คอลัมนิสต์

แก้รุนแรง-เกลียดชังในโซเชียล?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2562

 

 

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลในเชิงการใช้ความรุนแรงอย่างมากในโลกออนไลน์ว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมากแม้แต่ตัวเองก็ได้รับผลกระทบจากสังคมโซเชียลมีเดียที่ไม่สามารถจะควบคุมได้มากนัก เพราะจะถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นคนทั่วไปที่เสพโซเชียลจึงต้องเลือกวิธีการเสพข่าวผ่านสังคมโซเชียลเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และยอมรับว่าไม่สบายใจทั้งสองทางเนื่องจากทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรงจนเกิดความเกลียดชังโดยไม่ใช่เรื่องของตัวเองทั้งสิ้น ถือเป็นการแบ่งข้างประชาชนออกเป็นสองขั้ว ทำให้มีโอกาสที่จะลุกลามบานปลายในอนาคต จึงฝากทุกคนให้มีภูมิต้านทานที่ดีและอยู่ที่จิตสำนึก แต่สังคมโซเชียลก็ใช่แต่จะมีแต่ด้านลบอย่างเดียวเพราะสิ่งที่เป็นประโยชน์ก็มีอยูมาก อยู่ที่ว่าใช้อย่างสร้างสรรค์แบบใดเท่านั้น

 


          สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมสภากลาโหม ได้สั่งการติดตามข้อมูลอันเป็นเท็จนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในสังคม โดยให้หน่วยงานติดตามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จซึ่งปัจจุบันมีการตัดต่อเชื่อมโยงข้อมูลรวมทั้งมีการยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชัง โดยนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งอาจจะสร้างความเข้าใจผิดนำไปสู่การสร้างความรุนแรงในสังคมเหมือนเช่นในอดีต จึงกำชับให้ทุกหน่วยร่วมกันตรวจสอบและหากพบข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงและสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรก็ให้เร่งทำความเข้าใจกับสังคม รวมทั้งรณรงค์ใช้วิจารณญาณรับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติ ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์ของโซเชียลมีเดียที่ถูกนำมาใช้เป็นช่องทางเครื่องมือโดยมีเป้าหมายทางการเมือง

 


          การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังในออนไลน์เป็นสิ่งที่กระทำได้ไม่ยากเพราะสามารถปกปิดตัวตนของผู้ส่งสารโดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ส่งสาร อีกทั้งไม่ต้องเผชิญหน้ากันเมื่อผนวกกับความเปิดกว้างและรวดเร็วของสื่อออนไลน์ยิ่งทำให้ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดการยุยงปลุกปั่นได้ง่ายและกว้างขึ้น ซึ่งเป้าหมายหลักก็เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคมและขจัดกลุ่มตรงข้ามออกไป โดยใช้วิธีการหลายรูปแบบ เช่น รณรงค์คุกคามใช้ความรุนแรงอย่างเช่นสร้างประเด็น “ดักตบ” หรือยุยงขับไล่ไม่ให้มีที่ยืนในสังคม ชูปมเรื่องปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าทุกฝ่ายต่างใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือการเมืองทั้งนั้น ไม่ใช่มีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสงครามไซเบอร์ที่ชิงไหวชิงพริบหักเหลี่ยมกันชนิดที่พลเมืองไซเบอร์ทั่วไปคิดกันไม่ถึงแน่นอน 

 


          การแก้ปัญหาคงต้องพึ่งพิงการสร้างพลเมืองไซเบอร์ที่มีคุณภาพมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและเคารพต่อกฎหมายตลอดจนสิทธิของบุคคลอื่นและน่าจะเป็นหนึ่งในภารกิจของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบจะต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ออกมาให้เป็นผลรูปธรรมมากกว่าพูดๆ กันในที่ประชุม หรือเป็นแค่นโยบายบนแผ่นกระดาษจนผ่านมาหลายปีแล้วยังไม่เห็นความคืบหน้าเพราะสถานการณ์ในโลกออนไลน์ยังไม่มีท่าทีลดความรุนแรงลง แต่กลับก่อเกิดแรงกระเพื่อมดึงเอาชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาในวังวนปลุกปั่นไปหมดทุกอาชีพทุกเพศทุกวัย และโลกเสมือนจริงนี้จะลุกลามไปสู่โลกแห่งความจริงก็เป็นเรื่องไม่ยากเลยเมื่อถึงภาวะสุกงอมเพียงพอ ดังนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังป้องปรามและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งให้ความรู้ต่อสังคมชี้แจงข้อเท็จจริงสร้างเกราะภูมิคุ้มกันเพื่อยับยั้งความรุนแรงในโซเชียล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ