คอลัมนิสต์

หนี้เกษตร9หมื่นล้าน... ฮีโร่พลิกล็อก"รัฐบาลใหม่"!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนี้เกษตร9หมื่นล้าน... ฮีโร่พลิกล็อก"รัฐบาลใหม่"!  โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

          แผนการตั้ง “รัฐบาล 2562” ล่มไปหลายครั้ง เพราะ “พรรคการเมือง” แบ่งเค้กกระทรวงเกรดเอกันไม่ลงตัว โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นตัวสะสมฐานคะแนนเสียงสำคัญของ ส.ส.ทุกพื้นทั่วประเทศไทย แถมมีงบประมาณมหาศาล โดยหารู้ไม่ว่า ปัญหาสะสมรอการแก้ไขของเจ้ากระทรวงเกษตรฯ คนใหม่นั้น อาจกลายเป็นได้ทั้ง “จุดพลิกล็อก” สร้างฮีโร่คนใหม่ หรือ “จุดพิฆาต” ของรัฐบาลชุดใหม่ !

 

 

          ย้อนไปช่วงปีที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรหลายพื้นที่ระดมพลยกขบวนบุกเข้าเมืองกรุงเรียกร้องให้ “รัฐบาล คสช.” เร่งแก้ไขหนี้สินที่ทับถมมาหลายสิบปี รวมเป็นเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท พูดง่ายๆ คือ มาทวงสัญญาที่ “บิ๊กตู่” เคยลั่นวาจาไว้ว่าจะคืนความสุขเกษตรกรทุกคน แต่รอมานานกว่า 5 ปี ยังไม่มีความสุขจากการหมดหนี้หมดสินสักที...
 

          การกดดันเริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2561 สหพันธ์เครือข่ายเกษตรกรแห่งประเทศไทย(สกท.) พร้อมสมาชิกเกษตรกรกว่า 500 คน ไปประท้วงหน้าธนาคารขอลดภาระหนี้สิน ถัดมาเดือนกันยายน กลุ่มเกษตรกรนครสวรรค์และกำแพงเพชรไม่ต่ำกว่าพันคนนัดกันขนเสบียงข้าวปลาอาหารแห้งขึ้นรถเป็นร้อยคัน ขับเป็นขบวนยาวเข้ามาปักหลักหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างหนี้อย่างเร่งด่วน เพราะเดือดร้อนจากดอกเบี้ยและเงินต้นที่ผ่อนเท่าไรก็ไม่ลดลงสักที จึงยื่นเงื่อนไขขอลดเงินต้นครึ่งหนึ่ง และหยุดพักดอกเบี้ยไว้อย่างน้อย 15 ปี ต่อลมหายใจไม่ให้ถูกฟ้องล้มละลายโดนยึดที่ไร่ที่นา

 

หนี้เกษตร9หมื่นล้าน... ฮีโร่พลิกล็อก"รัฐบาลใหม่"!

 

 


          เกษตรกรผู้กำลังเดือดร้อนจากหนี้สินท่วมหัว ไม่ได้มุ่งหน้าเดินขบวนเข้าเมืองหลวงกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่มีจำนวนมากเดินทางไปอ้อนวอนหน้าธนาคารหรือศาลากลางจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค

 



          พลังกดดันปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะตัวเลขเกษตรกร 5.2 แสนคนกำลังเป็นหนี้สินทั่วไทยนั้น คิดเป็นยอดรวมหนี้สะสมถึง 8.9 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะหนี้ของธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ “ธ.ก.ส.” “ธอส.” “ธ.กรุงไทย” และ “ธ.ออมสิน” แม้รัฐบาลบิ๊กตู่เคยใช้ ม.44 สั่งปลดฟ้าผ่าหัวหน้าใหญ่ของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลปัญหาหนี้สินตรงนี้โดยตรง คือ “เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 และแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจขึ้นทำหน้าที่แทน พร้อมคำสั่งให้ปรับปรุงกฎหมายและการบริหารงานแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเร่งด่วน


          แต่ผ่านมา 2 ปี ยังไม่เห็นผลงานชัดเจน ทั้งที่ “กฟก.” หรือ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นหน่วยงานที่ควรเข้าใจและรู้ดีถึงภาระหนี้สินของเกษตรกรมากสุด


          ถ้า กฟก.ทำงานดูแลเจรจาหนี้สินให้เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่คงปลดหนี้หมดแล้ว ไม่ต้องเจอดอกเบี้ยทบต้นซ้ำแล้วซ้ำเพราะสถิติที่ผ่านมา “กฟก.” แก้ปัญหาหนี้เกษตรกรไปได้แค่ 3 หมื่นรายเท่านั้น ยอดหนี้ 6 พันล้านบาท

 

 

 

หนี้เกษตร9หมื่นล้าน... ฮีโร่พลิกล็อก"รัฐบาลใหม่"!

 


          เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2562 คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ แถลงข่าวโชว์ผลงานช่วยเจรจาชำระหนี้แทนเกษตรหลายครั้ง ทำให้ทุเลาความเดือดร้อนได้ประมาณ 140 ราย มูลหนี้รวม 120 กว่าล้านบาท และยังช่วยชะลอการดำเนินคดีกับเกษตรกรออกไป 2 ปี เพื่อลดปัญหาการบังคับคดีขายทอดตลาด


          แต่ถ้าดูจากสมาชิก 3.6 แสนรายที่กำลังรอความช่วยเหลือจากหนี้สถาบันการเงินรวมไม่ต่ำกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท


          สรุปยกแรกว่า “ผลงานไม่ผ่าน” แม้รัฐบาลทหารช่วยใช้ “ดาบอาญาสิทธิ์ ม.44” ก็ยังไม่เห็นผลมากนัก เครือข่ายเกษตรกรกลุ่มต่างๆ จึงยังกลับบ้านไม่ได้ ต้องถือป้ายประท้วงไปเรื่อยๆ


          “อุบล อยู่หว้า” ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน วิเคราะห์ว่า กองทุนช่วยเกษตรใหญ่ๆ ในเมืองไทยมีไม่ต่ำกว่า 5–6 กองทุน แต่อำนาจตัดสินใจอยู่ที่นายอำเภอ ซึ่งย้ายไปย้ายมาไม่เคยรู้ปัญหาแท้จริงของชาวบ้านในชุมชน ช่วงที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ออกไปถือป้ายประท้วง แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมาก ที่ไม่ได้รับรู้ข่าวสารของเครือข่ายหรือไม่มีใครชวนไปร่วมประท้วงด้วย

 

 

 

หนี้เกษตร9หมื่นล้าน... ฮีโร่พลิกล็อก"รัฐบาลใหม่"!

 


          “กลุ่มที่น่าสงสารคือชาวนาที่กู้เงินมาปลูกบ้านไม่กี่แสนบาท หรือกู้มาส่งลูกเรียนหนังสือ แต่จ่ายหนี้ธนาคารไม่หมดเสียที โดนยึดบ้านยึดที่นาง่ายๆ แต่คนได้รับความช่วยเหลือก่อนคนอื่น คือ กลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด กลุ่มนี้ค่อนข้างมีเส้นสายหรือมีประสบการณ์ในการประท้วงลดหนี้ อยากให้ กฟก.ทำงานเชิงรุกเข้าไปดูคนที่เดือดร้อนจริง ไม่ใช่ช่วยแค่คนออกมาประท้วง”


          อุบล กล่าวต่อว่า วิธีแก้หนี้เกษตรกรที่ดีสุดคือ ให้กองทุนฯ เข้ามาจับมือร่วมกับสภาเกษตรหรือกลุ่มชาวบ้านในชุมชนทุกแห่ง เน้นปลดหนี้หรือเจรจาช่วยรายย่อย ตอนนี้ยังไม่เห็นนโยบายพรรคการเมืองไหนโดดเด่น คงต้องรอดูว่าใครจะอาสามาเป็นคนดูแลเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาเจอพวก เกษตรกรที่ไม่มีวินัย กับเจ้าหนี้รวมหัวข้าราชการจอมฉ้อฉล


          ล่าสุด กฟก.เสนอ “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ....” เพื่อแก้ไขข้อกฎหมายอันเป็นอุปสรรคหลายมาตรา หวังประกาศใช้เป็นผลงานชิ้นโบแดงแก้ไขหนี้สินคั่งค้างให้หมดสิ้นในรัฐบาลชุดใหม่ที่ “บิ๊กตู่” ยังคงเป็นนายกฯ เหมือนเดิม


          วันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายข้างต้นแล้ว โดยสรุปเนื้อหาสาระสำคัญที่เปลี่ยนไป 4 ประการ ดังนี้

 

หนี้เกษตร9หมื่นล้าน... ฮีโร่พลิกล็อก"รัฐบาลใหม่"!

 


          1.เปลี่ยนวิธีการชำระหนี้แทนเกษตรกรทั้งที่เป็นกลุ่มที่ใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน และกลุ่มที่มีบุคคลค้ำประกัน เพื่อให้กองทุนฯ เข้าไปช่วยชำระหนี้แทนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.เปลี่ยนขอบเขตชำระหนี้ให้ครอบคลุมเกษตรกรที่มีปัญหามากขึ้น 3.เปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรจากคราวละ 2 ปี เป็น 4 ปี เพื่อให้การทำงานตามนโยบายมีความต่อเนื่องและประหยัดงบประมาณในการจัดเลือกตั้ง และ 4.เพิ่มจำนวนสาขาของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน


          หลักการข้างต้นจะช่วยปลดหนี้ได้หรือไม่ คงต้องรอ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คนใหม่ล่าสุด ที่ต้องมาทำตามนโยบาย ซึ่งสัญญาไว้ว่าจะประกันราคาข้าวตันละไม่ต่ำกว่า 10,000-15,000 บาท แถมให้ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 2,000 บาทขึ้นไป โดยเฉพาะการทำตามคำสัญญาเรื่องนโยบายพักหนี้เกษตรกรของพรรคพลังประชารัฐ


          รัฐมนตรีคนใดอยากเป็น “ฮีโร่” ต้องทำแต้มพลิกล็อกด้วยการช่วยเกษตรกรให้ได้จริงๆ โดยเริ่มจากปลดหนี้ 5 แสนรายนี้เสียก่อน จากนั้นก็ลดต้นเงินกู้เหลือครึ่งหนึ่ง และพักชำระหนี้ดอกเบี้ย 15 ปี หรือถ้าอยากเป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” ก็สั่งปลดหนี้ให้เกษตรกรทั้งหมดไปเลย


          หากเปรียบเทียบกับงบประมาณสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย 5 แสนล้านบาท หรืองบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ “คสช.” อนุมัติไปแล้วอย่างรวดเร็ว 4.4 หมื่นล้าน


          ถือว่าตัวเงินปลดหนี้เกษตรกร 5.2 แสนคน แค่ 9 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขจิ๊บๆ

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ