยยึดสิ่งสำคัญคือการช่วยเหลืองานซึ่งกันและกัน


          ในปรากฏการณ์ของ “สิระ เจนจาคะ” อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ “ผู้แทนปวงชน” ตระหนักต่อบทบาทของตนเองให้มาก โดยเฉพาะการให้เกียรติและเคารพต่อการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ส่วนจะล้ำไปถึงการเอาผิดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิดต่อ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ