คอลัมนิสต์

ลุ้นบิ๊กตู่ หลุดบ่วง'ถวายสัตย์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ถอดรหัสลายพราง โดย... พลซุ่มยิง

 

 

 

          ก็พอได้หายใจหายคอกันไปอีกระยะหนึ่ง หลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มอบหมาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปเป็นกาวใจพูดคุยกับพรรคการเมืองขนาดเล็กไม่ให้ถอนตัวจากรัฐบาล พร้อมจัดสรรตำแหน่งทางการเมือง จนทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง

 

 

          แต่ยังต้องลุ้นกันต่อกับสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ทั้ง 35 คน ว่ามีความสมบูรณ์ในการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ หลังนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้พิจารณาและส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง วินิจฉัยกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ


          รวมทั้งขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์ เข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตาม มาตรา 234 (1) แห่ง พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และมาตรา 5 ประกอบมาตรา 160(5) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถือได้ว่ามีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170(4) ของรัฐธรรมนูญ 2560


          ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.ต่างพร้อมใจกัน ‘รูดซิปปาก’ ไม่เอ่ยคำว่า ‘ลาออก’ หรือ ทำหนังสือขอพระราชทาน ‘อภัยโทษ’ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนใหม่ ตามข้อเสนอของ 7 พรรคฝ่ายค้าน แต่ปล่อยให้ทุกอย่างเดินเข้าสู่กระบวนการและพร้อมน้อมรับคำตัดสิน

 



          “ผมไม่ได้วิตกกังวลอะไรทั้งสิ้น เพราะเชื่อมั่นว่าทำในสิ่งที่ดีงาม ทุกอย่างผมยอมรับในกระบวนการ และเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการของผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว การที่ผมจะไปตอบหรือพูด จะเกิดอะไรกับผมบ้างล่ะ ทุกคนต้องรอขั้นตอนของผู้ตรวจการแผ่นดิน กติกาเป็นแบบนี้ เมื่อเรื่องเข้ากระบวนการไปแล้วถ้าผมไปตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ เดี๋ยวเรื่องจะบานปลายไปอีก เราต้องปล่อยให้กระบวนการตัดสินเข้าดำเนินการไป ทุกคนอย่าไปก้าวล่วง ไปพูดอะไรก็ไม่เกิดประโยชน์ จะถูกหรือผิดก็ไม่รู้เหมือนกัน ดังนั้นอย่าเอามาโจมตีกันต่อไปเลย ผมก็ยอมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้ว” นายกรัฐมนตรี ระบุ


          ทั้งนี้หากพิจารณา มาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนจะผิดหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญและไม่มีบทลงโทษบัญญัติไว้ แต่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่ารัฐบาลจะกระทำการใดๆ ที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้


          ขณะที่มาตรา 5 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า หากการกระทำใดไม่เข้าข่ายมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ให้ยึดตามจารีตประเพณีการปกครองเดิมที่เคยทำมา ซึ่งในอดีตก็ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดถวายสัตย์ไม่ครบแล้วต้องลาออก


          รศ.ยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ระบุว่า สุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามามีบทบาทชี้ขาดว่าจะต้องทำอย่างไร เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญต้องเชื่อมต่อในเรื่องที่เป็นนามธรรม เป็นหลักการในรัฐธรรมนูญมาสู่รูปธรรมในการปฏิบัติ และต้องเป็นผู้วางบรรทัดฐานทางกฎหมายและการเมือง หากเกิดกรณีนี้อีกในอนาคต จะมีแนวทางที่ชัดเจนอย่างไร


          “หากศาลชี้ว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็หมายความว่าในอนาคตถ้าเกิดกรณีนี้หรือกรณีที่ใกล้เคียง กระบวนการต่างๆ ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องอ้างตัวบัญญัติรัฐธรรมนูญต่อไป ขณะเดียวกันถ้าศาลวินิจฉัยว่าเรื่องนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลก็ต้องวางบรรทัดฐานเช่นเดียวกันว่าต้องดำเนินการอย่างไร ต้องกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่หรือไม่ หรือสถานภาพของนายกฯ และครม.สมบูรณ์หรือไม่ หรือต้องมีการแต่งตั้งครม.ใหม่” รศ.ยุทธพร ระบุ


          “7 พรรคฝ่ายค้าน” เองก็เช่นกันในระหว่างรอกระบวนการต่างๆ เดินไปตามขั้นตอน ก็ใช้กลไกรัฐสภาเดินเกมบั่นทอนเสถียรภาพและลดความเชื่อมั่นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วย ทั้งการตั้งกระทู้ถาม หรือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในอนาคต และผลพลอยได้ที่จะตามมา ‘ปมถวายสัตย์’ จะกลายเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการรณรงค์ประชาชนเข้าชื่อสนับสนุนเพื่อกดดันให้รื้อรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ ผ่านการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ลักษณะเดียวกับปี 2540


          แต่ในส่วนของ อดีตนายทหาร กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นเกมการเมืองของฝ่ายค้านที่ให้ความสนใจแค่เพียงโจมตีรัฐบาลมากกว่าการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน เพราะการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตน ของ พล.อ.ประยุทธ์ และครม. ถือว่าครอบคลุมและมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวแล้ว และเชื่อว่าจะผ่านข้อครหานี้ไปได้


          ท้ายที่สุดแล้ว คงต้องรอศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ชี้ขาดว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. มีความสมบูรณ์ในการเข้าปฏิบัติหน้าที่หรือไม่


          แต่สิ่งที่จะตามมาต่อจากนี้ คือปัญหาการไม่ยอมรับกติกาและคำตัดสิน เมื่อต่างฝ่ายต่างมี ‘ธง’ ไว้ในใจ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ