คอลัมนิสต์

เวทีสภาควรสร้างสรรค์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2562

 

 

          การเมืองชั่วโมงนี้ทุกสายตากำลังจับจ้องไปที่การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม เพราะถือเป็นปฐมบททดสอบคณะรัฐมนตรีโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในยามต้องบริหารประเทศไทยโดยปราศจากอำนาจพิเศษใดๆ เหมือนที่เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนับได้ว่าเป็นก้าวย่างแรกๆ ของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหารเมื่อกว่า 5 ปีก่อน สู่เวทีประชาธิปไตย ซึ่งถูกตีตราว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ บททดสอบนี้คือการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งก็อยู่ภายใต้กติกา ข้อบังคับการประชุม และเป็นที่คาดหมายกันว่าการประชุมครั้งสำคัญนี้ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลจะอภิปรายหักล้างกันราวกับญัตติซักฟอกเลยทีเดียว

 


          พรรคร่วมฝ่ายค้านจำนวน 7 พรรค โดยการนำของพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ซึ่งเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย เพราะเป็นฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายบริหารกลุ่มอำนาจพิเศษและคสช. ที่เป็นฝ่ายเผด็จการแสดงท่าทีอย่างชัดเจนมานานพอสมควรว่าจะไม่ลดราวาศอกให้รัฐบาลชุดนี้อย่างเด็ดขาด นั่นหมายถึงการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ไม่เว้นแม้แต่การประชุมรัฐสภาในวาระการแถลงนโยบายซึ่งไม่ใช่ญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ และจะไม่มีการลงติแต่อย่างใด นั่นหมายถึงว่าการอภิปรายขุดคุ้ย โจมตี จึงเป็นการมุ่งลดความน่าเชื่อถือ ของรัฐบาลชุดนี้เพื่อปูทางสู่กิจกรรมอันมีเป้าหมายที่ไกลกว่านั้นเสียมากกว่า ถ้าขาดไร้ซึ่งหลักฐานหรือการกล่าวหากันอย่างเลื่อนลอย

 


          นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา ได้บอกถึงข้อสรุปการจัดสรรเวลาสำหรับการอภิปรายนโยบายรัฐบาลว่า เวลาที่จะใช้ในการอภิปรายยังเป็นไปตามข้อตกลงเดิม คือรวม 28 ชั่วโมง โดยเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน รวมเวลาอภิปรายนำของผู้นำฝ่ายค้าน 13 ชั่วโมง 30 นาที พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง และส.ว. 5 ชั่วโมง ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้เวลานำเสนอนโยบายประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที นอกเหนือจาก 28 ชั่วโมงที่แบ่งสรรแล้ว อย่างไรก็ตามหากในระหว่างการอภิปรายพบการประท้วงของแต่ละฝ่าย จะหักเวลาที่จัดสรรให้แต่ละฝ่ายได้อภิปราย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ให้สมาชิกอภิปรายเนื้อหาไม่ใช่เล่นเกมในสภา

 


          การแสดงบทบาทของส.ส.หลายคนในการประชุมสภาที่ผ่านมา เป็นที่วิจารณ์กันมากว่า “ไร้สาระ” อย่างที่ประธานรัฐสภาเองก็เตือนไว้แล้วว่า ต่อไปถ้าประท้วงระหว่างการอภิปรายก็จะหักเวลา เท่ากับส่งสัญญาณถึงสองฝ่ายให้อยู่ใน “สาระ” มากกว่าการเดินเกมเพื่อชักใบให้เรือเสีย โดยเฉพาะการอภิปรายนโยบายรัฐบาลถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ข้อคิดเห็นและข้อมูลต่างๆ ถ้าหากฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก และรวมถึงฝ่ายรัฐบาลเอง ได้นำเสนออย่างสร้างสรรค์ แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลได้ แต่ก็เป็นเหมือนเข็มทิศสำหรับการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลต่อไป สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อเห็นพ้องกันว่าเวทีรัฐสภาคือเวทีรังสรรค์ตามระบอบประชาธิปไตยก็ขออย่าได้ทำให้เวทีแห่งนี้ตกอยู่ในวังวนของพฤติกรรมแบบเดิมๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ