คอลัมนิสต์

ธรรมกายกับการเมืองในยุค"รัฐบาลประยุทธ์ 2"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

 

 

          เมื่อผลบุญธรรมกายไหลบ่าท่วมล้นมาถึงเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งถูกขุดคุ้ยภาพถ่ายในอดีตครั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวฯ ร่วมงานบุญถวายที่ดิน ลากโยง “สมศักดิ์” ให้เป็นศิษย์ธรรมกาย

 

 

          แม้ “เจ้าตัว” จะออกมาปฏิเสธหลายครั้งว่าไม่ได้เป็นสาวกธรรมกาย ส่วนตัวเคยพบพระธัมมชโยเพียงครั้งเดียว ขณะที่งานบุญถวายที่ดินก็เป็นการมอบที่ดินให้วัดถึง 5 แห่ง ไม่ได้เจาะจงทำบุญให้วัดธรรมกายเพียงแห่งเดียว ภาพที่ถูกนำมาแชร์ว่อนในโซเชียลมีเดียเข้าใจว่ามีเจตนาเพื่อโจมตี แต่ไม่ทำให้นักการเมืองผู้คร่ำหวอดในวงการต้องหวั่นไหว


          เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าคดีฉ้อโกงประชาชน ยักยอกทรัพย์ และฟอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด มีความเสียหายสูงกว่าหมื่นล้านบาท ประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียเงินออมหลังเกษียณ หรือถูกสหกรณ์คลองจั่นเนรมิตความยากจนแบบพริบตา..มาให้


          และเพื่อปลุกความเชื่อมั่นในตำแหน่งเจ้ากระทรวงตาชั่ง ซึ่งคดีฟอกเงินและสมคบฟอกเงินของ “ธัมมชโย” และมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง เป็นสำนวนในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยเฉพาะภารกิจติดตามตัวผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา สมศักดิ์ จึงสั่งการให้ดีเอสไอเร่งรัดติดตามสำนวนคดีที่ค้างการสอบสวนอยู่อีก 10 สำนวน นำไปสู่การเชิญประชุมเพื่อติดตามคดีในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา


          หลังข้อสั่งการของ “สมศักดิ์” ถูกเผยแพร่ออกไปไม่ถึงครึ่งวันบรรดาสาวกธรรมกายออกมาถล่มภารกิจรีวิวคดีฟอกเงินธรรมกายสนั่นโลกโซเชียล จนต้องเร่งชี้แจงว่าเจ้ากระทรวงไม่ได้มีข้อสั่งการหรือนโยบายให้ดีเอสไอเปิดปฏิบัติการไล่ล่าจับกุมตัวกลุ่มพระที่ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าไปปฏิบัติศาสนกิจภายในวัดธรรมกายได้ตามปกติ พร้อมรับรองว่ายังไม่มีแผนปิดล้อมตรวจค้นวัดเพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่พบเบาะแสแหล่งกบดานของ “ธัมมชโย”




          ว่าไปแล้วหากจะย้อนมองจากอดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่าธรรมกายได้แทรกซึมเข้าไปเกือบจะทุกวงการในสังคมไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของกัลยาณมิตร หรือกลุ่มศิษยานุศิษย์ที่มีต่อการเมืองไทย
   

          เด่นชัดสุดๆ ในยุครัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งปรากฏภาพ ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เคยร่วมงานบุญภายในวัดพระธรรมกาย โดย “ธัมมชโย” เจ้าอาวาส ผู้ตกเป็นจำเลยต่อศาลอาญาในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันยักยอกทรัพย์และเงินบริจาคของวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีการดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2542 จนการสืบพยานในศาลเหลืออีกเพียง 2 นัด กระบวนการพิจารณาก็จะเสร็จสิ้นลงภายในเดือนสิงหาคม 2549


          แต่แล้ว “พชร ยุติธรรมดำรง” อัยการสูงสุดในยุครัฐบาลทักษิณ ก็มีคำสั่งให้อัยการฝ่ายคดีอาญา 5 ถอนฟ้อง “ธัมมชโย” ในวันที่ 21 สิงหาคม 2549 โดยอ้างเหตุในการถอนฟ้องคดีต่อศาลอาญาว่า ธัมมชโย ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาตรงตามพระไตรปิฎกและนโยบายของสงฆ์แล้ว ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้เป็นที่ยอมรับทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ “ธัมมชโย” ยังได้มอบทรัพย์สินทั้งที่ดินและเงินกว่า 959 ล้านบาท คืนแก่วัดพระธรรมกายแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ครบถ้วนทุกประการ ประกอบกับขณะนี้บ้านเมืองต้องร่วมกันสร้างความสามัคคีของคนในชาติทุกหมู่เหล่า เห็นว่าหากดำเนินคดีกับ “ธัมมชโย” ต่อไป อาจก่อให้เกิดความแตกแยก


          ต่อมาในปี 2556 ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ธรรมกายและธัมมชโย มีเรื่องฉาวควบคู่ไปกับ “ศุภชัย ศรีศุภอักษร” ซึ่งถูกจับได้ว่าทุจริตยักยอกเงินสหกรณ์คลองจั่นกว่า 16,000 ล้านบาท โดยเส้นทางการเงินพบการจ่ายเช็คบริจาคนับพันล้านบาทให้แก่ ธัมมชโย และเงินถูกถ่ายโอนไปยังมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ขนนกยูง และเครือข่ายพระ แต่คดีในส่วนของธรรมกายถูกพับเก็บไว้ใต้หีบ ตีความเป็นเงินบริจาค


          จนกระทั่งเข้าสู่ยุครัฐบาล คสช. เงินบริจาคจากการยักยอกฉ้อโกงถูกปัดฝุ่นขึ้นมาตีความว่าเป็นลาภไม่ควรได้ สมควรคืนให้แก่สหกรณ์คลองจั่นเพื่อนำไปจ่ายชดเชยให้สมาชิกผู้เสียหาย ครั้งนั้นวัดธรรมกายเจรจาขอคืนเงิน 684 ล้านบาทแบบแบ่งจ่ายให้สแก่หกรณ์คลองจั่น จากยอดเงินที่ถูกยื่นฟ้อง 814 ล้านบาท แลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ขณะที่ข้อมูลในการสอบสวนพบว่าเงินของสหกรณ์คลองจั่นถูกผ่องถ่ายผ่านการบริจาคไปยังวัดและเครือข่ายพระมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 และพบพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์ไปมา เข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน จึงมีมติให้ออกหมายเรียก “ธัมมชโย” มารับทราบข้อกล่าวหา แต่ผู้ต้องหาอ้างเหตุติดภารกิจและอาพาธไม่เข้าพบพนักงานสอบสวนรวม 3 ครั้ง ทั้งที่ไม่ได้มีอาการอาพาธจริง นำไปสู่การขออนุมัติหมายจับในวันที่ 17 พฤษภาคม 2559


          การดำเนินคดีกับโครงข่ายธรรมกายเดินหน้าคู่ขนานมากับข้อสงสัยว่า ธรรมกายเปิดพื้นที่บางส่วนเป็นสถานที่ซ่องสุมเพื่อใช้สนับสนุนให้แก่การชุมนุมก่อความไม่สงบทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ปฏิบัติการตรวจค้นตามหมายค้นของศาล กลุ่มศิษยานุศิษย์ได้ระดมโล่มนุษย์ออกมาขัดขวางการเข้าจับกุมตัว “ธัมมชโย” จนดีเอสไอต้องถอยร่น ถอนกำลัง ยุติปฏิบัติการ ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 กำหนดให้บริเวณวัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม เปิดทางให้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น แต่ก็ไม่พบตัว “ธัมมชโย” แม้แต่สิ่งของเครื่องใช้ที่อาจปรากฏสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอของ “ธัมมชโย” ก็ไม่เหลือทิ้งไว้


          แม้ไม่ได้ตัว “ธัมมชโย” แต่การเข้ามาจัดระเบียบ ริดปีกโครงข่ายธรรมกายของคสช.ได้ตีเข้าไปถึงพื้นที่ชั้นในของวัดธรรมกายเป็นครั้งแรก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานใดทะลุทะลวงเข้าไปได้


          กล่าวได้ว่า “ธรรมกาย” โดนรุกหนักที่สุดแม้ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นวัดจะไม่ได้ตัว “ธัมมชโย” มาดำเนินคดีตามหมายจับ แต่ส่งผลให้ความยิ่งใหญ่ของวัดพระธรรมกายลดน้อยถอยลง สาเหตุเพราะธรรมกายขาด “ธัมมชโย” ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดศิษยานุศิษย์ พร้อมเปิดทางให้คณะสงฆ์เข้ามาชำระสะสางการเผยแพร่คำสอนที่ผิดไปจากหลักพุทธศาสนา


          ขณะที่ผลลัพธ์ในทางการเมืองการตรวจค้นเครือข่ายธรรมกาย ยังส่งผลสะท้านสะเทือนไปถึงฐานที่มั่นของ “แดงปทุม” ซึ่งถูกมองเป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ของมวลชนเสื้อแดง แม้แต่ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ โกตี๋ ดีเจสถานีวิทยุประชาชน เรดการ์ดเรดิโอ ก็หนีหน้าและหายตัวไปจากแวดวงการเมืองไทยด้วย


          เมื่อบ้านเมืองเปลี่ยนผ่านจากคสช. สู่การเลือกตั้ง และเข้าสู่โหมดประชาธิปไตยอีกครั้งจึงมีคำถามผ่านไปถึงเครือข่ายธรรมกายเพราะเคยประกาศว่า “ธัมมชโย” จะเข้ามอบตัวสู้คดี เมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย


          ด้วยเหตุนี้ “เผือกร้อน” จึงถูกโยนเข้าใส่ “สมศักดิ์” แกนนำกลุ่มสามมิตร รัฐมนตรียุติธรรม ที่ถูกมองว่าเป็นลูกศิษย์ธรรมกาย ว่าจะสามารถเกลี้ยกล่อมให้ “ธัมมชโย” ออกมามอบตัว เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ และคดีความที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับวัดพระธรรมกายจะลงเอยอย่างไรเพราะตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 จนถึงปัจจุบัน “ธัมมชโย” ไม่เคยออกมาปรากฏตัวหรือสื่อสารไปยังกลุ่มศิษย์ผ่านช่องทางสาธารณะอีกเลย


          ในส่วนของเม็ดเงินจากการทุจริตสหกรณ์คลองจั่นที่ส่งผ่านมายัง “ธัมมชโย” และมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ รวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 1,458 ล้านบาท ล่าสุดกลุ่มศิษย์ได้รวบรวมเงินส่งคืนให้สหกรณ์คลองจั่นแล้ว 1,055 ล้านบาท คงเหลืออีก 403 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวยังไม่นับรวมกับยอดเงินบริจาคที่ส่งต่อไปยังเครือข่ายพระและอดีตพระ อีกประมาณ 600 ล้านบาท


          ในส่วนของโครงข่ายภาคธุรกิจซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกลุ่มศิษย์ใกล้ชิดของ “ธรรมกาย” ที่มีสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลตระกูลชินวัตร ก็ถูกดำเนินคดีอาญาไปตามลำดับ รวมถึง อนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งเข้าไปรับซื้อที่ดินจากธรรมกายโดยดีเอสไอได้สรุปสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องส่งสำนวนไปให้อัยการแล้ว แต่สั่งไม่ฟ้องบุตรสาว อลิสา อัศวโภคิน ผู้รับซื้อที่ดินแปลงอาคารบุญรักษา เพราะเชื่อว่าไม่น่าจะมีส่วนรู้เห็น คาดว่าพ่อนำชื่อลูกสาวไปใช้ ในส่วนของตัวอาคารบุญรักษา อาคารลูกโลก และอาคารวิหารคต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งอายัดทรัพย์ไว้ทั้งหมดแล้ว


          สำหรับข้อเสนอที่ให้กวาดล้างโครงข่ายธรรมกายไปในคราวเดียว ด้วยการยุบเลิกมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบทรัพย์สินของอาณาจักรธรรมกายเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ พบว่าวัดพระธรรมกายมีที่ดินเป็นธรณีสงฆ์อยู่เพียง 196 ไร่ ส่วนตัวอาคารและอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ล้วนถือครองในชื่อของมูลนิธิและบุคคลอื่น โดยดีเอสไอตรวจสอบพบว่า “ศุภชัย” นำเงินจากสหกรณ์คลองจั่นมามอบให้ “ธัมมชโย” แล้วเงินได้ถูกส่งต่อไปให้มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ ใช้สร้างอาคารลูกโลก 700 ล้านบาท และสร้างวิหารคตอีก 700 ล้านบาท และยังมีเงินบริจาคตรงเข้ามูลนิธิอีก 325 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินบริจาคที่อยู่ในชื่อของพระสงฆ์เครือข่ายอีก 30 รูป ซึ่งนำไปซื้อที่ดินและเล่นหุ้น มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ฯ จึงมีส่วนกระทำความผิดในคดีฟอกเงิน


          แม้ว่าดีเอสไอจะได้แจ้งข้อกล่าวหาและนำตัวกรรมการมูลนิธิไปส่งฟ้องแล้ว แต่เพื่อให้เป็นที่สิ้นสุดดีเอสไอจึงส่งคำร้องถึงอัยการขอให้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ให้มีคำสั่งยกเลิกมูลนิธิและให้ทรัพย์สินของมูลนิธิตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 134 แต่อัยการภาค 1 มองว่าควรรอฟังผลคดีอาญาให้เป็นที่สิ้นสุดก่อนแล้วค่อยเริ่มกระบวนการในทางแพ่ง ความเสียหายนับหมื่นล้านบาทของสหกรณ์คลองจั่นจึงยังคงเป็นปัญหาที่สร้างความทุกข์สาหัสให้สมาชิกนับหมื่นรายที่ทุ่มเงินบำเหน็จ บำนาญก้อนสุดท้ายไปฝากไว้ที่สหกรณ์แห่งนี้


          คงต้องเกาะติดกันต่อไปว่าการปัดฝุ่นคดีรอบนี้จะส่งผลในทางใดต่อสนามการเมืองท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยผลจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ส.ส.ปทุมธานีทั้ง 6 เขต ไม่มีที่นั่งแชร์ให้พรรคพลังประชารัฐเลย ฐานเสียงและมวลชนยังยึดติดอยู่กับขั้วการเมืองพรรคเพื่อไทย มีเพียงพื้นที่เขต 6 เท่านั้นที่พรรคภูมิใจไทยเบียดแทรกเข้ามาได้ 1 ที่นั่ง หลังการรีวิวคดีจึงต้องติดตามว่า ขั้วการเมืองอื่นๆ จะเจาะทะลุกำแพงฐานเสียงเดิมที่เหนียวแน่นได้หรือไม่


          และเที่ยวนี้ยังต้องจับตา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เข้ามากำกับดูแลดีเอสไอด้วยตัวเอง ว่าจะเอาอย่างไรกับธรรมกายและธัมมชโย ที่ถูกมองว่าเป็นเครือข่ายของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หลังจาก “ธรรมกาย” เคยถูกบี้อย่างหนักมาแล้วในยุค “รัฐบาล คสช.”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ