คอลัมนิสต์

"สภาสันหลังยาว"? กับงาน "วุฒิสภา" ที่ใกล้จะเริ่ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ขนิษฐา เทพจร

 

 

          เริ่มประชุมไปไม่ทันไร “วุฒิสภา” ชุดแรกหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ ถูกชาวโซเชียลจับผิดกันเสียแล้ว โดยตั้งประเด็นการเข้าทำหน้าที่ในห้องประชุม ที่ห้องประชุมรัฐสภาชั่วคราว บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ด้วยจำนวนไม่ถึง 30 คน จาก ส.ว.ที่มีทั้งหมด 250 คน ในวันประชุมวาระปกติของ “วุฒิสภา” ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระสำคัญ มีสมาชิกร่วมประชุมอย่างแน่นขนัด

 

 

          สิ่งที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่า การถูกสังคมตรวจสอบกรณีดังกล่าว กระทบต่อภาพลักษณ์ของ “สภาสูง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการนำภาพไปวิจารณ์ ว่าเป็น “สภาสันหลังยาว” หลังผ่านงานสำคัญ เช่น “ลงมติเลือกผู้นำประเทศ” ซึ่งเปรียบเสมือนการทำงานเพื่อรับใช้ผู้แต่งตั้ง ก็หายจ้อยจากการทำหน้าที่ ทั้งที่ได้รับเงินเดือนหลายแสนบาท


          คำครหาที่เกิดขึ้นนั้น “วุฒิสมาชิก” หลายคนบอกเลยว่า รับไม่ได้ เพราะการวิจารณ์แบบสนุกปาก โดยขาดความเข้าใจในหน้าที่และการทำงานนั้น คือการ “ดิสเครดิต” หรือ การหยามเกียรติ ครั้งสำคัญ


          ดังนั้นในการประชุมวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกจึงยกประเด็นหารือ เพื่อกำหนดเป็นแนวทางป้องกัน รวมถึงใช้โอกาสชี้แจงกลางเวทีวุฒิสภา ซึ่งถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์รัฐสภา และ วิทยุรัฐสภา


          เริ่มจาก “วันชัย สอนศิริ" ส.ว. ที่ยกประเด็นหารือ พร้อมชี้แจงด้วยว่าการทำงานของวุฒิสมาชิกไม่ใช่แค่การนั่งในห้องประชุมเพื่อฟังการอภิปราย หรือพิจารณาเท่านั้น เพราะยังมีบทบาท และงานของกรรมาธิการ ที่ ส.ว.ต้องรับผิดชอบร่วมด้วย อีกทั้งการประชุมวุฒิสภา ไม่กำหนดเวลาให้พักเที่ยง หรือพักรับประทานอาหาร ดังนั้นภาพที่สื่อมวลชนนำเสนอ และถูกโซเชียลดึงไปเผยแพร่ต่อนั้น อาจเป็นช่วงที่สมาชิกพักรับประทานอาหารหรือทำงานในฐานะกรรมาธิการ ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายนอกห้องประชุมใหญ่


          ยังมี ส.ว.อีกหลายคนลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุน โดยต้องการให้ “วุฒิสภา” สื่อสารไปยัง “ประชาชน” ให้เห็นถึงภาพการทำงาน ทั้งให้ถ่ายทอดภาพการประชุมในห้องกรรมาธิการ สลับกับการประชุมในห้องประชุมใหญ่ เพื่อสื่อสารไปยังประชาชนทางบ้านว่า ส.ว.กำลังทำงานอย่างอื่น หรือให้ดูผลงานที่การอภิปราย เสนอความเห็น มากกว่าการนับยอดในห้องประชุม

 



          สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเข้าใจในบทบาท และการทำงานของ “วุฒิสภา”

          ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดหน้าที่และอำนาจของ “วุฒิสมาชิก” ไว้ในหลายประเด็น และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ หน้าที่การพิจารณาร่างกฎหมาย ทั้งร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก., ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งรวมถึง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ, ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปประเทศ


          หน้าที่ที่เกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่ง ทั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการในองค์กรอิสระ เช่น กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)


          หน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ผ่านการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในงานที่เกี่ยวกับหน้าที่, การขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ รวมถึงให้ความเห็นต่อกรณีปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ตามที่นายกรัฐมนตรีร้องขอให้รับฟังความเห็น โดยไม่มีการลงมติในเรื่องที่อภิปราย และตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, กรรมการองค์กรอิสระ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ หากพบว่าบุคคลที่อยู่ในข่ายที่ “ส.ว.” ตรวจสอบได้มีประเด็นดังต่อไปนี้ 1.ร่ำรวยผิดปกติ 2.ทุจริตต่อหน้าที่ 3.จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง


          หน้าที่ติตตามและเสนอแนะการปฏิรูปประเทศ ตามที่รัฐธรรมนูญว่าด้วยหมวดการปฏิรูปประเทศกำหนดไว้ และหน้าที่ตามบทบาทสำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่วางบทบาทให้ “วุฒิสมาชิก” เป็นเสียงร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึงเป็นเสียงที่ต้องให้ความเห็นชอบว่าจะรับหลักการของญัตติที่เสนอหรือไม่ และในวาระสาม ว่าด้วยการเห็นชอบประเด็นที่แก้ไขไป โดยบังคับให้ใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบร่วมด้วย ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ ของทั้ง 2 กรณี และยังให้สิทธิ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มีอยู่ ยื่นยับยั้ง “นายกฯ” นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากพบเนื้อหาที่เข้าเกณฑ์ยับยั้ง อาทิ เกี่ยวกับหมวดพระมหากษัตริย์, คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ, อำนาจหรือหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเป็นเรื่องที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระนั้นไม่เป็นไปตามกรอบปฏิบัติ หรือเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ


          ขณะที่หน้าที่ที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญกำหนด ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ก่อนบังคับใช้ ยังให้บทบาท ส.ว.ในการรับฟังปัญหาและแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ รวมถึงข้อร้องเรียนจากประชาชน ผ่าน “คณะกรรมาธิการสามัญ (กมธ.)” และ “คณะกรรมาธิการวิสามัญ” ซึ่งกรอบของการทำงาน ประกอบด้วย พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ก่อนเข้าสู่วาระประชุม หรือหลังรับหลักการของร่างกฎหมาย, กระทำกิจการ, ตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ รวมถึงการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านที่เกี่ยวข้อง


          โดยปัจจุบันจำนวนของกรรมาธิการสามัญ ที่กำหนดไว้ในร่างข้อบังคับการประชุม มีทั้งหมด 26 คณะ อาทิ กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ, กมธ.เศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง, กมธ.การต่างประเทศ, กมธ.การทหารและความมั่นคงแบบองค์รวม, กมธ.การท่องเที่ยว, กมธ.บริหารราชการแผ่นดิน, กมธ.พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน, กมธ.ตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เป็นต้น


          และด้วยบทบาทของ “ส.ว.” ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เกาะติดและเร่งรัด งานปฏิรูป ตามร่างข้อบังคับการประชุม ยังกำหนดให้มี “กมธ.ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นคณะเฉพาะที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อเทียบกับ การทำงานของวุฒิสภาในสมัยก่อน


          ดังนั้นเชื่อว่าหลังจากที่ “ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา” ผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ คำว่า “งานเยอะ” จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน


          ขณะที่บทบาทของ “ส.ว.” ในตอนนี้ นอกจากประเด็นการพิจารณารายงานของหน่วยงานตามหน้าที่แล้ว ยังไม่มีวาระร่างกฎหมายหรืองานตามบทบาทหน้าที่เข้าสู่ระเบียบวาระ


          กับประเด็น “งานเยอะ” และสิ่งที่ “สังคมคาดหวัง” ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเชื่อมโยงกันด้วย เพราะแม้งานเยอะ แต่ด้อยคุณภาพในสายตาประชาชน เหมือนอย่างที่สภาบางยุคใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อประชุมหรือเดินทางศึกษาดูงาน แต่สุดท้ายผลการศึกษาไม่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง


          เช่นเดียวกับบทบาทของ “วุฒิสภา” ที่ถูกคาดหวังต่อการเป็นสภาเติมเต็ม ทั้งการตรวจสอบรัฐบาล และการผลักดันให้การแก้ปัญหาประชาชนหลายเรื่องนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลรูปธรรม ไม่ใช่เป็นสภาที่ทำหน้าที่องครักษ์ พิทักษ์ “ลุงตู่” อย่างที่สังคมปรามาสไว้


          เมื่อ “ส.ว.” ทำงานตอบโจทย์ที่ประชาชนคาดหวัง เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นการกู้ภาพลักษณ์ และลบคำวิจารณ์ได้มากกว่า การเสนอแนวทางที่ว่า เน้นประชาสัมพันธ์งานที่ทำให้มากกว่านี้ หรือกำหนดกฎระเบียบที่รักษาภาพลักษณ์ มากกว่าการถ่ายทอดข้อเท็จจริงไปสู่ประชาชน


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ