คอลัมนิสต์

ถวายสัตย์ไม่ครบจบที่ศาลหรือที่สภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

 

          กลายเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านไปแล้ว สำหรับข้อกล่าวหา “ถวายสัตย์ไม่ครบ” ที่พุ่งเข้าใส่ “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะเมื่อ 7 พรรคฝ่ายค้านเล่มเกมแรง ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป

 

 

          แม้ไม่ใช่การลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “ขึงพืด-ซักฟอก” นายกฯ กลางสภานั่นเอง


          งานนี้จะไปต่อว่าฝ่ายค้านก็คงไม่ได้ เพราะในเกมบดขยี้กันทางการเมืองเช่นนี้ เมื่อบอลไหลมาเข้าเท้า ก็ต้องหวดเต็มเหนี่ยวเป็นธรรมดา


          ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเองก็พูดเรื่องนี้แบบไม่ชัดเจน ครึ่งๆ กลางๆ ทำให้สังคมตีความกันไปใหญ่โต จนฝ่ายค้านสบช่องรุกไล่ต่อเนื่อง


          เกมของฝ่ายค้านยืนอยู่บนหลักการของรัฐธรรมนูญ และการถ่วงดุลกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ก็คือการ “เล่นในสภา”


          เริ่มจากยื่นกระทู้ถามสด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 ยื่นมาแล้ว 2 ครั้ง 2 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน แต่นายกฯ ไม่มาตอบ


          จากนั้นจึงยกระดับเป็นการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ซึ่งเขียนเปิดช่องให้ ส.ส.ไม่จำกัดฝ่ายสามารถเข้าชื่อกันได้ด้วยเสียงเพียง 1 ใน 10 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี


          หากเที่ยวนี้ยังมีเบี้ยว ฝ่ายค้านอาจยกระดับไปถึงการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการควบคุมตรวจสอบฝ่ายบริหารที่ร้ายแรงที่สุดของระบบรัฐสภา เพราะหากรัฐบาลแพ้โหวตก็ต้องลาออก


          ข่าวแว่วว่าหาก “ประธานฯ ชวน” นายชวน หลีกภัย บรรจุญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปวันไหน (ล่าสุดลุ้นกันวันที่ 21 ส.ค. หรือพุธนี้) ส.ส.รัฐบาลจะแก้เกมด้วยการไม่เข้าห้องประชุม เพื่อให้องค์ประชุมล่ม เดินหน้าต่อไม่ได้ เพื่อไม่ให้มีการอภิปรายประเด็นนี้ในสภา


          เหตุผลของรัฐบาลที่จะตอบกับสังคมก็คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเฉพาะรัฐบาล แต่ยังเกี่ยวพันกับสถาบันเบื้องสูง จึงไม่ควรเปิดให้พูดกันอย่างเปิดเผย กว้างขวาง หรืออภิปรายกันไปเรื่อยในสภา นอกจากนั้นเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ หลังจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ไปยื่นคำร้องเอาไว้

 



          ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ บอกว่าผู้ตรวจการฯ นัดประชุมกันวันที่ 27 สิงหาคมนี้ และคาดว่าจะมีมติหรือคำวินิจฉัยให้ชัดเจนลงไป


          รัฐบาลก็จะอ้างเหตุนี้เพื่อรอผลการตรวจสอบ ซึ่งมีโอกาสออกได้ 3 หน้า 3 แนวทาง คือ


          1.สั่งยุติเรื่อง หากเห็นว่าไม่มีมูล เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ใช่ “ไปรษณีย์” ที่ทำได้แค่ผ่านคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แต่บทบัญญัติมาตรา 231 เขียนให้มีอำนาจพิจารณาได้ หากพบว่ามีมูลจึงส่งศาล ซึ่งสามารถส่งได้ 2 ศาล แล้วแต่กรณี


          2.เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากเห็นว่าเป็นเรื่องบทบัญญัติของกฎหมายที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ


          หรือ 3.เสนอเรื่องให้ศาลปกครองวินิจฉัย หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย


          หากผู้ตรวจการแผ่นดินตัดสินใจส่งเรื่องให้ศาลใดศาลหนึ่ง ก็ต้องถือเป็นเกมยาวที่รัฐบาลต้องเผชิญแรงเสียดทานต่อไป แต่รัฐบาลก็จะอ้างได้ว่า เรื่องอยู่ในศาล ต้องรอศาลวินิจฉัย และคำวินิจฉัยก็จะถือเป็นที่สุด วินิจฉัยออกมาอย่างไร รัฐบาลก็ทำแบบนั้น ก็จะพ้นครหา


          แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินชิงยุติเรื่อง โดยอ้างเหตุผลต่างๆ โดยเฉพาะอ้างว่านายกฯ ในวันเข้าถวายสัตย์ ยังไม่มีสถานะเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” ตามที่นักกฎหมายบางคนชี้ช่อง โอกาสที่เรื่องนี้จะบานปลายต่อไปย่อมมีสูง เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ใช่ศาล และคำวินิจฉัยไม่ได้ผูกพันทุกองค์กร


          ที่สำคัญมีโอกาสที่ฝ่ายค้านจะลากนายกฯ เข้าสภา และอาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นนี้ พ่วงกับปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังกดดันรัฐบาลอย่างหนัก เพื่อเผด็จศึกในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งมุกโดดประชุมเพื่อให้องค์ประชุมล่ม คงใช้ไม่ได้ตลอดไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ