คอลัมนิสต์

"ยาแรง"กระตุ้นศก.-ลดดอกเบี้ย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562

 


          จากปัจจัยหลายด้านในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 พบว่าแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจของไทยจะไม่สามารถไปถึงเป้าที่ตั้งอัตราเติบโตจีดีพีไว้ที่ 3.3% ซึ่งตัวเลขการส่งออกครึ่งปีแรกหดตัวไปถึง -4.1% และแนวโน้มตลอดทั้งปีอาจติดลบ ส่วนมูลค่าการนำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกก็ติดลบเช่นกันที่ -3.1% นอกจากนี้เศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาชะลอลงต่อเนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศโดยพบว่าการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงในเกือบทุกหมวดรวมทั้งตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับลดลงในรอบ 30 เดือนเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งคาดว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนอาจส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในครึ่งปีหลังได้ ส่วนอุตสาหกรรมภาคการผลิตก็ได้รับผลกระทบจากยอดสั่งซื้อหดลงจะมีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย

 


          ในประเทศผู้นำเศรษฐกิจเองก็อ่อนแรง เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.2 ในไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 27 ปี โดยชะลอลงจากร้อยละ 6.4 ในไตรมาส 1 ของปีนี้ ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกของปี เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ร้อยละ 6.3 โดยสาเหตุปัจจัยฉุดรั้งหลักมาจากอุปสงค์โลก รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศจี6นเองที่อ่อนแรงลง ท่ามกลางข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ รวมถึงเผชิญปัญหาในเกาะฮ่องกงอีกด้วย และเมื่อมองในภูมิภาคเอเชียยังพบว่าอินเดียก็ออกอาการไม่สู้ดีเมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทยอยปิดโรงงานเลิกจ้างพนักงานรวมไปถึงผลพวงที่กระทบไปโดนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนซึ่งมีการปลดคนงานมากกว่าแสนคนไปแล้ว เมื่อผนวกกับภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐก็ยังไม่มีสัญญาณในทางบวกจึงเป็นเรื่องยากจะไปหวังพึ่งพิงปัจจัยค้าขายภายนอก


          ภาพรวมเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง 2562 คาดว่ายังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองระดับโลก และเศรษฐกิจยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัวโดยการเติบโตเศรษฐกิจโลกปีนี้ มีการประเมินปรับลดลงมาเติบโตที่ 2.9% จากเมื่อต้นปีที่เคยประเมินว่าจะเติบโตราว 3.0-3.2% และวิเคราะห์ถึงปี 2563 เชื่อว่าตลาดประเทศเกิดใหม่จะฟื้นตัวดีกว่าปีนี้ สวนทางกับตลาดประเทศพัฒนาแล้วที่จะโตชะลอลงอีก ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นลงร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 2.00-2.25 ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2551 โดยเป็นมาตรการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและการกระตุ้นเงินเฟ้อพร้อมกับป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความตึงเครียดการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า


          ขณะที่รัฐบาลได้หารือหน่วยงานเกี่ยวข้องถึงแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังที่ต้องเฝ้าระวังความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้นอย่างค่อนข้างชัดเจนโดยได้เตรียมการชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแพ็กเกจใหญ่ภายในเดือนนี้ โดยเน้นดูแลคนทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับฐานราก ทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผู้ค้าขายในระดับชุมชุม รวมถึงผู้ประกอบการรายเล็ก รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาพรวม ทั้งนี้มาตรการที่ออกมาต้องแรงหวังให้ได้ผลจริงจังส่งผลเศรษฐกิจในเชิงบวก นั่นคือรัฐบาลจะใช้ “ยาแรง” กระตุ้นเศรษฐกิจ และสอดรับกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งถือว่ามีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ