คอลัมนิสต์

"งาน-เงิน-สุขภาพ"ผู้สูงวัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2562

 

 

          ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง บรรดาพรรคการเมืองต่างผลักดันนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุเกือบทุกพรรคการเมือง ซึ่งนโยบายหลากหลายนั้นครอบคลุมเกือบทุกด้าน หากนำมาปฏิบัติได้จริงคงสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่ของนโยบายก็มุ่งในเรื่องการสร้างรายได้วัยเกษียณทั้งการเปิดกว้างให้สามารถทำงานต่อได้ในส่วนภาครัฐที่เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว และการจูงใจให้เอกชนจ้างงานผู้เกษียณที่ยังแข็งแรงและมีประสบการณ์ นอกจากนั้นเป็นการเน้นมาตรการเรื่องการสร้างเงินออมเพื่อไว้ใช้ในยามเกษียณ ตลอดจนมาตรการเรื่องรัฐสวัสดิการที่พรรคต่างๆ แย่งชิงเสนอเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จนตัวเลขพุ่งสูง ทำให้อดคิดคำนวณไม่ได้ว่าในอีกประมาณไม่เกิน 10 ปีประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยประมาณ 18 ล้านคน จะส่งผลให้งบประมาณเบี้ยยังชีพก้าวกระโดดขึ้นไปขนาดไหนและไหวไหม

 


          สำหรับผู้สูงวัยในเรื่องหลักที่ต้องบริหารจัดการน่าจะเป็นเรื่อง “งาน-เงิน-สุขภาพ” โดยในส่วนผู้สูงวัยหรือวัยเกษียณที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงนอกจากการเปิดช่องของภาครัฐให้ยังสามารถจ้างงานต่อไปอีกได้และดึงให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในมาตรการนี้ถือเป็นเรื่องดี ขณะเดียวกันควรจะส่งเสริมให้ผู้สูงวัยใช้ประสบการณ์และทักษะทำงานในการสร้างอาชีพอิสระหรือรวมกลุ่มเหมือนกับรัฐวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างอาชีพรายได้ รวมไปถึงหากสามารถพัฒนาต่อยอดโดยมีภาครัฐสนับสนุนก็อาจจะไต่ระดับขึ้นไปได้อีก ซึ่งในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีรายได้เพียงพอทั้งจากเงินออม รายได้จากบุตร หรือจากบำนาญ เป็นกลุ่มที่ไม่น่าต้องวิตกมากนัก ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านรายได้แต่มีทักษะเชี่ยวชาญตามสายอาชีพหากมีแนวทางที่สร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงวัยกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายธุรกิจที่สำคัญได้เช่นกัน

 


          คุณภาพชีวิตและสุขภาพเป็นอีกปัจจัยที่ต้องจัดการบริหารให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย ซึ่งภาครัฐได้มีนโยบายและทิศทางการทำงานมาแล้วเมื่อประกอบกับนโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอกันมาจึงน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้า อย่างเช่น ข้อเสนอตั้งกองทุนประชารัฐกตัญญูเพื่อปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ข้อเสนอเรื่องคอนโดสำหรับผู้สูงอายุสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยที่ไม่มีครอบครัวดูแล รวมไปทั้งการส่งเสริมสภาพแวดล้อม ทั้งด้านระบบขนส่งสาธารณะและที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ การจัดการในเรื่องผู้ดูแลสำหรับผู้สูงอายุติดเตียง และอีกประการคือมาตรการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุเติบโตขึ้นตามจำนวนกลุ่มผู้สูงวัยในขณะที่ภาครัฐต้องส่งเสริมเปิดให้เข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งสนับสนุนด้านภาษีและงบประมาณด้วย

 


          สุขภาพผู้สูงวัยย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลโดยเฉพาะปัจจุบันในหลายประเทศได้แยกโรงพยาบาลเฉพาะผู้สูงอายุออกมาแล้วส่วนในเมืองไทยก็กำลังเริ่มเดินเครื่องแม้จะยังไม่เต็มที่เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบศูนย์การดูแลผู้สูงอายุโดยเป็นส่วนหนึ่งภายในโรงพยาบาล ซึ่งตอนนี้ทางกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. ได้แจ้งความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนที่รุดหน้าเกือบเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปีนี้ ขนาด 300 เตียง รองรับผู้ป่วยนอกได้ประมาณ 1,000 คนต่อวัน ซึ่งดูแล้วคงสามารถรองรับได้ในพื้นที่เขตฝั่งธนบุรี แต่ในระยะยาวคงไม่อาจรองรับได้เพียงพอ ดังนั้นภาครัฐควรต้องพิจารณาเพิ่มโรงพยาบาลเฉพาะผู้สูงอายุให้สมดุลกับภาวะสังคมผู้สูงอายุด้วย ซึ่งในนโยบายพรรคการเมืองก็เสนอสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางผู้สูงอายุทุกอำเภอไว้เช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ