คอลัมนิสต์

เจาะนิยาม "สงครามลูกผสม"ผบ.ทบ.ตัดไม้ข่มใคร?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ล่าความจริง..พิกัดข่าว  โดย..  ปกรณ์  พึ่งเนตร 

 

 

          ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา มีประเด็นวิวาทะทางการเมืองจากคำให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

 

          โดยเฉพาะที่ท่านใช้คำว่า “สงครามลูกผสม” แล้วยกตัวอย่างเปรียบเทียบการโฆษณาชวนเชื่อและปล่อยข่าวลวงผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีเหตุลอบวางระเบิดตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นอีก นี่คือตัวอย่างของ “สงครามลูกผสม” ที่ ผบ.ทบ.พูดถึง

 

 

          หลายคนสงสัยว่า “สงครามลูกผสม” คืออะไร มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานในหน่วยงานความมั่นคงระดับชาติมาเนิ่นนาน...


          “สงครามลูกผสม” ที่ ผบ.ทบ.พูดถึง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Hybrid warfare บางคนเรียก “สงครามผสมผสาน” เป็นคำเรียกรวมๆ จากการประเมินลักษณะของสงครามทั้งในปัจจุบันและอนาคต แยกเป็น “สงครามตามแบบ” ซึ่งก็คือสงครามทางการทหาร เคลื่อนกำลังพล เรือรบ เครื่องบินยิงถล่มกัน แบบนี้เราเห็นกันอยู่ตลอด


          กับอีกลักษณะคือ “สงครามไซเบอร์” ซึ่งทั้งในปัจจุบันและอนาคตถูกดึงมาร่วมในการทำสงครามด้วย เช่น การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของฝ่ายศัตรู ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ประปา ระบบโทรคมนาคมขนส่ง ระบบการเงินการธนาคาร รวมถึงจารกรรม หรือแฮ็กข้อมูล การใช้ไวรัสคอมพิวเตอร์ และการบ่อนทำลาย ซึ่ง “เฟคนิวส์” จะอยู่ในหมวดหมู่ของการบ่อนทำลายนี้ด้วย ปัจจุบันเป็นการปล่อยข่าวทางโซเชียลมีเดีย ขณะที่บางประเทศใช้การก่อการร้ายในการโจมตีก็มี ปกติแล้ว “สงครามไฮบริด” เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างรัฐต่อรัฐ


          ส่วนประเด็นที่ ผบ.ทบ.หยิบยกขึ้นมาพูด น่าจะเป็นลักษณะเปรียบเทียบ คล้ายๆ การนำแนวคิด “สงครามไฮบริด” มาใช้ในการต่อสู้ทางการเมือง การพูดเชิงเปรียบเทียบแบบนี้ คนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ ทำให้มีช่องให้ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหยิบมาโจมตีได้

 




          นัยของ ผบ.ทบ.น่าจะเน้นไปที่การใช้ปฏิบัติการทางไซเบอร์ ให้ข้อมูลบิดเบือนเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองบางพรรค เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งอย่างพลิกความคาดหมาย


          ผบ.ทบ.อาจมองว่าบางส่วนเหมือนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีการใช้ข่าวบิดเบือนบ่อนทำลายกัน แม้จะไม่เป็น “เฟคนิวส์” 100% แต่ก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนนำไปสู่การลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้ ซึ่งหากปล่อยไว้แบบนี้ ข่าวพวกนี้จะกลายเป็นกระแสหลัก และกระทบกับสถาบันหลักของชาติในที่สุด


          นี่คือการถอดรหัสสิ่งที่ ผบ.ทบ.พูด...


          ขณะที่นักวิชาการด้านการทหารอีกคนหนึ่งซึ่งขอสงวนนาม เพราะยังรับราชการอยู่ในกองทัพ อธิบายว่า หากย้อนไปราวๆ 10 ปีก่อน คำว่า “สงครามไฮบริด” หรือ “สงครามลูกผสม” จะมุ่งไปที่การทำสงครามโดยก้าวข้ามเส้นแบ่งความเป็นรัฐ อย่างกรณีของ “ฮามาส” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหนึ่งของปาเลสไตน์ แต่มีกองกำลังติดอาวุธด้วย จนมักถูกเรียกว่า “กลุ่มหัวรุนแรงฮามาส” เชี่ยวชาญการโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพ และถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้าย แต่กลุ่มฮามาสกลับมีที่นั่งในสภาของปาเลสไตน์ และยังได้รับการสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าจากอิหร่าน


          แบบนี้คือ “สงครามลูกผสม” ในแบบเดิม


          ส่วน “สงครามลูกผสม” ในปัจจุบัน มีเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ต แฮ็กเกอร์ โจมตีระบบการเงินการธนาคาร หรือสาธารณูปโภคของประเทศคู่สงคราม มีการใช้เฟคนิวส์ และโซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้อง


          แต่เมื่อพูดถึง “สงคราม” ต้องนิยามให้ได้ว่าใครเป็นศัตรู หรือใครเป็นข้าศึก ซึ่งโดยปกติย่อมหมายถึงคนนอกประเทศ แต่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เป็นปัญหาการเมืองภายใน ถือเป็น “ปัญหาความมั่่นคงภายใน” ซึ่งต้องใช้กลไกภายในแก้ไขปัญหา จึงไม่ควรเปรียบเทียบว่าเป็นสงคราม หรืออ้างว่าเป็น “สงครามลูกผสม” เพราะเท่ากับสร้าง “หลักนิยม” ใหม่ ทำให้กองทัพมองประชาชนเป็นศัตรู


          เพราะต้องไม่ลืมว่าคนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ล้วนเป็นคนไทยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ตามที่ ผบ.ทบ.พูดก็ตาม


          นี่คือ 2 มุมมองเกี่ยวกับ “สงครามลูกผสม” ที่ไม่บอกก็รู้ว่า ผบ.ทบ.พูดเพื่อตัดไม้ข่มใคร ส่วนจะผิดหรือถูกอย่างไร เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ !

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ