คอลัมนิสต์

พระพันปีหลวงทรงพระเจริญ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... อ๊อด เทอร์โบ..ดับเครื่องชน [email protected]

 

 

          พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงปลื้มปิติที่ ‘สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ ทรงสดชื่นแจ่มใสกว่าหลายปีที่ผ่านมา

          เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

 

 

          บรรดาสื่อมวลชนทุกสำนักต่างรายงานภาพข่าวอันอบอุ่นนี้เป็นข่าวใหญ่ในวันรุ่งขึ้น และบรรดาคนไทยต่างร่วมทำบุญถวายเป็นพระราชกุศลด้วย

          ขอพระองค์ทรงพระเจริญ เป็นที่พึ่งพาทางจิตใจของพสกนิกรตลอดไป
อ๊อด เทอร์โบ



 สิ่งควรทำ-ข้อห้าม
 เพื่อช่วยกันดูแลลูก

          สภาพเศรษฐกิจสังคมไทยทุกวันนี้บีบรัดทำให้ครอบครัวล่มสลาย ชีวิตสมรสหย่าร้างกันมากมาย และมีแนวโน้มสูงขึ้น

          ‘อ๊อด เทอร์โบ’ ขอเป็นสื่อกลางนำข้อแนะนำและข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก ‘พญ.กรองกาญจน์ แก้วชัง’ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ มาแจ้งให้ทราบ เพื่อจะได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป

          ขอให้ยึดข้อปฏิบัติและข้อละเว้นเพื่อความสุขที่จะเกิดขึ้นได้และทางที่ดีที่สุดควรทำให้ชีวิตสมบูรณ์แบบ

          อย่าให้การหย่าร้างหรือครอบครัวล่มสลายเกิดขึ้นกับใครเลย
อ๊อด เทอร์โบ



 ปัญหาอย่าร้างเพิ่มขึ้น
 กทม.มาอันดับแรก

          ปัญหาการหย่าร้างของครอบครัวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปี 2547 มีอัตราการหย่าร้างร้อยละ 24 โดยมีผู้จดทะเบียนสมรส 365,721 คู่ จดทะเบียนหย่า 86,982 คู่

 

          ล่าสุดในปี 2560 อัตราการหย่าร้างเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 41 มีผู้จดทะเบียนสมรส 297,501 คู่ หย่า 121,617 คู่ เฉลี่ยหย่าวันละ 333 คู่ จังหวัดที่มีจำนวนหย่าร้างสูงที่สุดในปี 2560 อันดับ 1 คือ กทม. 16,187 คู่ รองลงมาคือชลบุรี 6,476 คู่ และนครราชสีมา 4,572 คู่

 

          สาเหตุของการหย่าร้างในปัจจุบันนี้ อาจเนื่องมาจากลักษณะของครอบครัวยุคใหม่เป็นครอบครัวเดี่ยว คืออยู่กันเฉพาะพ่อแม่ลูก ทำให้มีความเปราะบาง และจากแรงกดดันภายนอก สามีภรรยาใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงานนอกบ้าน อาจเกิดความเครียดทั้งจากหน้าที่การงาน สภาวะสังคมและเศรษฐกิจเช่นภาระหนี้สินต่างๆ ทำให้ต้องทำงานหนักมากขึ้น ขณะเดียวกันความอดทนต่อปัญหาในครอบครัวอาจน้อยลง เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีงานทำมีรายได้

          หย่าร้าง เป็นการสิ้นสุดอย่างหนึ่งของชีวิตสมรส เกิดขึ้นได้ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือเป็นความผิดของใคร ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออารมณ์จิตใจทำนองการสูญเสีย ผู้ที่หย่าร้างใหม่ๆ จะมีความรู้สึกคล้ายๆ กับการสูญเสียอะไรบางอย่างที่เคยอยู่ใกล้ใจ หากเป็นครอบครัวที่มีลูกด้วยกันการหย่าร้างจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ของชีวิตการเป็นผู้นำทั้งพ่อทั้งแม่ในคนคนเดียวกัน หรือที่เรียกว่าพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

          แม้ว่าชีวิตสมรสจะสิ้นสุด แต่ความเป็นครอบครัวของลูกต้องไม่สิ้นสุดหรือสลายตามไปด้วย ทั้ง 2 คนยังคงต้องทำบทบาทพ่อและแม่ของลูกตลอดไป ไม่ว่าลูกจะอยู่กับฝ่ายใดก็ตาม เพื่อลดปัญหาและผลกระทบต่อจิตใจลูกที่อาจตามมาในภายหลังให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะปฏิกิริยาสูญเสีย เช่นเด็กอาจว้าวุ่นใจ ก้าวร้าว หงุดหงิด ซึมเศร้า ผลการเรียนตกต่ำ เป็นต้น สำหรับผู้ใกล้ชิดกับคู่หย่าร้างก็ต้องช่วยกันให้กำลังใจ ไม่ควรพูดแสดงความเสียใจ หรือแสดงความยินดี เพราะอาจเป็นการสะกิดแผลในใจ

          สิ่งที่พ่อแม่ควรทำหลังหย่าร้างมี 4 ประการ ไม่ว่าเด็กจะอยู่กับใครก็ตาม ได้แก่ 1.ต้องให้ความมั่นใจแก่เด็กว่าการที่พ่อแม่แยกทางกันไม่ใช่มีสาเหตุมาจากลูกและยังคงรักลูกเหมือนเดิม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เนื่องจากเด็กมีระบบความคิดที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่ มักจะเข้าใจว่าตนเองเป็นสาเหตุทำให้พ่อแม่แยกทางกัน เช่นดื้อ เรียนไม่ดี 2.บอกความจริงแก่เด็ก เป้าหมายสำคัญคือการให้ความมั่นใจอนาคต จะทำให้การปรับตัวของเด็กในระยะยาวดีกว่าการปิดบังเด็กซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง หรือคิดว่าตนเองเป็นคนผิด ทำให้มีปัญหาการปรับตัว

          3.พยายามรักษาสภาพความเป็นอยู่ให้ใกล้เคียงกับชีวิตเดิมของลูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ 4.ปฏิบัติต่อเด็กด้วยความรักความใส่ใจเหมือนเดิม ทั้งหมดนี้จะทำให้เด็กใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามวัย ไม่เกิดบาดแผลทางใจหรือปมในใจติดตัวไปตลอดชีวิต

          พ่อหรือแม่ไม่ควรทำกับลูกเป็นอย่างยิ่งภายหลังหย่าร้าง มี 4 ประการคือ 1.การด่าหรือเล่าความไม่เอาไหนของอีกฝ่ายหนึ่งให้ลูกฟัง ซึ่งมักจะเกิดจากพ่อหรือแม่มีความเจ็บปวด ทนทุกข์กับการกระทำของอีกฝ่าย จะเป็นการสร้างความเกลียดชังเกิดขึ้นในใจของเด็กและทุกข์ทรมานใจไปตลอดชีวิต พ่อแม่ควรระบายความโกรธ ความอึดอัดคับข้องใจกับญาติหรือเพื่อนสนิทแทน

          2.การดึงลูกให้เข้ามาเป็นพวกกับฝ่ายของตน เช่นบางคนกีดกัน แสดงความไม่พอใจเมื่อลูกไปคุยกับอีกฝ่าย บางคนพูดให้ลูกรู้สึกผิด เช่นถ้าลูกไปคุยกับพ่อ แปลว่าลูกไม่รักแม่ เป็นต้น 3.การใช้ลูกเป็นสื่อกลาง ส่งสารระหว่างพ่อกับแม่ที่ไม่พูดกัน 4.บังคับให้เด็กเลือกว่าจะอยู่กับใคร จะทำให้เด็กรู้สึกผิดอย่างมากกับฝ่ายที่เขาไม่ได้เลือก รู้สึกเสียใจ และกลัวพ่อแม่จะเลิกรักเขา

          หากต้องการรู้ว่าเด็กอยากอยู่กับใครมากกว่ากัน พ่อแม่อาจใช้วิธีการอ้อมๆ คือถามญาติที่สนิทกับเด็กจะดีกว่า

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ