คอลัมนิสต์

วาระแห่งชาติพิชิตขยะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2562

 

 

          การตายของพะยูนมาเรียม ส่งผลให้สังคมไทยต้องตระหนักถึงปัญหาการใช้ภาชนะที่ย่อยสลายยากโดยเฉพาะถุงพลาสติกและโฟมที่ถูกปล่อยลงทะเล จากสถิติทั่วโลกบันทึกเอาไว้ว่า พลาสติกร้อยละ 90 ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล และตกค้างสู่สิ่งแวดล้อม มีขยะถูกทิ้งลงมหาสมุทรปีละกว่า 8 ล้านตัน และหากไม่แก้ไข ภายในปี 2593 ขยะพลาสติกในมหาสมุทรอาจมากกว่าปลา สำหรับประเทศไทย มีขยะในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 คือมากกว่า 11.47 ล้านตัน ซึ่งร้อยละ 80 มาจากขยะบนบก ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า ขยะที่พบในทะเลกว่าครึ่งเป็นขยะพลาสติก ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกมากอันดับ 5 ของโลก คิดเป็น 2 ล้านตันของขยะทั้งหมด

 


          ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุเอาไว้ว่า ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นแทบทุกปี โดยในปี 2559 มีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 27.06 ล้านตัน คิดเป็นอัตราการเกิดขยะมูลฝอยที่ 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ขณะที่ย้อนหลังกลับไปในปี 2551 ประเทศไทยมีขยะมูลฝอย 23.93 ล้านตัน โดยเฉลี่ย 1.03 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน มีแค่เพียงปี 2555 กับปี 2557 เท่านั้นที่ปริมาณขยะ และอัตราเฉลี่ยการผลิตขยะต่อคนต่อวันลดลงเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญอะไรเท่ากับสถิติที่บ่งบอกว่า ในปี 2556 มีขยะ 26.77 ล้านตัน แต่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องเพียง 7.2 ล้านตัน นำกลับมาใช้ประโยชน์ 5.1 ล้านตัน ไม่ได้นำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 6.9 ล้านตัน ส่วนอีก 7.6 ล้านตันเป็นขยะมูลฝอยตกค้างในพื้นที่


          ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ขยะในทะเล เช่น ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว โฟม ส่วนใหญ่มาจากแหล่งท่องเที่ยว รองลงมาคือขยะจากการทำการประมง เช่น อวน เชือก นอกจากนี้ยังมีขยะที่พบในทะเล เช่น ถุงพลาสติก ฝาขวดน้ำ และเศษบุหรี่ รวมถึงขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทั้งจากบุคคล ครัวเรือน อุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำ จากลำคลอง สู่แม่น้ำ และขยะส่วนหนึ่งลงสู่ท้องทะเล ปรากฏการณ์ขยะตามคูคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ เกิดปัญหาน้ำท่วมขังรอระบายทุกครั้งที่ฝนตกหนัก แสดงให้เห็นว่า ขยะในเมืองถูกทิ้งอย่างไร้ความรับผิดชอบ ขณะที่การบริหารจัดการก็ขาดประสิทธิภาพ


          ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,151.13 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัดริมทะเล แยกเป็นฝั่งอ่าวไทย มีความยาวประมาณ 2,039.78 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด ส่วนชายฝั่งด้านอันดามันมีความยาวประมาณ 1,111.35 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ในเมื่อประเทศไทยมีขยะที่ตกค้างในพื้นที่ถึงปีละเกือบ 8 ล้านตัน ไม่ได้นำไปกำจัดอย่างถูกต้องอีก 6.9 ล้านตัน และประเทศไทยก็ทำสถิติขยะพลาสติกมากถึง 2 ล้านตัน ซึ่งตามสถิติขยะเกือบ 1 ใน 3 น่าจะเกิดในจังหวัดชายฝั่ง ขณะเดียวกัน นอกจากจังหวัดชายทะเลที่เสี่ยงจะทำให้เกิดขยะและขยะพลาสติกในทะเลจำนวนมากแล้ว อีกหลายจังหวัดซึ่งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ก็อาจมีส่วนเพิ่มปริมาณขยะในทะเลอีกเช่นกัน นี่จึงเป็นปัญหาระดับชาติ และเร่งด่วนที่สุดที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนจะต้องลงมือแก้ไขกันอย่างจริงจัง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ