คอลัมนิสต์

'บิ๊กไบค์'ตายถี่กับข้อเสนอควบคุมความเร็ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... วิลาสินี แววคุ้ม

 

 

          อุบัติเหตุสยองที่เกิดกับ “ไบเกอร์” ที่ใช้รถจักรยานยนต์สมรรถนะสูง ที่เรียกว่า “บิ๊กไบค์” นั้น กลายเป็นความเสี่ยงใหม่บนท้องถนนบ้านเรา เพราะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถี่ยิบ

 

 

          อุบัติเหตุสยองรอบล่าสุดเริ่มที่เหตุการณ์เมื่อเช้าตรู่วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายภัทร์นฤณ พงษ์ธนานิกร หรือ “โน้ต” ผู้บริหารค่ายเพลง “รถไฟดนตรี” ลูกชายคนเล็กของ “ระย้า" ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร เจ้าของค่ายเพลงรถไฟดนตรี ขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์เสียหลักชนราวสะพานข้ามแยกคลองตัน จบชีวิตลงอย่างสยดสยอง สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนที่เห็นเหตุการณ์


          ถัดมาอีกหนึ่งวัน เมื่อเวลา 02.30 น. วันที่ 28 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งเหตุ “บิ๊กไบค์” ชนกับเสาป้ายสัญญาณเตือนให้ระวังโค้งอันตราย ถนนฉลองกรุง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตคาที่ 2 ราย คือผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย

 

 

'บิ๊กไบค์'ตายถี่กับข้อเสนอควบคุมความเร็ว

 


          ต่อมาช่วงกลางดึกที่ผ่านมา เกิดเหตุบิ๊กไบค์แหกโค้ง ทำให้ผู้ขับขี่กระเด็นตกลงไปในคลองประเวศบุรีรมย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย คาดว่าผู้ขับขี่น่าจะไม่ชำนาญเส้นทาง ทำให้รถเกิดเสียหลักและร่างพุ่งตกลงไปในลำคลอง


          ระยะเวลาเพียง 2 วัน เกิดเหตุแล้วถึง 3 ครั้ง เสียชีวิต 4 ราย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน หรือ ศวปถ. บอกว่า การเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์มาจากหลายปัจจัย เริ่มจากสมรรถนะรถส่วนใหญ่นิยมมากกว่า 400 ซีซี บางรุ่นสูงถึง 1,000 ซีซี เมื่อเครื่องแรง ก็ทำให้ขับเร็ว และเสี่ยงอันตราย

 

 

'บิ๊กไบค์'ตายถี่กับข้อเสนอควบคุมความเร็ว

 


          นอกจากนั้นยังมีปัจจัยด้านกายภาพของเส้นทาง อย่างกรณีบุตรชายของระย้า ที่เกิดอุบัติเหตุบนสะพานข้ามแยกคลองตัน ลักษณะสะพานเป็นรูปตัว S โดยปกติถนนในเขตเมืองจะไม่มีการยกสโลป เพื่อลดแรงเหวี่ยง เพราะในเมืองนั้นไม่ใช่เขตใช้ความเร็ว ปกติบนสะพานจะใช้ความเร็วอยู่ที่ 40 ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่การบังคับใช้กฎหมายห้ามรถจักรยานยนต์ขึ้นสะพาน ก็ควบคุมได้ลำบาก เป็นเรื่องที่ยังถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน (ฟ้องศาลปกครองกันอยู่)

 



          นอกจากนั้นยังมีลักษณะของ “ราวกันตก” บนสะพาน ซึ่งสังเกตให้ดีจะมีเสาเหล็กโผล่ขึ้นมา ฉะนั้นต่อให้สวมหมวกกันน็อกหรือไม่ก็เป็นอันตรายอยู่ดี ดังนั้นจึงอยากให้ทบทวนมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมความเร็ว ลักษณะทางกายภาพบนท้องถนน และราวกันตก โดยให้น้ำหนักไปที่การควบคุมความเร็วในการขับขี่มากที่สุด

 

 

 

'บิ๊กไบค์'ตายถี่กับข้อเสนอควบคุมความเร็ว

 


          นพ.ธนะพงศ์ ยังให้ข้อสังเกตถึงสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบิ๊กไบค์ว่า ตั้งแต่ปี 2557-2559 รถที่มีขนาด 250 ซีซี ขึ้นไป มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุ มากขึ้นเป็น 2 เท่า โดยในปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 145 ราย ขณะที่ในปี 2559 ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 285 ราย พร้อมกับความนิยมของบิ๊กไบค์ที่เพิ่มมากขึ้นมาก โดยยอดขายสูงขึ้น 4-5% มีการจดทะเบียนอยู่ที่ 2-3 แสนคัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ