คอลัมนิสต์

สวนป่าคอนสาร... เมื่อชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ล่าความจริง..พิกัดข่าว   โดย...  นัฏฐิกา โล่ห์วีระ

 

 

 

          ปัญหาพิพาทระหว่างคนกับป่ามีตัวอย่างให้เห็นอีกครั้งที่ “สวนป่าคอนสาร” จ.ชัยภูมิ และผลที่ออกมาก็ซ้ำเดิม คือชาวบ้านเป็นฝ่ายผิดและถูกขับไล่ทั้งๆ ที่มีหลักฐานว่าอยู่มาก่อนป่า แต่ที่ “สวนป่าคอนสาร” มีเรื่องราวที่ซับซ้อนกว่านั้น

 

 

          หากใครได้ลงพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในวันนี้ จะได้เห็น “หมายบังคับคดี” ที่ทางการเพิ่งนำมาปิดในชุมชนแจ้งให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 27 สิงหาคมที่จะถึงนี้


          เรื่องราวของชาวบ้านคอนสาร จ.ชัยภูมิ กลายเป็นตำนานการต่อสู้เพื่อรักษาที่ดินทำกินจากการรุกคืบของรัฐจนกลายเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวของนโยบาย “คนอยู่กับป่า” ที่เป็นแค่เพียงลมปาก


          ย้อนกลับไปเมื่อปี 2516 รัฐได้ประกาศให้พื้นที่แถบนี้เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม ต่อมาในปี 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ ออป. ได้สัมปทานปลูกป่า เรียกว่า “สวนป่าคอนสาร” ใช้ระบบสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ 4,401 ไร่ นำมาสู่การผลักดัน ขับไล่ชาวบ้านดั้งเดิมออกจากที่ดินทำกิน


          ขณะที่ชาวบ้านเองก็รวมตัวกันเคลื่อนไหวคัดค้านกระทั่งมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีหัวหน้าสวนป่าคอนสารเป็นประธาน ร่วมกับผู้แทนชาวบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


          คณะทำงานมีมติว่า “สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินของราษฎรจริง ให้ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้ราษฎรผู้เดือดร้อน”


          หลักฐานสำคัญที่คณะทำงานตรวจสอบพบก็คือชาวบ้านคอนสารเข้าถือครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อนการทำสวนป่าของออป. โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บท.11

 



          ลุงนิด ต่อทุน จำเลยที่ 1 ในคดี ออป.ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน เล่าว่า สวนป่าคอนสารนี้มีพี่น้องที่ประสบความเดือดร้อนเข้ามาอาศัยอยู่กลุ่มแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 จากนั้นก็มีลูกหลานทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 2501-2502-2503


          ปากคำของชาวบ้านคือหลักฐานชิ้นสำคัญอย่างหนึ่ง หลังจากนั้นมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกหลายครั้ง กระทั่งมีมติและข้อตกลงทั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในปี 2550 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเอง และมติประชาคมตำบลทุ่งพระ ปี 2552 ทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ...ให้รัฐยกเลิกสวนป่าคอนสาร


          ทว่า...ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ซ้ำร้าย ออป.ยังได้ฟ้องขับไล่ชาวบ้านรวม 31 คน ซึ่งต่อมาศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ กระบวนการต่อสู้ทางคดีดำเนินเรื่อยมา กระทั่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายืนตามศาลชั้นต้น เป็นที่มาของการปิดหมายบังคับคดี


          ปราโมทย์ ผลภิญโญ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ตั้งข้อสังเกตว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันกระบวนการแก้ปัญหาเหลือเพียงการตัดสินใจเชิงนโยบายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือการให้ “คนอยู่กับป่า” ซึ่งจะแก้ปัญหาให้แก่ทุกฝ่าย


          “ขณะนี้โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมอินทรีย์บ้านบ่อแก้ว ภายใต้การบริหารจัดการที่ดิน ได้ทำมาแล้วส่วนหนึ่ง รอการตัดสินใจเชิงนโยบายที่จะมารับรองแผนนี้ มันตอบโจทย์ทางนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์เรื่องความอยู่ดีมีสุขคุณภาพชีวิต ตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน และน่าจะเป็นทางออกที่สำคัญและทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ดังนั้นรัฐบาลควรทำความชัดเจนเรื่องนี้โดยเร็ว” สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าว


          ผศ.ดร.อนุสรณ์ พัฒนศาสติ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ อธิบายว่า ปัญหาแบบเดียวกับสวนป่าคอนสารมีอยู่ทั่วประเทศ เนื่องจากระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีอยู่แค่ 2 ประเภท คือกรรมสิทธิ์ของรัฐกับของเอกชน แต่การแก้ไขความขัดแย้งจำเป็นต้องมีระบบกรรมสิทธิ์ร่วม ประชาชนและรัฐมีกติการ่วมกันในการจัดการที่ดิน และต้องผลักดันให้เป็นกฎหมาย


          “ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมควรจะมีกฎหมายมารองรับได้แล้ว โดยต้องเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุด เช่น เทียบเท่าพระราชบัญญัติ มันถึงจะทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจ มีกฎหมายรองรับ ออกโดยสภา เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติฉบับอื่นๆ ชาวบ้านก็จะสามารถอยู่ร่วมในพื้นที่และแก้ไขปัญหาแบบที่เกิดขึ้นนี้ได้” ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว


          ถึงวันนี้...ความฝันของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วที่ต่อสู้เพื่อต้องการให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารคงไม่มีทางเป็นจริงได้อีกแล้ว เหลือเพียงความกล้าหาญของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจทางนโยบายเท่านั้นที่จะหยุดยั้งวิกฤตินี้ ขณะที่เวลาของชาวบ้านก็เหลือน้อยลงทุกที

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ