คอลัมนิสต์

เรือเหล็กเร่งฝ่ามรสุม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2562

 

 

          ไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 กำลังจะผ่านพ้น แต่กระบวนการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งประเทศไทย และนานาประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ยังอยู่ในอาการชะงักงัน ทั้งที่การเลือกตั้งทั่วไปผ่านพ้นมาแล้วตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี ที่สำคัญตามไทม์ไลน์ของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก็ต้องเลื่อนออกไปเบิกจ่ายได้เต็มร้อยนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 โดยในระหว่างนี้ แม้จะมีรัฐบาลใหม่แล้ว แต่หน่วยงานต่างๆ ภาครัฐยังต้องใช้งบเก่าไปพลางก่อน โดยต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับโครงการลงทุนใหม่ ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ จนกว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2563 จะมีผลบังคับใช้

 


          ปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 โดยสำนักงบประมาณได้ขอให้ทุกหน่วยงานทบทวน เพิ่มเติม และยืนยันคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณภายในเดือนกรกฎาคม จากนั้นสำนักงบประมาณเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งก็ผ่านความเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ในวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท และจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระที่ 1 ประมาณปลายเดือนกันยายนนี้ และวาระที่ 2-3 ประมาณต้นเดือนตามเสนอวุฒิสภาช่วงกลางเดือนธันวาคม จากนั้นจึงจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้ต่อไป โดยสรุปแล้ว การใช้งบประมาณปี 2563 จะต้องเลื่อนออกไปจากเดิม 3 เดือน จากเดิมที่ต้องประกาศใช้ประมาณต้นเดือนตุลาคมที่กำลังจะถึงนี้


          ในทางการเมือง ขณะนี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่สามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มสูบ ไม่เพียงเฉพาะงบประมาณปี 2563 ที่ต้องรอตามขั้นตอน ซึ่งย่อมทำให้หลายนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ยังต้องชะลอไปถึงต้นปีหน้า แต่ยังมีปัญหาการเมืองประดังเข้ามาอีก เรื่องใหญ่และดูท่าจะไม่จบง่ายๆ คือ การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามกำหนดในรัฐธรรมนูญ เมื่อยังไม่ชัดเจน ก็ย่อมกระทบต่อการตัดสินใจในนโยบายสำคัญๆ เพราะอาจส่งผลให้เป็นโมฆะในอนาคตได้ หากรัฐบาลต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ นอกจากนี้ก็เป็นปัญหาอาการงอแงของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องธรรมดาของรัฐบาลผสมเสียงปริ่มน้ำที่พรรคเล็กมีอำนาจต่อรองสูง แต่ก็ทำลายสมาธิการทำงานของรัฐบาลได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในอีกไม่นานนี้ก็จะมีกฎหมายสำคัญเข้าสภา


          นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะขอรับผิดชอบกรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ใช่การลาออก แต่จะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องรอดูกันต่อไป ตามที่นายกรัฐมนตรีจะเห็นสมควรเพื่อไม่ให้กลไกการทำงานเกิดความละล้าละลัง ในอีกด้านหนึ่ง ขณะนี้มีผู้ยื่นเรื่องให้ตีความสร้างความกระจ่าง ก็น่าจะเป็นอีกทางออกของปัญหาได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญควรจะเป็นองค์กรที่ให้คำตอบหรือแม้แต่ชี้ทางออกในกรณีที่มีข้อสงสัยกันว่า เป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งก็จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปด้วย สุดท้ายแล้ว การตัดสินใจใดๆ ก็ต้องไม่เกิดประเด็นใหม่อันจะเป็นช่องทางให้เกิดการติดตามถามหาอย่างไม่ลดละ จากฝ่ายที่กำลังเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ