คอลัมนิสต์

ทุบ'ความมั่นคง'เขย่าขา "บิ๊กตู่"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ถอดรหัสลายพราง โดย... พลสุ่มยิง

 

 


          ไม่ว่ามูลเหตุจูงใจการลอบวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ ต่อเนื่องกันระหว่างวันที่ 1-2 สิงหาคม จะมีปัจจัยมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเมือง หรือเชื่อมโยงกันทั้งสองส่วนและใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคงต้องรอ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สอบสวนหาข้อเท็จจริงกันต่อไป

 

 

          แต่ที่น่าสนใจการก่อเหตุครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่สัญลักษณ์แห่ง ‘ความมั่นคง’


          ต้องยอมรับว่าตลอด 5 ปี ‘ความมั่นคง’ คือผลงานที่โดดเด่นและเห็นเป็นรูปธรรมจนกลายเป็น ‘จุดแข็ง’ ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เปรียบเสมือน ‘เสาหลัก’ ในการบริหารประเทศและน่าจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ประชาชนไว้วางใจ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กลับเข้ามาบริหารประเทศอีกสมัย


          ‘งานความมั่นคง’ ไม่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับงานด้านการทหารและการรักษาอธิปไตยแล้วยังครอบคลุมถึงมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และด้านต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) กระทรวงกลาโหม กองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สมช.) และอื่นๆ ที่จะเป็นกำลังสำคัญผลักดันให้การบริหารงานรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 2/1 เดินหน้าไปด้วยดีเช่นเดียวกับในห้วง 5 ปีที่ผ่านมา


          แน่นอนว่าเมื่อ ‘เสาหลัก’ สำคัญนี้ถูกสั่นคลอนด้วยระเบิดหลายจุดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกระนาด ทั้งเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยว สังคม การเมือง แม้แต่เสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถูกสั่นคลอน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของคนภายในประเทศและต่างชาติ ในเรื่องการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และเป็นปีที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน 




          โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สมัยที่ยังควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ในรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้เรียกประชุมส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมดูแลรักษาความปลอดภัยและการจราจรเพื่อรองรับการประชุมระดับนานาชาติที่จะมีขึ้นในประเทศไทยตลอดปี 2562 โดยกำชับให้นำบทเรียนกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงเคยบุกล้อมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาที่ จ.ชลบุรี เมื่อปี 2552 มาเป็นกรณีศึกษา 


          “เชื่อมโยงกันได้หมด หากไปไล่ดูรายละเอียดจะเห็นว่านักการเมืองหลายคนมีบทบาทในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองกลุ่มที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งคนหน้าเก่า หน้าใหม่ ก็พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นใคร แต่การเอาผิด ต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานจะสาวไปถึงคนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะเขาก็รู้ขั้นตอนกระบวนการสืบสวนสอบสวนดี เรามีทีมเป็นทหารและตำรวจ ในขณะที่เขาก็มีเหมือนกัน ส่วนมูลเหตุยังไม่รู้จุดประสงค์แน่ชัด แต่เป้าหมายคือหน่วยงานความมั่นคงทั้งปวง” แหล่งข่าวกองทัพบก ระบุ


          หลังการเข้าถวายสัตย์รัฐบาลชุดใหม่ ‘คสช.’ ก็สลายตัวไปพร้อมๆ กับกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กลับเข้ากรม กอง ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา การดูแลพื้นที่ทั้งหมดจึงตกไปอยู่ ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ และใช้กฎหมายปกติในการบังคับใช้ แต่ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ‘พล.อ.ประยุทธ์’ และเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุลอบวางระเบิด


          ‘กระทรวงกลาโหม’ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการก่อเหตุครั้งนี้ แต่เนื่องจากมีที่ตั้งบนพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและบริเวณรอบๆ ติดต่อกับสถานที่สำคัญหลายแห่งการรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างเข้มงวด ระเบิดจึงไปตกที่เป้าหมายรองอย่าง ‘สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม’ ถนนศรีสมาน ตำบล บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่มีมาตรการดูแลไม่เข้มงวดเท่า


          เช่นเดียวกับ ‘กองบัญชาการกองทัพบก’ ถนนราชดำเนิน ก็อยู่ในแผนการก่อเหตุ แต่ด้วยระบบการรักษาความปลอดภัยที่มีการลาดตระเวนทั้งชุดจักรยานและชุดเดินเท้ารอบๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ส่งผลให้ ‘กองบัญชาการกองทัพไทย’ มีที่ตั้งติดต่อกับศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดเข้าออกได้หลายเส้นทางได้รับผลกระทบ


          พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยทหารทั่วประเทศให้เข้มงวดมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยที่ตั้งหน่วยทหารการจัดชุดลาดตระเวน การตรวจค้นยานพาหนะและบุคคลเข้าออกภายในหน่วยทุกคันและเน้นย้ำกำลังพลให้ตื่นตัว ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท


          สอดคล้องกับ ‘กองบัญชาการกองทัพไทย’ สั่งยกระดับการดูแลที่ตั้งหน่วยจัดชุดเคลื่อนที่ลาดตระเวนทั้ง 24 ชั่วโมงพร้อมประสานหน่วยราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในศูนย์ราชการทั้งหมดในเรื่องรักษาความปลอดภัยร่วมกันเฝ้าระวังบุคคลที่น่าสงสัยรวมไปถึง กองทัพเรือ กองทัพอากาศ เน้นย้ำกำลังพลปฏิบัติตามระเบียบรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด


          การบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลทหารจนมาสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ ของ พล.อ.ประยุทธ์  เป้าหมายคือการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศไทยในทุกด้าน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินโดย ‘ความมั่นคง’ เป็นปัจจัยหลักทำให้ทุกอย่างก้าวไปข้างหน้า 


          แต่ในวันนี้ ‘ความมั่นคง’ กำลังถูกท้าทายจากคนบางกลุ่ม ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ในฐานะกำกับดูแลทั้งตำรวจ-ทหาร จะสามารถกู้ศรัทธาความเชื่อมั่นด้วยการกระชาก ‘ไอ้โม่ง’ อยู่เบื้องหลังมารับโทษได้หรือไม่? เป็นเรื่องต้องติดตาม
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ