คอลัมนิสต์

ประชาธิปไตยคืนสู่ท้องถิ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2562

 

 

          ตามคาดการณ์ที่ว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ตั้งแต่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สมาชิกสภาเขต(ส.ข.) สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) จะมีขึ้นหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมปีนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นคืนอำนาจการปกครองตนเองให้แก่ท้องถิ่นหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งพักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. และแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งแทน ขณะที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศ ก็ถูกคำสั่งให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และออกคำสั่งคืนตำแหน่งในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ว่างเว้นการเลือกตั้งมานานหลายปี

 

 


          กล่าวสำหรับ กทม. มีกระแสข่าวว่า ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐกำลังทาบทามบุคคลผู้มีผลงานด้านการบริหารจัดการเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตยฺ์ ซึ่งต่างก็หวังจะให้มีตัวแทนของพรรคเข้ามาบริหารมหานครซึ่งนอกจากจะเป็นหัวใจของการพัฒนาในแทบทุกด้านแล้ว การกุมอำนาจบริหาร กทม. ยังหมายถึงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การบริหารงาน กทม.ในโครงสร้างปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ อย่างเช่น ปัญหาจราจรติดขัด ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งกลายเป็นเรื่องซ้ำซากจำเจของคนเมือง กรณีระบายน้ำไม่ทัน เพราะไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)ดับเครื่องสูบใช้การไม่ได้ หรือวิกฤติจราจรเพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าในความดูแลของกระทรวงคมนาคม เป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นกันอยู่ว่า ผู้ว่าฯ กทม.ต้องยึดโยงกับรัฐบาลและการเลือกตั้ง

 


          สำหรับระดับท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. ในความเป็นจริงแล้ว ที่ผ่านมา จะเรียกว่าการบริหารงานเดินไปได้ด้วยระบบราชการก็คงไม่ผิด สภาพเช่นนี้ ทำให้ขาดการจัดการจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ส่งผลให้ภารกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุข อย่างเข้าถึงประชาชนขาดหายไปเป็นเวลานาน นโยบายเกี่ยวกับท้องถิ่นหลายด้านขับเคลื่อนด้วยข้าราชการประจำที่ขาดการเชื่อมโยงกับประชาชน งบประมาณจำนวนมหาศาลที่จัดสรรจากส่วนกลางลงไป ไม่ได้ทำให้เกิดการสร้างงานหรืออาชีพใหม่ๆ กลายเป็นมหกรรมตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ขณะที่รัฐบาลซึ่งก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน ก็ขาดการตรวจสอบว่า “รัฐราชการ” นั้น ทำให้การบริหารงานในส่วนท้องถิ่นง่อยเปลี้ยเสียขาไปอย่างไร เหมือนพาประเทศกลับไปสู่ยุค “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” ใช่หรือไม่

 


          ปลายปีนี้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีว่า มีสัญญาณที่ประชาธิปไตยจะกลับคืนสู่ท้องถิ่่น การบริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นจะได้สนองตอบความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นก็เป็นเรื่องใหญ่ เช่นที่ หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งให้ผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากหน้าที่เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ แต่เมื่ออำนาจนี้สิ้นสุดลงพร้อมคสช. หลังจากที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ก็น่าคิดว่า องค์กรท้องถิ่นจะหวนกลับไปสู่วังวนเดิมๆ หรือไม่ ในทางหนึ่งนั้นก็ต้องอาศัยภาคประชาชน สื่อมวลชน องค์กรอิสระ ร่วมกันตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยในระดับฐานรากเดินหน้าต่อไปได้ และผู้บริหารได้ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่อิงแอบกับการเมืองมากเกินไปจนกลายเป็นระบบอุปถัมภ์เหมือนที่ผ่านมา

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ