คอลัมนิสต์

"ระยะเวลาตามสมควร"ของเจ้าพนักงานที่ดินกรณีออกโฉนดผิดพลาด!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... เรื่องน่ารู้ว่านนี้...กับคดีปกครอง โดย... นายปกครอง

 

 

          เรื่องน่ารู้วันนี้...กับคดีปกครอง มีคำถามที่น่าสนใจสำหรับผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายกรณีเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง 3 คำถามด้วยกัน คือ


 

 

 

          1.เมื่อเจ้าของที่ดินร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง ทางเจ้าพนักงานที่ดินจะต้องพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด 

 

          2.การฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวจะต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลาเท่าใด 


          และ 3.หากวันสุดท้ายของระยะเวลาการฟ้องคดีเป็นวันหยุดทำการจะต้องยื่นฟ้องภายในเมื่อใด 


          นายปกครองมีคำตอบสำหรับคำถามต่างๆ เหล่านี้จากข้อพิพาทในคดีปกครองครับ...


          มูลเหตุของคดีนี้เกิดจากนางส้มได้จดทะเบียนให้ที่ดินแปลง ก. แก่นายหนึ่งซึ่งเป็นบุตร โดยที่ดินแปลงดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดให้ตามที่นางส้มได้ยื่นคำขอ โดยอาศัยหลักฐานตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำนวน 2 ฉบับ ต่อมา นายหนึ่งได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า โฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีเนื้อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และยังทับซ้อนกับที่ดินแปลงอื่น โดย น.ส. 3 ก. ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ได้มีเนื้อที่ติดกัน


          นายหนึ่งจึงมีหนังสือลงวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ถึงเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินในส่วนที่ออกโดยคลาดเคลื่อน โดยเจ้าพนักงานที่ดินได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 แต่จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2560 เจ้าพนักงานที่ดินไม่มีหนังสือแจ้งความคืบหน้า หรือมีการดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินดังกล่าว นางส้มและนายหนึ่ง (ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ) จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่พิพาท และให้ น.ส. 3 ก. ทั้ง 2 ฉบับ กลับคืนสถานะเดิม และให้เจ้าพนักงานที่ดินนำที่ดินตาม น.ส. 3 ก. ที่เป็นประเด็นปัญหาดังกล่าว มาออกเป็นโฉนดที่ดินให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร

 


          กรณีพิพาทข้างต้นเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่เห็นว่าไม่มีเหตุผล ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน


          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า เมื่อเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาสำหรับการพิจารณาดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดิน กรณีมีการออกโฉนดที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าต้องแล้วเสร็จเมื่อใด “ระยะเวลาอันสมควร” ที่เจ้าพนักงานที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต้องใช้ในการพิจารณาตรวจสอบเรื่องการออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้เสร็จสิ้นและแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงควรมีกำหนดระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับหนังสือของผู้ฟ้องคดี (ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2560) เมื่อพ้นระยะเวลาอันสมควรดังกล่าวแล้ว หากยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา และประสงค์จะฟ้องคดี จะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดดังกล่าว คือ ต้องยื่นฟ้องคดีภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542


          แต่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2560 ตรงกับวันอาทิตย์ และวันที่ 11 ธันวาคม 2560 เป็นวันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ จึงเป็นกรณีที่วันสุดท้ายของระยะเวลา เป็นวันหยุดทำการ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องศาลได้ในวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้น คือ ภายในวันที่ 12 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ ตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองนำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา ตามมาตรา 49 ดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 392/2561)


          คำพิพากษาของศาลในคดีนี้ นอกจากจะเป็นการวางหลักเกี่ยวกับ “กำหนดระยะเวลาตามสมควร” สำหรับการพิจารณาดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว ยังเป็นบรรทัดฐานให้กับหน่วยงานของรัฐอีกหลายแห่ง ในกรณีที่กฎหมายเฉพาะอันเป็นแหล่งที่มาของอำนาจไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้พิจารณาคำขอของประชาชนหรือคู่กรณีในกระบวนการพิจารณาทางปกครองเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร คือ 90 วันเช่นกัน และหากไม่ดำเนินการภายในเวลาดังกล่าว คู่กรณีก็มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองว่าหน่วยงานของรัฐละเลยต่อหน้าที่ โดยฟ้องภายใน 90 วันนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐได้รับคำขอ ครับ !!


          (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ