คอลัมนิสต์

'ฟิชชิ่ง'..ภัยไซเบอร์ลวงดักเอารหัส!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...   สายตรวจระวังภัย   โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 


          ในยุคที่มีความทันสมัยของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนลียีการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ทำให้การเผยแพร่แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนซื้อขายเป็น “ธุรกิจออนไลน์” ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบแอพพลิเคชั่นต่างๆ นับว่าเป็นประโยชน์ สะดวกรวดเร็ว เหมาะกับคนในยุคสมัยนี้ 

 

 

          ทว่าประโยชน์ที่มากล้นของเทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังมีโทษภัยตามมาเหมือนเงาตามตัว เพราะเหล่ามิจฉาชีพก็มีพัฒนาการตามเทคโนโลยี อาศัยช่องทางนี้หากินสร้างความเสียหายเดือดร้อนไปไม่น้อย ที่ผ่านมามีคนตกเป็นเหยื่อจาก “โจรไซเบอร์” ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ อาทิ แฮ็กเฟซบุ๊ก ไลน์ นำข้อมูลไปสร้างเฟซบุ๊กปลอม ไลน์ปลอม เพื่อหลอกยืมเงินเพื่อน การแฮ็กอีเมลเพื่อเอาข้อมูลส่วนตัวไปทำธุรกรรมทางการเงิน ฯลฯ โดยตำรวจมีการจับกุมไปแล้วหลายคดี ที่ยังล่องหนจับไม่ได้ก็อีกเพียบ และที่สำคัญยังมีทั้งหน้าเก่าที่เคยถูกจับหวนกลับมาก่อเหตุซ้ำ สลับกับมี “โจรหน้าใหม่” ที่พร้อมจะสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ทุกคนในสังคมได้ตลอดเวลา


          ล่าสุดที่เพิ่งเป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลงานการจับกุมของตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)  จับกุม นายจักรพงศ์ กระแจะจันทร์ และ น.ส.ปนัดดา จิตรากร โจรไซเบอร์ผัวเมีย เนื่องจากมีผู้เสียหายร้องเรียนว่าถูกคนร้ายแฮ็กเว็บไซต์สาธารณะทั่วไป โดยจะเลือกเว็บไซต์ที่ต้องมีการสมัครสมาชิก เมื่อแฮ็กเว็บไซต์เป้าหมายได้แล้วจะนำเอาข้อมูลของสมาชิกของเว็บไซต์ทดลองเข้าอีเมล พอเข้าได้แล้วก็จะสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเข้าสู่เฟซบุ๊ก รวมถึงการเข้าถึงการทำธุรกรรมธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ ก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก

 



          เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ตำรวจไซเบอร์” ฝากถึงผู้ประกอบการเว็บไซต์ต่างๆ ให้มีการตรวจสอบช่องโหว่ตลอดเวลา ต้องมีการเข้ารหัสพาสเวิร์ดฐานข้อมูลเพื่อป้องกันการโจรกรรมจาก “แฮ็กเกอร์” และพึงตระหนักให้ความสำคัญในความปลอดภัยข้อมูลของลูกค้า ส่วนประชาชนทั่วไปหากต้องการตั้งค่าการทำธุรกรรมทางการเงิน ควรระวังตัวและให้ใช้ otp ทุกครั้ง ซึ่งจะมีข้อความแจ้งเตือน และควรมีการกำหนดวงเงินไม่ให้สูงเกินจำเป็น รวมทั้งการตั้งรหัสผ่านให้ยาก ไม่ควรใช้สิ่งรอบตัวที่เดาได้ง่าย เช่น วันเดือนปีเกิด หรือเบอร์โทรศัพท์ และที่สำคัญห้ามตั้งรหัสผ่านเหมือนกันในทุกเว็บไซต์ โดยไม่ควรเก็บรหัสไว้ในอีเมล สำหรับอีเมลให้ตั้งยืนยันตัว 2 ชั้น รวมทั้งต้องใช้โปรแกรมป้องกันไวรัส “มัลแวร์” ที่ถูกกฎหมาย เพื่อจะได้มีการอัพเดทตลอดเวลา และหากต้องการใช้ “ไวไฟฟรี” ตามที่สาธารณะต่างๆ ให้พึงระวังอาจถูกแฮ็กได้ตลอดเวลาอีกด้วย


          เช่นเดียวกับตำรวจ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ที่ออกมาให้ข้อมูลเตือนประชาชนผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กองปราบปราม” โดยโพสต์จั่วหัว “เตือน ‘Phishing’ ภัยหลอกลวง ดักเอารหัส” ก่อนจะอธิบายว่า “ฟิชชิ่ง (phishing)” คือการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตเพื่อขอข้อมูลที่สำคัญ เช่น รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิต โดยการส่งข้อความผ่านทางอีเมล หรือแมสเซนเจอร์ อาทิ การบอกแก่ผู้รับปลายทางว่าเป็นธนาคารหรือบริษัทที่น่าเชื่อถือ และแจ้งว่ามีสาเหตุทำให้คุณต้องเข้าสู่ระบบ ให้ใส่ข้อมูลที่สำคัญใหม่ โดยเว็บไซต์ที่ลิงก์ไปมักจะมีหน้าตาคล้ายคลึงกับเว็บที่กล่าวถึง (หน้าเว็บไซต์ปลอม) โดย phishing แผลงมาจากคำว่า Fishing แปลว่า การตกปลา ซึ่งมีความหมายถึงการปล่อยให้ปลามากินเหยื่อที่ล่อไว้


          เชื่อว่าหลายคนคงได้รับอีเมลเพื่อกรอกข้อมูลยืนยันและคลิกลิงก์ โดยเฉพาะมีธนาคารที่เราไม่เคยเปิดบัญชีส่งข้อมูลแจ้งเตือนมาให้ทำรายการ อย่าตกใจ หรือกังวล ให้ตั้งสติ และอย่าไปคลิกลิงก์กรอกข้อมูลสำคัญ มิเช่นนั้นท่านอาจตกเป็นปลาตัวใหญ่ที่ติดเหยื่อจากโจรแฮ็กเกอร์รายต่อไป..!!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ